คสช.ปลดล็อกโครงการคูปองทีวีดิจิตอลของ กสทช. แต่ต้องไปประชาพิจารณ์ก่อน ในประเด็นมูลค่าคูปอง - เงื่อนไขการแลกคูปอง “ฐากร” หวังแจกคูปองได้กลางเดือน ก.ย. พร้อมเปรยคสช.อาจมีคำสั่งให้นำเงินฝั่ง กสท. เข้าแผ่นดินเหมือน กทค. ด้าน “องค์กรผู้บริโภค” ร้อง คสช.เคาะราคาคูปองไม่เกิน 690 บาท
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (20 มิ.ย.) ภายหลังเข้าหารือกับทางคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ข้อสรุปว่าจะเดินหน้าโครงการสนับสนุนช่วยเหลือการเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอลด้วยการแจกคูปองแก่ประชนมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาทต่อไป ภายหลังถูกชะลอโครงการไว้ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่มีเงื่อนไขให้นำโครงการดังกล่าวไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธาราณะ (ประชาพิจารณ์) ก่อนเพื่อให้โครงการมีความโปร่งใส่ และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งในเวลาต่อมาทาง คตร.ได้นำข้อสรุปจากการหารือในครั้งนี้ให้ คสช.พิจารณา และอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยในวันจันทร์ที่ 23 มิ.ย.2557 เวลา 14.00 น.สำนักงาน กสทช.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช.เพื่อหารือ และเตรียมกระบวนการประชาพิจารณ์ต่อไป ซึ่งเบื้องต้นการประชาพิจารณ์ครั้งนี้มีการยกเว้นระเบียบกระบวนการประชาพิจารณ์จากเดิมต้องใช้เวลา 30 วันให้เหลือเพียง 15 วันแทน
“ส่วนตัวอยากให้กระบวนการต่างๆเสร็จสิ้นภายในเดือนก.ค.2557 เพื่อให้สามารถเริ่มกระบวนการแจกคูปองภายในกลางเดือน ก.ย.นี้”
ทั้งนี้ในประเด็นที่จะนำไปประชาพิจารณ์นั้นประกอบด้วยประเด็นมูลค่าคูปองที่บอร์ดคณะกรรมการกิจารกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) อนุมัติที่มูลค่า 1,000 บาท, กระบวนการการแจกคูปอง และเงื่อนไขการแลกซื้ออุปกรณ์ทั้ง 4 วิธี คือ 1. ใช้คูปองเป็นส่วนลดซื้อโทรทัศน์ที่รับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้โดยตรง 2. ใช้คูปองแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (DVB-T2) พร้อมเสาอากาศ 3. ใช้คูปองแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลผ่านดาวเทียม (DVB-S2) และ 4. ใช้คูปองแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลผ่านเคเบิล (DVB-C) รวมไปถึงกรอบวงเงินโครงการมูลค่า 25,000 ล้านบาทด้วย โดยการประชาพิจารณ์จะจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค
“ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่ายังคงมูลค่าคูปองที่ 1,000 บาทเช่นเดิมหรือไม่เนื่องจากภายหลังประชาพิจารณ์แล้วเสร็จ กสทช.จะต้องนำข้อคิดเห็นที่ต่างไปส่งให้ คสช. อีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับเงื่อนไขการนำคูปองไปแลกทั้ง 4 วิธีอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงด้วย”
นอกจากนี้ยังมีประเด็นการสนับสนุนโดยการแจกกล่องรับสัญญาณแทนการแจกคูปองที่มีบางหน่วยงานเสนอมานั้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวล่าสุดอยู่ในการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาว่าสามารถดำเนินในลักษณะดังกล่าวได้หรือไม ซึ่งหากพิจารณาว่าดำเนินการได้ กสทช.ก็จะนำประเด็นดังกล่าวเข้าไปประชาพิจารณ์ด้วย
อย่างไรก็ดี ภายหลังกระบวนการประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยแล้วกสทช.จะรวบรวมข้อมูลข้อเสนอแนะต่างๆที่ได้มานำไปให้ คสช.พิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้มีคำสั่งดำเนินการกระบวนการแจกคูปองต่อไป ซึ่ง กสทช.ยังคงเป็นเจ้าภาพหลักในการแจกคูปองให้กับประชาชนตามทะเบียนรารวม 25 ล้านครัวเรือน โดยจะทยอยแจกตามพื้นที่ที่มีการขยายโครงข่ายแล้ว
