xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วัดใจ“คสช.”! 2พันล้าน“สสส. -ไทยพีบีเอส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หากจำกันได้ การจัดสรรเงินก้อนใหญ่ให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร ปี 2549 ที่รัฐบาลสมัยนั้น เห็นชอบให้นำรายได้มาจากการจัดเก็บ “ภาษีบาป” หรือภาษีจาก สุราและยาสูบของกรมสรรพดจากการสามิต อัตรา 2% ของรายได้จากการจัดเก็บ “ภาษีบาป”ทั้งหมด มาจัดสรรให้ทั้ง 2 องค์กร ก็ราว ๆ 2 พันล้านบาท ต่อปี

ไทยพีบีเอส เกิดขึ้นจากการยึดคืนสถานีโทรทัศน์ไอทีวี กลับคืน สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.)ด้วยข้อหาไม่จ่ายค่าสัมปทาน ส่วน สสส.เกิดพร้อมกับ หลายหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานอิสระ

ตลอด 7 ปีที่บริหารงานมาด้วยเงินภาษีดังกล่าว ทั้ง 2 องค์กร ถูกค่อนแคะ กล่าวหาว่า เป็นองค์กรของเอ็นจีโอ เอาเอ็นจีโอมาบริหารงาน สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายการเมือง และชนชั้นกลาง ที่บริโภคสื่อหลักบางส่วน

แต่ตามกฎหมายของทั้ง 2 องค์กรแล้วก็เพื่อสร้างโอกาสใหกับประชาชนฐานรากอย่างแท้จริง แต่ก็มีบ้างที่ถูกขุดคุ้ยการใช้เงิน ที่ไม่ได้มาโดยงบประมาณปกติ เหมือนกับองค์กรในหน่วยงานรัฐอื่นๆ

อย่างเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้ง 2 องค์กรถูกโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องการใช้งบประมาณ โดยถูกกล่าวหาจากฝ่ายการเมืองว่า เป็นองค์กรเลือกข้าง มีเอ็นจีโอฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเข้าไปฝังตัว

โดยเฉพาะเมื่อปี 2555 “รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง”ที่กำกับ “ภาษีสุราและยาสูบ” สมัยนั้น ถึงกลับสั่งการ ให้วางกรอบกำหนดเพดานรายได้สูงสุดของ”กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” โดยอ้างว่า ภายหลังการรณรงค์ลด ละ เลิกยาเสพติดของ สสส.ไม่ประสบความสำเร็จและมีการใช้จ่ายเงินไม่คุ้มค่าเม็ดเงินภาษี ซึ่ง สสส.มีรายได้มาจากการจัดเก็บภาษีบาปคือ สุราและยาสูบของกรมสรรพสามิตอัตรา 2% ของรายได้จากการจัดเก็บภาษีบาปทั้งหมด

ประกอบกับการที่ ครม.ช่วงนั้นมีมติขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบเมื่อ 21 ส.ค.2555 จะทำให้รายได้ของ สสส.เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลัง อ้างว่า เป็นห่วงว่า “หากไม่กำหนดเพดานรายได้สูงสุดจะทำให้ สสส.มีเงินสดในมือมาก จนใช้จ่ายเงินอย่างไม่รู้คุณค่าแทนที่เงินเหล่านี้จะนำส่งเข้าคลังเพื่อเป็นเงินงบประมาณ

จากตัวเลขของ “กรมสรรพสามิต” ที่จัดเก็บภาษีจากสินค้าบาปได้เพิ่มขึ้นทุกปี

โดยปี 2553 จัดเก็บรายได้จากยาสูบ 53,381 ล้านบาท ปี 2554 จัดเก็บได้ 57,197 ล้านบาท และปีงบฯ 2555 แค่ 10 เดือน (ต.ค.54-ก.ค.55) เก็บได้ 50,341 ล้านบาท

ขณะที่สุราก็จัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2553 เก็บได้ 42,398 ล้านบาท ปี 2554 เก็บได้ 48,624 ล้านบาท และ 10 เดือนปีงบฯ 2555 เก็บได้ 44,691 ล้านบาท

ซึ่งอัตราภาษีใหม่ ได้ทำให้สรรพสามิตมีรายได้ภาษีบาปเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 12,500 ล้านบาท ขณะที่กรมสรรพสามิตต้องนำรายได้จากภาษีบาปให้ สสส.เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ปี 54 ส่งรายได้ให้ สสส. 3,400 ล้านบาท รวมเงินที่ส่งให้ สสส.กว่า 10 ปี มากกว่าหมื่นล้านบาท แต่กลับมีผลงานน้อยมาก โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าบาปยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจาก สสส.มักแย่งบทบาทหน้าที่กับกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพคนไทย จนไม่รู้ว่าบทบาทที่แท้จริงของ สสส.อยู่ตรงไหน เช่น การโหมโฆษณาทีวีที่ต้องใช้เงินมหาศาลและเปิดรับพันธมิตรเพื่อศึกษาและวิจัยด้านสุขภาพ จึงต้องกำหนดเพดานรายได้สูงสุดเพื่อป้องกันการจ่ายเงินมือเติบ คาดว่าวงเงินที่ 3,000 ล้านบาทต่อปีน่าจะเหมาะสมที่สุด

