ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ขณะที่การเมืองกำลังตึงเครียด สังคมกำลังเฝ้าจับตามองว่าสถานการณ์ของประเทศจะดำเนินไปในทิศทางใด จะจบในรูปแบบไหนและเมื่อไหร่ ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า ได้เกิดความฉาวโฉ่ขึ้นที่ “บมจ.อสมท” เมื่อปรากฏข่าว ความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างโครงข่ายทีวีดิจิตอล กระทั่ง คน อสมท ทนไม่ไหวและรวมตัวกันประท้วง
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท พนักงานฝ่ายเทคนิคและวิศวกรต่างจังหวัดได้รวมตัวกันประท้วงฝ่ายบริหารและคณะกรรมการที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผู้ให้บริการติดตั้งและวางโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เนื่องจากเห็นว่าเป็นการอนุมัติที่มีเงื่อนงำและมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้
แหล่งข่าวใน อสมท ให้ข้อมูลต่อสาธารณชนว่า โครงการนี้ อสมท กำหนดราคากลางของอุปกรณ์ไว้ 396 ล้านบาท ราคากลางสิ่งอำนวยความสะดวก 44 ล้านบาท หลังจากนั้น อสมท ได้เชิญภาคเอกชน 8 รายยื่นประมูลและทดลองออกอากาศ ซึ่งสุดท้ายปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด 5 รายด้วยกัน
สำหรับภาคเอกชนที่เข้าร่วมประมูลทั้ง 5 รายประกอบด้วย
1.บริษัท สามารถ เทเลคอม จำกัด (มหาชน)
2.บริษัท เทคทีวี จำกัด
3.บริษัท ยูซีไอ จำกัด
4.บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)
และ 5.บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ช คอร์ปอเรชั่น จำกัด
อย่างไรก็ตาม หลังการพิจารณาคุณสมบัติมีเพียง 4 บริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วน โดยบริษัทที่ไม่ผ่านการพิจารณาคือบริษัท ยูซีไอ
ต่อมา เมื่อคณะกรรมการได้ตรวจสอบคุณสมบัติทางเทคนิค ปรากฏว่ามีการเสนอข้อมูลเพื่อจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องตามกำหนดของ อสมท เพียง 1 รายโดยได้คะแนน 89.25 คะแนน ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกที่ตั้งไว้ 75 คะแนน และมีการต่อรองราคาเหลือ 375 ล้านบาท รวมทั้งการจัดซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกระจายเสียง 43.99 ล้านบาท จากราคากลาง 44 ล้านบาท แต่คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง 2 ใน 5 คน ไม่ยอมลงนามผลการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะเห็นว่ามีฝ่ายการเมืองแทรกแซงอย่างหนัก
เหตุที่ฝ่ายการเมืองแทรกแซงก็เพราะบริษัทนี้มี “ลูกชาย” และ “ลูกสาว” รวมถึง “น้องสาว” และ “น้องเขย” ของนักโทษชายหนีคดีอาญาแผ่นดินเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
ขณะที่ฝ่ายบริหาร บมจ.อสมท ยังมีปัญหา เพราะนายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ลาพักร้อนยาวหลายวัน ภายใต้กระแสข่าวการยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง มีผลวันที่ 12 มิ.ย.57 และขณะเดียวกันมีกระแสว่า อาจเปลี่ยนใจกลับมาดำรงตำแหน่งจนครบวาระ ซึ่งนายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการอิสระ คนในกลุ่มของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ยังหวังได้เข้ามารักษาการยาวไปถึงการสมัครสรรหาผู้อำนวยการใหญ่
ด้านนายสุธรรม แสงประทุม ประธานกรรมการ บมจ.อสมท ชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า บอร์ดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว แต่ได้ยินกระแสข่าวในเรื่องนี้บ้างว่าเกี่ยวพันกับบริษัทของลูกนักการเมือง ทางฝ่ายบริหารมีหน้าที่ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวให้ปรากฏ
