xs
xsm
sm
md
lg

กทปส.เคาะมูลค่าคูปองทีวีดิจิตอล 1,000 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทปส.เคาะราคาคูปอง 1,000 บาท ตามมติบอร์ดกสท. แต่รอฟังประชาพิจารณ์อีกครั้ง 13 มิ.ย.นี้ ด้าน“ผู้ประกอบการ 24 ช่อง” จี้กองทุนกทปส.รีบแจกคูปองโดยด่วนหลังเดือดร้อนรวมกว่า 2,500 ล้านบาทต่อเดือนหากแจกล่าช้า ส่วน “ผู้บริโภค” ย้ำอีก 512 บาทไม่ใช่กล่องสังกะสี พร้อมเสนอให้แจกกล่องแทนแจกคูปอง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กทปส.วันนี้ (6 มิ.ย.) มีมติเห็นชอบแจกคูปองมูลค่า 1,000 บาทเพื่อสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เสนอมาในราคา 1,000 บาทก่อนหน้านี้ และให้นำมติดังกล่าวเข้าบอร์ดกสทช.ต่อไปเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้การพิจารณาดังกล่าวนั้นคณะกรรมการศึกษาราคากลางที่บอร์ดกองทุนฯตั้งขึ้นมาได้พิจารณาอย่างรอบครอบแล้ว เห็นว่ามูลค่าของคูปอง 1,000 บาทเป็นราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว เนื่องจากราคาตามต่างประเทศที่กสท.เสนอมาในราคา 10-15 เหรียญสหรัฐนั้นสอดคล้องกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนที่มีการนำตัวเลขราคากล่องที่ขายในต่างประเทศในช่วงราคา 10-20 เหรียญเช่นเดียวกัน แต่ราคาทั้งหมดไม่ได้รวมค่าขนส่ง ค่าประกัน และค่าภาษีนำเข้า เป็นต้น ดังนั้นราคาต้นทุนจริงๆต่อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลจะมีมูลค่าอยู่ที่ 683.07 บาท แต่หากรวมกับกำไร และอื่นๆแล้วจะมีราคาสุดท้ายที่ 1,019.51 บาท ซึ่งจะสอดคล้องกับราคาคูปองที่กสท.เสนอมาในตอนแรก

“สรุปแล้วกทปส.จะใช้เงินในการแจกคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลในครั้งนี้จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท จากการแจกคูปอง 25 ล้านครัวเรือน”

ส่วนในประเด็นข้อกฎหมายที่องค์กรอิสระแสดงความคิดเห็นว่าการสนับสนุนด้วยวิธีการแจกคูปองดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นบอร์ดกทปส. และคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฏหมายกสทช.พิจารณาว่าไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดเนื่องจากปัจจุบันรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกออกไปแล้วตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้นจึงไม่มีผล

ขณะที่เรื่องที่จะต้องนำเอาเรื่องคูปองไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) หรือไม่นั้นคณะกองทุนฯมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในอำนาจของกองทุนกทปส. จึงจะส่งเรื่องดังกล่าวไปให้คณะกรรมการด้านกฏหมายของกสทช.พิจารณาอีกครั้งว่าจะต้องเปิดประชาพิจารณ์หรือไม่ ภายหลังคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงเห็นด้วยในการนำไปประชาพิจารณ์จึงจำเป็นต้องนำมติดังกล่างเข้าที่ประชุมบอร์ดกสทช.อีกครั้งเพื่อให้พิจารณาเป็นครั้งสุดท้ายว่าต้องนำเรื่องคูปองไปประชาพิจารณ์หรือไม่ โดยเบื้องต้นบอร์ดกสทช.จะมีการประชุมนัดพิเศษในเรื่องดังกล่าวในวันที่ 13 มิ.ย.2557 ต่อไป

“หากไม่ต้องนำเรื่องดังกล่าวไปประชาพิจารณ์ก็จะสามารถแจกคูปองได้ปลายเดือนก.ค.นี้ แต่หากต้องนำไปประชาพิจารณ์ต้องใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ในการดำเนินการซึ่งจะส่งผลทำให้กรอบระยะเวลาล่าช้าออกไปแน่นอน”

