xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนหนุน “คสช.” เร่งเครื่องประกาศแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 15 ต.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานส.อ.ท.
“ส.อ.ท.” หนุน “คสช.” เร่งแผนแม่บทฯ น้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง น้ำท่วม และการแก้ไขน้ำเสียทั้งระบบอย่างยั่งยืน ย้ำแผนนี้ต้องมีแนะให้เน้นดูแลคอร์รัปชันป้องกันการถูกต่อต้านซ้ำรอยเมกะโปรเจกต์น้ำ 3.5 แสนล้าน ก.ทรัพย์ฯ แย้มแผนคืบหน้า 30 ก.ค.กรอบเบื้องต้นเสร็จก่อนทำภาพใหญ่เพื่อประกาศแผนให้ประชาชนรับทราบได้ทัน 15 ต.ค.นี้แน่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานเสวนาหัวข้อ “ทรัพยากรน้ำกับความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม” ซึ่งจัดโดยสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ว่า ส.อ.ท.สนับสนุนแนวทางการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ ที่ขณะนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังอยู่ระหว่างบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำอยู่ โดยภาคเอกชนต้องการเห็นแผนที่เป็นการแก้ไขปัญหาทั้งระบบที่เป็นระยะยาว และเพื่อให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมควรต้องให้มีกระบวนการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันปัญหาการคอร์รัปชัน

“โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของเดิมที่ถูกต่อต้านเพราะความไม่ไว้วางใจต่อปัญหาการคอร์รัปชัน แต่การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบมีความจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างถาวรที่ต้องดูแลทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม การแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง และป้องกันน้ำท่วม ดังนั้นต้องไม่ให้ปัญหานี้เกิดซ้ำอีก” นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ คสช.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาและบริหารจัดการน้ำของประเทศที่จะเป็นแผนระยะยาว 10 ปี แบ่งเป็นระยะสั้น 1-2 ปี ระยะกลาง 3-5 และระยะยาว 10 ปีซึ่งล่าสุดได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเร่งการทำงาน 5 คณะ ได้แก่ คณะอนุฯ ชุดที่ 1ดูแลแผนการบริหารจัดการน้ำภาคเหนือ กลาง และตะวันตก ชุดที่ 2 ดูแลด้านภาคอีสานและใต้ ชุดที่ 3 ดูแลเรื่องระบบข้อมูล ชุดที่ 4 ดูแลโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการน้ำ และชุดที่ 5 ด้านการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ซึ่งภายใน 30 ก.ค.นี้ทั้ง 5 คณะจะเสนอกรอบการทำงานทั้งหมดเพื่อให้คณะทำงานชุดใหญ่พิจารณา และหลังจากนั้นจึงจัดทำแผนรวมก่อนที่จะประกาศแผนให้ประชาชนรับทราบเป็นการบูรณาการทุกฝ่ายในวันที่ 15 ต.ค. 57 นี้

“แผนบริหารน้ำ 3.5 แสนล้านบาทเดิมนั้น คสช.ได้ยกเลิกไปแล้ว และแผนนี้ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาและต้องเร่งด่วนไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด แต่แผนใหม่จะวางทั้งประเทศซึ่งจากการประมาณการเดิมที่เคยศึกษาไว้จะใช้เงินลงทุนจัดการทั้งระบบ 4 ล้านล้านบาท ซึ่งแผนใหม่จะเป็นตัวเลขเท่าใดก็ต้องมาดู แต่แผนใหม่ไม่เพียงคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ป้องกันน้ำท่วมเท่านั้น แต่จะเพิ่มการดูแลน้ำเสียเข้าไปด้วย” นายสุพจน์กล่าว

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการระยะเร่งด่วนก็อาจจะนำโครงการเดิมที่มีความเป็นไปได้และในที่สุดก็จะต้องดำเนินการมาเร่งทำ ซึ่งในปี 2557 ยังมีงบประมาณเดิมเหลืออยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เช่น กรณีของการสร้างเขื่อนภาคเหนือ เช่น จ.ลำพูน จ.เพชรบูรณ์มาดำเนินการได้ เพราะจากแผนเดิม 18 เขื่อนภาคเหนือขณะนี้มีการผ่านการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แล้ว 4 แห่ง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น