xs
xsm
sm
md
lg

ราคาคูปองกล่องทีวีดิจิตอล 1,000 บาท ใครได้ประโยชน์ ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โครงการสนับสนุนช่วยเหลือการเปลี่ยนผ่านทีวี จากระบบอนาล็อกสู่ดิจิตอลด้วยการแจกคูปองส่วนลด เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์รับสัญญาณแก่ประชาชน เป็น 1 ใน 4 โครงการของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่คณะรักษาตวามสงบแห่งชาติ(คสช.)มีคำสั่งให้ชะลอไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบรายละเอียดของโครงการให้มีความโปร่งใส

โครงการนี้ใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาท แจกคูปองที่ กสทช.กำหนดมูลค่าไว้ใบละ 1,000 บาท แก่ครัวเรือน 25 ล้านครัวเรือน สำหรับนำไปซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัล หรือเป็นส่วนลดในการซื้อทีวีดิจิตัล ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลและองค์กรภาคประชาชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเห็นว่า คูปองที่ กสทช.จะแจกนั้นใช้เป็นส่วนลดซื้อกล่องทีวีที่สามารถรับโทรทัศน์ดาวเทียมได้ด้วย ซึ่งจะกระทบต่อทีวีดิจิตอล และผิดวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนมารับชมทีวีดิจิตัล

ในขณะที่ภาคประชนคัดค้านว่า กสทช.ตั้งราคาคูปอง 1,000บาท สูงกว่า ราคากล่องทีวีดิจิตอลในท้องตลาดมาก ทำให้รัฐเสียประโยชน์เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตซึ่งมีอยู่เพียง 3 รายเท่านั้น

คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนได้ทำสมุดปกขาวเรื่อง “ราคาคูปอง 1,000 บาท ใครได้ประโยชน์” เพื่อนำเสนอข้อมูลและเหตุผลในการคัดค้านต่อ กสทช. และเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน ดังนี้

ทำไมต้องค้านราคาคูปอง 1,000 บาท

หลายคนเข้าใจผิดว่า องค์กรผู้บริโภคเพี้ยนหรือหรือเปล่า ทำไมต้องค้าน กสทช. ที่เพิ่มมูลค่าคูปองจาก 690 บาท เป็น 1,000 บาท เพราะผู้บริโภคน่าจะเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากมูลค่าคูปองที่เพิ่มขึ้น

ต้องบอกว่า นอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว ผู้บริโภค ยังเสียประโยชน์ และมีภาระต่อกระเป๋าตัวเองจากการขึ้นราคา และมีเหตุผลสำคัญที่ต้องคัดค้านดังนี้

เหตุผลแรก การแจกคูปองครั้งนี้ อาจจะทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 10,000 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนราคากล่องบวกค่าบริหารจัดการรวมกำไรแล้ว ไม่เกิน 512 บาท

เหตุผลที่สอง การเพิ่มมูลค่าคูปองเป็นภาระกับผู้บริโภคมากขึ้น ก่อนที่ กสทช. จะมีมติเคาะราคาคูปองที่ 1,000 บาท ราคากล่องทีวีดิจิตอลในท้องตลาด เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม กำหนดราคาอยู่ที่ 690 บาทเท่านั้น แต่เมื่อมีการลงมติของ กสท. กำหนดราคาคูปองที่ 1,000 บาท ทำให้ราคากล่องทีวีดิจิตอลเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม กำหนดราคาขั้นต่ำที่ 1,290 บาท แต่เมื่อกรรมการกองทุนฯ ลงมติสนับสนุน กสท. การสำรวจเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ราคาต่ำสุดตามมาตรฐานของ กสทช.ปรับเป็น 1,490 บาท ซึ่งกรณีเช่นนี้ คล้ายกับโครงการจำนำข้าว เพราะเมื่อราคาคูปองแพงขึ้น แทนที่ผู้บริโภคจะได้เงินทอน กลับกลายเป็นทำให้ราคากล่องในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้น แถมผู้บริโภคยังต้องรับภาระในการจ่ายเงินเพิ่มเติม

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ราคาคูปองที่ 1,000 บาท ไม่เหมาะสมเพราะทำให้เกิดภาระต่อผู้บริโภค และทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของรัฐไปโดยไม่มีความจำเป็น

คูปองราคา 1,000 บาทใครได้ประโยชน์ ?

หากเรื่องนี้ดำเนินการตรงไปตรงมาไม่มีเงินทอน ไม่มีใต้โต๊ะ ไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้ใคร คูปอง 1,000 บาท น่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างน้อย 3 กลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่ง... คนขายกล่องได้ขายกล่องในราคาที่แพงขึ้นจาก 690 บาท เป็น 1,290-1,490 บาท

กลุ่มที่สอง...บริษัทจำหน่ายทีวีดิจิตอล เพราะสามารถลดราคาทีวีดิจิตอลได้อย่างน้อย 1,000 บาท โดย กสทช.เป็นผู้ออกเงิน

กลุ่มที่สาม...ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวี เพราะสามารถนำคูปองเป็นส่วนลดในการซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี รองรับการดูรายการความละเอียดสูง( HD)และมีการเรียงช่องรายการตั้งแต่หมายเลข 1-36

ช่องแรกเป็นทีวีดิจิทัลและช่องที่ 37 เป็นต้นไปเป็น Pay TV แต่ขณะที่กสทช. มีเป้าหมายทำทีวีดิจิตอล 48 ช่องตามแผนแม่บท