ส่วนในประเด็นเงื่อนไขการนำคูปองไปใช้นั้น ก่อนหน้านี้บอร์ด กทปส. ได้มีมติเห็นชอบใน 4 แนวทางตามที่บอร์ด กสท.เสนอมาเช่นเดียวกัน คือ 1.ใช้คูปองเป็นส่วนลดซื้อโทรทัศน์ที่รับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้โดยตรง 2.ใช้คูปองแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (DVB-T2) พร้อมเสาอากาศ 3.ใช้คูปองแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลผ่านดาวเทียม (DVB-S2) และ 4.ใช้คูปองแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลผ่านเคเบิล (DVB-C)

ที่ประชุมยังมีมติให้ยกเลิกการ MOU กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) โครงการไอซีทีฟรี Wi-Fi ที่มี มูลค่า 950 ล้านบาท ซึ่งมีการเซ็นต์สัญญาไปเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2557 โดยในสัญญาจะต้องเปืดให้บริการ 1.5 แสนจุดทั่วประเทศไทย โดยเฟสแรกจะต้องทำ 1.5 หมื่นจุดซึ่งไอซีทีไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จึงถือว่าผิดเงื่อนไข MOU โดยกระทรวงไอซีทีสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน

นอกจากนี้ในวันเดียวกันยังได้มีตัวแทนจากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจำนวน 24 ช่องรายการเข้ายื่นหนังสือเรื่องข้อเสนอแนวทางสนับสนุนประชาชนในการรับบริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลเพื่อขอให้เร่งรัดในการแจกคูปองโดยเร็ว รวมไปถึงคณะกรรมการองค์กรการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนได้เข้ามาชี้แจงถึงรายละเอียดราคากล่องที่ไปสำรวจมาด้วย

***“เขมทัตต์”ชี้แจกคูปองล่าช้าเสียหาย 2,500 ล้านบาท

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทบางกอกมีเดีย แอนด์บรอดคาสติ้งจำกัด หรือ BMB ในฐานะผู้บริหารช่องสถานีโทรทัศน์ PPTV กล่าวว่า หากกองทุนฯกทปส. และกสท.ไม่สามารถแจกคูปองได้ทันภายในเดือนก.ค.-ส.ค. 2557 จะส่งผลทำให้ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลจำนวน 24 ช่องเสียหายทั้งหมดแบ่งเป็นช่องทั่วไปความคมชัดสูง (HD) จะสร้างความเสียหายราว 1,000 ล้านบาทต่อเดือน, ช่องทั่วไปความคมชัดปกติ (SD) เสียหาย 700 ล้านบาท, ช่องข่าวสารสาระ เสียหาย 500 ล้านบาท และช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว เสียหายมูลค่า 300 ล้านบาท

ขณะเดียวกันหากกองทุนฯ ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ทางช่อง PPTV และอีก 23 ช่องทีวีดิจิตอลอาจจะมีกระบวนการขั้นตอนต่อไปในการดำเนินการอย่างแน่นอน

ด้าน นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล กล่าวว่าการที่ตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ราย และสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์เข้ายื่นหนังสือต่อกทปส.ในวันนี้ก็เพื่อต้องการให้กสทช. และกทปส.มีความชัดเจนเรื่องกล่องโดยเร็ว

เพราะหากการแจกคูปองล่าช้าออกไปอีกผู้ประกอบการทั้ง 24 ช่องก็จะอยู่รอดไม่ได้ โดยหากบอร์ดกทปส. ไม่เคาะราคา และกรอบเวลาการแจกวันนี้ การที่กสทช.กำหนดระยะเดิมที่จะแจกกล่องช่วงแรก 11.4 ล้านครัวเรือนภายในสิ้นเดือนธ.ค. 2557 นี้ก็จะล่าช้าออกไปอย่างแน่นอน

***"สมาพันธ์ฯ" จี้กสท.แจกคูปองโดยด่วน

นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า การยื่นหนังสือต่อกทปส.ในวันนี้เพื่อต้องการเร่งรัดให้กสทช. และกทปส.สรุปเรื่องราคาคูปองโดยด่วน และกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการแจกคูปอง รวมไปถึงการติดตามไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโครงข่ายทีวีดิจิตอล (MUX) ทั้ง 4 รายได้แก่ กองทัพบก (สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ให้เร่งดำเนินการขยายโครงข่ายตามกำหนดระยะเวลาเดิมที่กสทช.กำหนดไว้คือในปีแรกจะต้องครอบคลุม 11 ล้านครัวเรือนหรือครอบคลุม 50% ของครัวเรือนทั้งประเทศภายใน 1 ปี และครอบคลุม 80% ภายใน 2 ปี และจำนวน 90% ภายใน 3 ปี และครอบคลุม 95% ภายใน 4 ปี นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต

เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้ง 24 รายมีความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีความชัดเจนเรื่องการแจกคูปอง โครงข่ายที่ให้บริการก็ยังไม่ครอบคลุมตามที่กสทช.กำหนดไว้ ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องเสียค่าต้นทุนทุกๆวัน โฆษณาก็ลดลง หรือบางรายก็มีน้อยมาก

“ส่วนกรณีที่อาจจะนำเรื่องการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้วยวิธีคูปองไปรับฟังประชาพิจารณ์นั้นเราไม่เห็นด้วย แต่เราต้องการให้กสทช.เร่งดำเนินการแจกคูปองให้ได้ภายในเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ โดยเราเห็นด้วยกับราคาที่ 1,000-1,200 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสม เนื่องจากหากราคาต่ำกว่านี้อาจจะได้กล่องที่มีคุณภาพต่ำก็เป็นได้”

***"สารี" ยืนกราน 512 บาทไม่ใช่กล่องสังกะสี

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในฐานะ คณะกรรมการองค์กรการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ว่าภายหลังเข้าชี้แจงบอร์ดกองทุนกทปส.ว่า ราคาคูปองที่กสทช. และกทปส.คาดว่าจะแจกมูลค่า 1,000 บาทเพื่อให้ประชาชนในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลนั้นมีมูลค่าราคาที่สูงเกินจริงเนื่องจากราคาที่เราไปสำรวจในตลาดมามีราคาเพียง 512 บาทเท่านั้น

โดยราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ซื้อกล่องรับสัญญาทีวีดิจิตอลเพียง 1,000 กล่องเท่านั้น ดังนั้นหากกสทช.ซื้อกล่องจำนวน 22 ล้านกล่องตามจำนวนประชากรในทะเบียนราษฏรที่กสทช.วางแผนไว้ก็จะยิ่งทำให้ราคาถูกกว่า 512 บาทแน่นอน และแถมมีการรับประกันถึง 5 ปีมากกว่าที่กสทช.กำหนดเพียง 3 ปีเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถดูช่องรายการความละเอียดสูง (HD) ได้ด้วยดังนั้นจึงไม่ใช่กล่องสังกะสีอย่างที่ใครๆพูด แต่การที่กสทช.ยังดึงดันเดินหน้าราคา 1,000 บาทนั้นถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการที่ผลิตกล่องมากกว่า ที่สำคัญคือรัฐไม่ต้องเสียเงินอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้คณะกรรมการฯยังเสนอให้กสทช.จัดให้มีการประมูลกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลเพื่อให้กสทช.มีอำนาจต่อรองที่จะได้ของมีคุณภาพ และราคาเหมาะสมถูกกว่าราคาในท้องตลาด และสามารถเลือกผู้ประกอบการที่เสนอราคาที่ถูกที่สุด และมีคุณภาพในราคาไม่ถึง 1,000 บาท

อย่างไรก็ดีคณะกรรมการฯไม่ได้มาค้านให้มูลค่าคูปองถูกลง แต่กลัวว่าประชาชนเดือดร้อนมากว่าในการต้องเสียเงินเพิ่มในการซื้ออุปกรณ์ เนื่องจากราคาขายกล่องตามเว็บไซต์ และท้องตลาดขายเพียง 512 บาทเท่านั้นคุณภาพ และการรับประกันก็เทียบเท่ากันกับที่กสทช.ไปสำรวจมา

“จุดยืนเราคือไม่ต้องการให้กสทช.สนับสนุนประชาชนด้วยการแจกคูปอง เพราะประชาชนบางครอบครัวอาจจะยังไม่อยากเปลี่ยนทีวีใหม่ และไม่อยากวุ่นวายในการนำคูปองไปแลกซื้อ แต่อยากให้กสทช.แจกเป็นกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลไปเลยทีเดียว”

Company Relate Link :
กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น