ส่วนของกรณี ไทยพีบีเอส เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ส่งรายได้จากภาษีบาปให้หน่วยงานนี้ 2% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทโดยปี 53 ไทยพีบีเอส รับเงินเกิน 40 ล้านบาท และปี 54 เกินอีก 60 ล้านบาท จัดอยู่ในกลุ่มพวกมือเติบเช่นกัน เพราะไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบการทำงานและการใช้จ่ายเงิน

ทั้งหมดเป็นข้อมูลเดิมตลอด 3-4 ปีที่ทั้ง 2 องค์กรถูกโจมตี ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐก็กล่าวหาว่า รัฐบาลช่วงนั้นถังแตก ถึงกลับต้องขึ้นภาษีสุรา-ยาสูบ และหวังจะปรับงบสนับสนุนองค์กรทั้ง 2 แห่งนี้

กลับมาปัจจุบัน ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้าบริหาราชการแผ่นดิน และเห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เป็นประธานกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบ โดยมีกรรมการ 8 คน มีการมอบหมายให้ น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาขึ้นรับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ”คนใหม่ แทนนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ที่ได้ยื่นใบลาออก

รับตำแหน่ง ได้ไม่กี่วัน ประจวบกับ คสช.ประกาศรัดเข็มขัดตรวจสอบเงินหลวงทุกบาททุกสตางค์ รักษาการผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ระบุว่า ได้เสนอข้อมูลให้ คสช.พิจารณาเรื่องการนำเงินรายได้เข้าแผ่นดิน ปีละ 3-4 พันล้านบาท โดยขอปรับงบสนับสนุนที่ต้องให้กับหน่วยงานที่เสนอของบเป็นประจำ เช่น สสส. และไทยพีบีเอส รวมทั้งยังเสนอขอเงินสนับสนุนจากกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอ้างว่า เป็นเงินที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ตรวจสอบไม่ได้ เพราะ สตง.จะตรวจได้เพราะเงินงบประมาณเท่านั้น

“เป็นการส่งเข้าระบบงบประมาณก่อนแล้วจึงอนุมัติให้หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ผ่านการพิจารณาตามระบบงบประมาณเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ งบประมาณเหล่านี้ปีหนึ่งใช้จำนวนมาก3,000-4,000ล้านบาท ให้ไปโดยที่ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรบ้าง รวมถึงเงินบริจาคเงินทำโครงการเพื่อสังคมต่างๆ อีก พวกนี้ปีหนึ่งก็ใช้กันเป็นหลักหลายร้อยล้านบาท”

นอกจากนี้ปีงบประมาณ 2558 ก็กำลังเสนอกระทรวงการคลัง เรื่องเพิ่มเงินนำส่งเข้ารัฐมากขึ้นจากเดิมที่นำส่งรายได้อยู่แล้วกว่า50% ของกำไร โดยปี 2555 มีรายได้นำส่งคลัง 8,590 ล้านบาท และนำส่งในรูปเงินภาษีกว่า53,300 ล้านบาท

แล้ว 2 องค์กรจะปล่อยให้ถูกปรับลดเงินง่าย ๆหรือ!!!

วันก่อน “ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. ออกมาระบุว่า สสส.เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ซึ่งกลไกการตรวจสอบตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จะต้องส่งข้อมูลการดำเนินงานให้ สตง. พิจารณาตรวจสอบโดยตลอด รวมทั้งระหว่างปีงบประมาณ สตง.สามารถเข้ามาตรวจสอบทั้งในส่วนเอกสารและบัญชีต่างๆ รวมถึงตรวจสอบในด้านสมรรถนะการทำงาน ทั้งในส่วนของสำนักงานและภาคีเครือข่ายด้วย โดยที่ สสส.จะมีห้องทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ สตง.นั่งประจำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำหน้าที่ตรวจสอบได้โดยตลอดเวลา