ขณะที่ประเด็นภายหลังที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เสนอเรื่องให้ คสช.พิจารณาทบทวนพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับ การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 เพื่อให้นำจากการประมูลในฝั่งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ นำส่งเข้าแผ่นดิน แทนที่จะเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO)
โดยเบื้องต้นทาง กสทช.เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว และได้ส่งเรื่องไปให้ คสช.พิจารณาแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งคาดว่าคสช.อาจจะยกร่างประกาศในประเด็นดังกล่าวในเร็วๆนี้ ซึ่งปัจจุบันทางฝั่งกิจการโทรคมนาคมมีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว
นอกจากนี้ภายในสัปดาห์หน้าทาง กสทช.จะเข้าหารือกับทาง คตร.อีกครั้งในประเด็น 2 โครงการที่ถูก คสช.ออกคำสั่งให้ชะลอเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย 1. โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตที่มีราคาตั้งต้นการประมูลที่ใบอนุญาตละ 11,600 ล้านบาท 2. โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ที่มีราคาตั้งต้นการประมูลที่ 11,260 ล้านบาท และ 8,445 ล้านบาท
***“องค์กรผู้บริโภค” ร้องคสช.เคาะคูปองไม่เกิน 690 บาท
องค์กรผู้บริโภคเสนอให้คสช. กำหนดราคาคูปองไม่เกิน 690 บาท เพื่อป้องกันการหลอกลวงในชุมชน เหตุราคาคูปองสูงเกินไป มีกำไรมาก ทำให้เกิดกลุ่มพ่อค้าหัวใส ดำเนินการเก็บสำเนาบัตรประชาชน และแจกคำขอกล่องดิจิตอล โดยได้นำเสนอผ่านตัวแทนจำหน่ายและผู้นำชุมชนในท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ภายหลังที่ กสท. มีมติกำหนดราคาคูปอง 1,000 บาท และกรรมการกองทุนฯ มีมติตาม กสท. อนุมัติงบประมาณราคาคูปอง 1,000 บาท ใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาท สำหรับแจกแก่ประชาชน 25 ล้านครัวเรือนตามทะเบียนราษฏร์ เพื่อใช้แลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล ทั้งที่ยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาแจกคูปองที่ชัดเจน ปรากฏว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในหลายจังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ พะเยา นครราชสีมา และกรุงเทพฯ
ว่ามีพฤติการณ์มีตัวแทน ทั้งจากของบริษัทและผู้นำชุมชนดำเนินการเก็บบัตรประชาชน เพื่อเป็นหลักฐานในการแจกกล่องและเก็บคูปองจากประชาชน โดยมีบริษัท จำหน่ายกล่องทีวีดิจิตอลอย่างน้อย 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทแฟมิลี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด บริษัท โซกู๊ด โกบอล จำกัด และบริษัท การศึกษาก้าวไกล จำกัด ทั้งที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ถูกร้องเรียนและในหลายพื้นที่ บางบริษัทเพิ่งได้รับจดทะเบียนบริษัทเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และบางจังหวัดยังไม่มีการดำเนินการออกอากาศทีวีดิจิตอลในปัจจุบัน องค์กรผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. ขอให้คสช. กำหนดมูลค่าคูปองไม่เกิน 690 บาท ตามราคาตั้งต้นประมูล เนื่องจากต้นทุนไม่ถึง 500 บาท โดยเห็นได้จากข้อมูลล่าสุดของบริษัทอาร์เอส มีต้นทุนเพียง 475 บาทเท่านั้น ที่สอดคล้องกับการศึกษาขององค์กรผู้บริโภคว่า 512 บาท เป็นราคาที่มีกำไร ทำให้มีผลต่างกำไรเกือบ 100% ปัญหาราคาคูปองที่ไม่ได้สะท้อนต้นทุนราคาที่แท้จริง ทำให้สินค้าในท้องตลาดสูงเกินจริงเป็นภาระแก่ผู้บริโภค และเกิดกำไรจำนวนมหาศาลขึ้น ทำให้ดึงดูดบรรดาพ่อค้าหัวใสทั้งหลายให้เข้ามาแสวงหาประโยชน์ เมื่อ คสช. ชะลอโครงการนี้ ต้องมีการดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส มีมูลค่าคูปองไม่เกิน 690 บาท สมเหตุสมผล เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติที่คาดว่าจะเกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 12,500 ล้านบาท จากการใช้งบประมาณมากกว่า 25,000 ล้านบาท และเป็นเหตุให้ประชาชนที่ไม่ได้รับข้อมูล อาจจะถูกหลอกลวง และหาประโยชน์จากเรื่องนี้ รวมถึงผู้บริโภคต้องมีภาระต้องจ่ายสมทบไม่น้อยกว่า 300 บาท ในการซื้อของแพงในท้องตลาด