ราคาที่แท้จริงของกล่องควรเป็นเท่าใด

จากการศึกษาพบว่า กล่องแปลงสัญญาณทีวีระบบดิจิตอล รุ่น DVB T2 ตามมาตรฐานที่ กสทช.กำหนด ราคาที่มีกำไ ไม่เกิน 512 บาท โดยมีข้อมูลสนับสนุนดังนี้

1.หลักฐานข้อมูลการจำหน่ายกล่อง จาก เว็บไซต์ www.alibaba.com ซึ่งมีการซื้อขายทั่วโลก พบว่าราคากล่อง รุ่น DVB T2 จะมีราคาตั้งต้นเพียง 10-20 เหรียญสหรัฐ สำหรับการสั่งซื้อจำนวน 1,000 ชิ้นและหากมีการติดต่อซื้อขายโดยบริษัทเอกชน จะได้รับราคาพิเศษมากกว่าการจำหน่ายต่อผู้บริโภค

2. เอกสารเผยแพร่เล่มที่ 2 ของ กสทช. : ข้อพิจารณาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอล ให้ข้อมูลสนับสนุนว่า ราคาขายปลีกของกล่องแปลงสัญญาณ รุ่น DVB-T2 ราคาขายปลีกต่ำสุดอยู่ที่ 23 เหรียญสหรัฐ ตรวจสอบข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2555

3.กสทช.ทราบดีหรือต้องทราบว่า ต้นทุนราคากล่องเป็นเท่าใด เพราะสามารถขอโครงสร้างราคาและต้นทุนที่แท้จริง เห็นได้จากข้อมูลล่าสุดของบางบริษัทที่ถูกเปิดเผยพบว่ามีราคาต้นทุนที่ 475 บาทเท่านั้น

กล่องราคา 512 บาทที่องค์กรผู้บริโภคเสนอ ทำจากสังกะสีหรือไม่

คำถามจากหลายคนที่ไม่เห็นด้วยเรื่องราคากล่องที่องค์กรผู้บริโภคเสนอ มักจะมุ่งไปที่ข้อกล่าวหาว่า กล่องที่องค์กรผู้บริโภคเสนอทำด้วยสังกะสีบ้าง คุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ กสทช.กำหนด หรือเป็นกล่องรุ่นเก่าบ้าง

1.กล่องที่องค์กรผู้บริโภคเสนอ เป็นกล่องที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับคุณภาพและมาตรฐานที่ กสทช.กำหนดทุกประการ

2. บริษัทผู้ผลิตกล่องในประเทศไทยมีเพียง 3 บริษัทเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ทั้งสามบริษัทต่างก็นำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบ หรือนำสินค้ากึ่งสำเร็จรูป หรือนำเข้าสินค้าเข้ามาจัดจำหน่าย

3. บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายกล่องในครั้งนี้ของ กสทช.โดยส่วนใหญ่นำเข้ากล่องจากต่างประเทศ ถึงแม้ ถึงแม้ กสทช. บังคับให้กล่องที่จำหน่ายเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศก็ตาม แต่ กสทช.ทราบดีว่า เป็นสินค้าที่นำเข้าโดยมีเพียงการติดยี่ห้อของตนเอง เพื่อการผลิตและจำหน่ายเท่านั้น

ใช้เงินเกินวงเงิน 15,190 ล้านบาทได้หรือไม่

ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดใน ข้อ 10.2(6) ว่า

เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในส่วนของราคาขั้นต่ำจะนำไปใช้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอย่างทั่วถึง

ดังนั้นกรอบวงเงินที่จะนำมาใช้ในกรณีนี้ คือ 15,190 ล้านบาท เมื่อเทียบกับจำนวนที่อ้างอิงว่าจะต้องแจกจ่าย 22 ล้านครัวเรือนแล้วจึงประมาณการเฉลี่ยได้เท่ากับ 690 บาทต่อครัวเรือน

เงิน 12,500 ล้านบาท สามารถทำอะไรได้บ้าง

สามารถทำโครงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้มากกว่า 13 ปี เพื่อสามารถให้บริการในสถานที่เป้าหมายทั่วประเทศ 30,000 แห่ง อันได้แก่ มหาวิทยาลัยของรัฐ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการ อบต. ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน โรงพยาบาลของรัฐ สถานีตำรวจบางแห่ง ที่ทำการไปรษณีย์ และสถานที่สำคัญ เช่น สถานที่ท่องเทียว สถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน และสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น โดยมีจำนวน Access Point ที่ให้บริการทั้งหมด 150,000 จุด และมีความเร็วในการให้บริการที่ 2 Mbps ต่อ Access Point ซึ่งใช้งบประมาณ 950 ล้านบาทต่อปี

สามารถนำเงินนี้ให้นักศึกษากู้ยืมเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยจำนวนประมาณ 400,000 ราย เป็นระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากปีที่ผ่านมากองทุน กยศ.ได้รับงบประมาณประมาณ 6,700 ล้านบาท โดยสามารถปล่อยให้กู้ยืมได้เพียง 492,529 ราย จากที่มีความต้องการมากถึง 865,200 ราย

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 28

การแจกคูปองในการจัดเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอล ที่ใช้งบประมาณมากถึง 25,000 ล้านบาท ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีการเปิดเผยต้นทุนต่อสาธารณะ และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ

ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่องบประมาณสาธารณะที่มากถึง 12,500 ล้านบาท สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะเข้ามามีบทบาทให้ทุกฝ่ายแสดงราคาต้นทุน ก่อนการดำเนินการเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประเทศได้อย่างไร รวมถึงในอนาคต การพัฒนารูปแบบกลไกในการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่จะมีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากกลุ่มต่างๆ สาธารณะสามารถเข้าถึงข้อมูล และตรวจสอบกระบวนการที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร



กำลังโหลดความคิดเห็น