ทั้งนี้ อสมท ต้องเร่งจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งอุปกรณ์โครงการทีวีดิจิตอล เพราะไทยรัฐทีวี สปริงนิวส์และวอยซ์ทีวีติดต่อขอเช่าโครงข่ายแล้ว หากชักช้าจะทำให้ อสมท สูญเสียรายได้
แปลไทยไทยคือนายสุธรมปฏิเสธว่า บอร์ด อสมท ที่มีเขานั่งเป็นประธานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ พร้อมทั้งโยนให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้ชี้แจง แต่ก็ไม่วายตอกย้ำว่า จะทำอะไรก็รีบทำให้เร็ว เพราะมีคนรอ ขอเช่าโครงข่ายแล้ว
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจาก กสทช.ได้ทำหนังสือให้กรมประชาสัมพันธ์ และ บมจ.อสมท ชี้แจงเหตุผลความล่าช้าที่ยังจัดซื้อจัดจ้างโครงข่ายไม่แล้วเสร็จ เพราะผู้ให้บริการโครงการข่ายทั้ง 2 รายต้องเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ เตรียมเสนอบอร์ด กสทช.พิจาณาหาทางออกให้กับทั้ง 2 ราย เพื่อสามารถให้บริการโครงข่ายได้ตามกำหนด เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ จึงมีความล่าช้าในการลงนามอนุมัติ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของทีวีดิจิตัลไม่ได้มีเพียงแค่การวางโครงข่ายที่ยังไม่แล้วเสร็จแล้ว ยังมีอีกสารพัดปัญหาเกิดขึ้น ดังเช่นที่ นายสิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านทีวีดิจิตอล กล่าวในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แนวทางรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิตอลว่า ขณะนี้น่าเป็นห่วงว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลกำลังเกิดปัญหา หากมีผู้บริโภคหรือหน่วยงานใดยื่นฟ้องร้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากระบบอะนาล็อกไปสู่ดิจิตอล ที่ไม่มีความชัดเจนและไม่มีกฎหมายใดๆ มารองรับ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ กสท.ไม่เคยกำหนดแผนอย่างชัดเจน และไม่เคยเปิดรับฟังความเห็นของสาธารณะเลย ซึ่งทำให้การเปลี่ยนผ่านเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องราคากล่องแปลงสัญญาณที่ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะ กสท.ไม่รับฟังข้อมูลจากหน่วยงานกลาง อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น
“ทางแก้ปัญหาในขณะนี้ คือ กสท.ต้องงดเอาอารมณ์เป็นใหญ่ แล้วรับฟังข้อมูลการวิจัยรอบด้าน รวมทั้งเปิดให้หน่วยงานกลางเข้ามากำหนดกรอบราคาเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้นทีวีดิจิตอลจะล้มทั้งระบบ”
นายสิขเรศกล่าวต่อว่า การเปลี่ยนผ่านของประเทศอื่น อาทิ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ ดำเนินการในรูปแบบการออกเป็นกฎหมายที่ชัดเจน รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ สำหรับการแจกคูปอง ขณะที่ประเทศไทยเป็นการดำเนินงานผ่านหน่วยงานเดียวภายใต้ประกาศ ซึ่งหากมีผู้ใดฟ้องร้องในเรื่องนี้ก็สามารถทำได้
ด้านนายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน กล่าวว่า การยืดเวลาแจกคูปองสนับสนุนการรับชมทีวีดิจิตอลออกไป จะมีปัญหาหลายเรื่อง อาทิ รายได้ของแต่ละช่อง ซึ่งจะเป็นปัญหาในระยะยาวที่ตามมา อย่างไรก็ตาม ทางชมรมผู้ประกอบการฯ ขอเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านและวิธีการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ เพื่อให้ผู้บริโภครับชมได้มากขึ้นและทั่วถึง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะส่งผลกระทบโดยตรงกับกระบวนการโฆษณา นักธุรกิจ รวมทั้งการเร่งรัดโครงข่ายด้วย
และทั้งหมดนั้นคือเรื่องวุ่นๆ ของทีวีดิจิตอล ซึ่งเชื่อว่าจะปรากฏ “ฝีแตก” ออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ เพราะต้องไม่ลืมว่า นี่คือเค้กก้อนมหึมาที่บรรดา “เสือโหย” จ้องหาช่องกันอย่างปากมันในทุกรูปแบบเลยทีเดียว