2. ขอเรียกให้ กสทช. ในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่รับจดทะเบียนและรับรองมาตรฐานของกล่องทีวีดิจิตอล จัดการขั้นเด็ดขาดไม่ให้มีการดำเนินการ พร้อมเร่งการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายกล่องทีวีดิจิตอลให้แก่ผู้บริโภคทราบ ก่อนที่จะมีการแจกคูปองทีวีดิจิตอลในช่วงปลายเดือนกรกฏาคมนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อกล่องทีวีดิจิตอลจากข่าวที่มีมิจฉาชีพ อาศัยความไม่รู้ของผู้บริโภค ผลิตและจำหน่ายกล่องทีวีดิจิตอลเถื่อนตรา MITRON รุ่น RV-003 ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตผลิต และจำหน่ายกล่องจาก กสทช. ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 อันเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค
3. หยุดเก็บบัตรประชาชนจากผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องไม่ร่วมมือให้สำเนาบัตรประชาชน ซึ่งเหมือนกับการให้บัตรประชาชน เนื่องจากตัวสำเนาบัตรประชาชนที่ได้ไปนั้น สามารถนำไปแอบอ้างเพื่อทำธุรกรรมการเงินบางอย่างได้ เช่น สมัครบัตรเครดิต หรือ นำไปปลอมลายมือชื่อเพื่อใช้ในการทำใบมอบอำนาจปลอมและทำสัญญาซื้อขายสินค้า หรือแอบอ้างเพื่อใช้สิทธิทางการเมืองในอนาคต จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการนำสำเนาบัตรประชาชนไปใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในการใช้เป็นเอกสารหลักฐานประกอบการแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล ซึ่งหากเป็นไปได้ ในขณะนี้ ยังไม่ควรส่งมอบสำเนาบัตรประชาชนให้แก่ผู้ใด จนกว่าจะได้รับคูปองแลกซื้อทีวีดิจิตอล เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อไปขณะนี้ เนื่องจากมีผู้แอบอ้างกับประชาชนว่าเป็นตัวแทนจาก กสทช. มาอำนวยความสะดวกในการจัดหากล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box) ให้ โดยให้ประชาชนถ่ายสำเนาบัตรประชาชนพร้อมรับรองสำเนาให้ทางบริษัทแล้วทางบริษัทจะนำกล่องมาแจกให้เลย โดยที่ประชาชนไม่ต้องนำคูปองจาก กสทช. ไปแลกซื้อกล่องเอง ซึ่งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นว่า การกระทำของผู้ประกอบการในลักษณะเช่นนี้ อาจเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4. ผู้นำชุมชน ควรยุติการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า เนื่องจากกลยุทธ์การตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง ของบริษัทขายกล่องจะติดต่อผ่านทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของบุคคลเหล่านี้เพื่อให้ช่วยในการประชาสัมพันธ์กล่องทีวีดิจิตอลของตนเอง และให้ผู้บริโภคนำสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านมาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในการสั่งจองกล่องทีวีดิจิตอล โดยในใบโฆษณากล่อง ไม่มีการกำหนดราคากล่องไว้เลย อีกทั้งไม่มีการแจ้งข้อมูลถึงที่ไปที่มาแก่ผู้บริโภคให้ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจว่า หากแจ้งสิทธิจองไปแล้วจะต้องนำคูปองไปแลกซื้อกับบริษัทนั้นเท่านั้น ไม่สามารถนำคูปองไปแลกใช้สิทธิเพื่อแลกซื้อกล่องอื่นได้อีก อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดการค้ากับประชาชน นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยอีกว่าการกระทำของบริษัทดังกล่าวจะมีการให้ผลประโยชน์แก่ตัวแทนชุมชนที่ช่วยในการประชาสัมพันธ์กล่องหรือไม่
Company Relate Link :
กสทช.