รมว.ยธ. ปฏิบัติหน้าที่วันแรก ชี้ กระทรวงยุติธรรมต้องเดินหน้ากฎหมายยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เร่งแก้ไขกฎหมายในกระทรวงทั้ง 13 หน่วยงาน เพื่อเร่งรัดแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
วันนี้ (15 ก.ย.) เวลา 13.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นวันแรก โดยเมื่อมาถึงได้เดินทางไปยังห้องทำงาน และทักทายข้าราชการ พนักงานในสำนักปลัดกระทรวงยุติธรรม หลังจากนั้น เดินทางไปที่ห้องประชุมชั้น8 เพื่อเป็นประธานในการประชุม พร้อมรับฟังปัญหาต่างๆ และมอบนโยบายแก่หน่วยงานทั้ง 13 หน่วยในกระทรวงยุติธรรม โดยมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวรายงานและให้การตอนรับ
พล.อ.ไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์หลังพักการประชุมว่า สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการดูว่าในระยะเวลา 3 เดือนจากนี้กระทรวงยุติธรรมจะทำอย่างไร โดยเน้นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ เช่น เรื่องสิทธิ ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมควรนำเรื่องการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ของประชาชน มาเชื่อมโยงกับกองทุนยุติธรรม เช่น การช่วยเหลือประชาชนเรื่องค่าทนายความ ศาล ไกล่เกลี่ย ฯลฯ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่มีฐานะยากจน หรือขาดโอกาส ทั้งนี้ อาจจะพิจารณากองทุนยุติธรรมว่าจะปรับเป็นพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมได้หรือไม่ นอกจากนี้จะประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และศูนย์ดำรงธรรม ให้ช่วยแจ้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนด้วย
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการปราบปรามยาเสพติดนั้นต้องมีการพูดคุยกับทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เนื่องจากต้องบูรณาการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจนทั้งภายในและภายนอก เดิมทีกำหนดว่าภายในวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา การปราบปรามยาเสพติดต้องลดลง แต่ขณะนี้ยังพบว่ายังไม่เรียบร้อยและชัดเจนดังนั้นต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และการป้องกันปัญหายาเสพติด
นอกจากนี้ พล.อ.ไพบูลย์ ยังกล่าวถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอีกว่า ภายหลังจากที่ คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 69/2557 ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐปรากฏว่าในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้การดำเนินงานมีความคืบหน้ากว่า 68 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ยอมรับ ป.ป.ท. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่กลับมีอำนาจน้อยมาก โดยอำนาจส่วนใหญ่จะเป็นขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะสำนักคณะงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่วนบางคดีที่ล่าช้าเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปเร่งรัดได้เพราะเป็นองค์กรอิสระ
รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำทั้ง 143 แห่ง จะต้องมีการควบคุมอย่างเป็นระบบเพื่อให้นักโทษกลับคืนสู่สังคมได้อย่างดี พร้อมฝึกฝนนักโทษคล้ายโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง ส่วนกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก ต้องดูแลการฝึกอบรมอาชีพให้กับนักโทษ สำหรับกรมคุมประพฤติ ต้องดูแลเรื่องการบำบัดรักษานักโทษที่ติดยาเสพติดในลักษณะการบังคับ
“ส่วนการแก้ไขกฎหมายในกระทรวงยุติธรรมทั้งหมด 13 หน่วยงานให้รวบรวมปรับปรุงแก้กฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญาหลายฉบับที่ล้าสมัย เพื่อเร่งรัดแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงต้องเขียนแผนกฎหมายเดิมเพื่อเสนอแก้ไข ก่อนจะปรับปรุงใหม่ใน 2-3 เดือนข้างหน้า โดยเน้นการคุ้มครองสิทธิและลดความเหลื่อมล้ำของผู้ด้อยโอกาสในสังคม” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา ดีเอสไอมีบทบาทค่อนข้างมาก ขณะนี้ต้องมีการปรับอะไรบ้าง พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ดีเอสไอต้องดูนิยามคำว่า “คดีพิเศษ” ว่าเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปตีความเข้าข้างคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องยึดหลักการให้ได้ เพื่อไม่ให้ใครต้องเคลือบแคลงใจซึ่งต้องมีหลักการตามนั้น เพราะถ้าไม่มีหลักก็จะเสียหลักการของดีเอสไอ และคดีที่เข้ามาถูกต้องหรือไม่ หากถูกก็สามารถทำได้ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งดีเอสไออยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่เคยสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ส่วนจะประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษเมื่อไหร่นั้นยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากยังไม่ได้ดูรายละเอียด
เมื่อถามว่าการดำเนินกับผู้ต้องหาชายชุดดำนั้นดีเอสไอจะดำเนินการอย่างไร พล.อ.ไพบูลย์ ระบุว่า ตนยังไม่ได้ตามเรื่องนี้และยังไม่ได้ถามดีเอสไอด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร ขอให้ไปถามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศการประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมนั้น พล.อ.ไพบูลย์ ได้ให้หน่วยงานแต่ละส่วนราชการ 13 ส่วน นำเสนองานเร่งด่วนในระยะสั้น 3 เดือน โดยไม่จำกัดเวลา แต่หากส่วนราชการไหนอธิบายรายละเอียดไม่ชัดเจน พล.อ.ไพบูลย์ สั่งให้เรียบเรียงให้กระชับ ไวขึ้น และให้เนื้อหามีความเข้มข้น รวมถึงนโยบายที่แต่ละส่วนราชการเสนอมาต้องทำได้จริง ซึ่งทุกครั้งที่ส่วนราชการอ่านนโยบายให้ พล.อ.ไพบูลย์ ฟังจะถามกลับว่าสามารถทำได้หรือไม่ ทำให้บรรยากาศในที่ประชุมค่อนข้างตรึงเครียด เนื่องจาก พล.อ.ไพบูลย์ ได้ซักถามหน่วยราชการอย่างละเอียด