ขณะที่ สสส.ดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการ โดยมี “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธาน มี รมว.สาธารณสุข เป็นรองประธานคนที่ 2 ทำหน้าที่พิจารณาแผนการดำเนินงาน ตลอดจนงบประมาณในภาพรวม โดยระบบการติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานของ สสส. นอกเหนือจาก สตง. แล้ว ยังถูกตรวจสอบอีกหลายชั้น อาทิ คณะกรรมการประเมินผล ที่แต่งตั้งโดย ครม. มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชาทำหน้าที่ คณะกรรมการตรวจสอบภายใน อีกทั้งยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มหน่วยงานที่บริหารงานแบบกองทุนหมุนเวียน ซึ่งกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเป็นพิเศษ เพื่อรายงานผลการดำเนินงานต่อ ครม. หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) ได้เข้ามาตรวจสอบด้วย

“สสส.ต้องส่งรายงานผลการดำเนินงานตามระบบมาตรฐานนี้ทุกปี มีการกำหนดเคพีไอต่างๆ เป็นไปตามระบบกลไกการตรวจสอบของหน่วยงานนั้นๆ แม้ว่าเฉพาะตามกฎหมายจริงๆ จะกำหนดให้ถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการประเมินผล และ สตง. เท่านั้น อีกทั้งเมื่อลงลึกไปที่รูปแบบการทำงาน ก็ยังมีคณะกรรมการบริหารแผนอีก 8คณะ มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 คน ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานให้เป็นไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ทั้ง 15 แผนงานของ สสส. และอนุมัติงบประมาณในโครงการใหญ่ๆ หรือในโครงการย่อยๆ ก็ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาวิชาต่างๆ กว่า 700 คน ทำหน้าที่กลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง”

“ในส่วนงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อเสนอในการที่จะขอไม่ให้ส่งเงินให้กับ สสส. หรือทีพีบีเอสตามที่กฎหมายกำหนด โดยให้เหตุผลที่ขาดน้ำหนักและคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงนั้น ก็คงต้องพิจารณาว่าจะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากที่ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีข้อเสนอให้มีการนำเงิน 2 เปอร์เซนต์ จากภาษีสุราและยาสูบ มาจัดตั้งเป็นกองทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ ก็ทราบว่า มีขบวนการที่พยายามเคลื่อนไหวส่งข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและให้ร้ายการทำงานของ สสส. อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเจตนาจากผู้เสียประโยชน์หากกำหนดให้มีการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นหรือไม่”

อีกด้าน “นายสมชัย สุวรรณบรรณ” ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุถึงเรื่องนี้ว่า ไทยพีบีเอส ได้รับเงินอุดหนุน 1.5 เปอร์เซนต์ จากภาษีสุราและยาสูบ ทุกปี โดยมีกฎหมายกำหนดให้ส่งรายได้จากภาษีบาปให้หน่วยงานนี้ 2% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยมีเงินโอนเข้ามาทุกปี

“ถ้าหากปีใดเกิน 2,000 ล้าน เมื่อถึง 31 ธ.ค. ก็จะต้องส่งเงินคืนกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง”

“เราตกใจ ที่ผู้บริหารโรงงานยาสูบมาให้ข่าวว่า สตง.ตรวจสอบไม่ได้ ไม่เป็นความจริง เพราะหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย สตง.จะเข้ามาตรวจสอบ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า 3 ปีหลังมีเงินเกินเข้ามาจึงต้องทำเรื่องส่งคืน กระทรวงการคลัง”

ขณะที่เงิน 2 พันล้านนั้นใช้เป็นงบบริหารจัดการในองค์กร การผลิตรายการข่าว การซื้อรายการ การทำงานภาคประชาสังคม(คนพิการ เด็ก ภาคประชาชน) เปิดพื้นที่ให้ประชาชน รวมทั้งไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นทีวีสาธารณะก็ไม่ได้รับเงินโฆษณา ไม่ผูกพันอำนาจรัฐและเอกชน ในการต่อสู้กับตลาด ถือเป็นเงื่อนไขไม่ให้ถูกครอบงำ แทรกแซง เพื่อความโปร่งใส

โดยเฉพาะในรายงานประจำปีที่ ไทยพีบีเอส ได้นำส่งรัฐสภา ทุกปี และในปีก็จะต้องเข้าไปชี้แจงกับสภานิติบัญญัติแห่งาติ (สนช.)และมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดย สตง. ตลอด อย่างที่ผ่านมาไทยพีบีเอสจะถูกโจมตีว่า เป็นทั้งทีวีเอ็นจีโอ และทีวีชนชั้นกลาง ขณะที่ไทยพีบีเอส ก็มีบุคลากรมืออาชีพที่เข้ามาปฏิบัติงานและภาคประชาชนเข้ามามีสัดส่วนเท่าเทียมกัน และยังมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจาก สภาผู้ชมผู้ฟังฯ อนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียนในหลายๆขั้นตอน

“ภารกิจที่เราทำเกี่ยวข้องกับภาคประชาชนจำนวนมาก ทั้งรายการเวทีสาธารณะ รายการเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย ฯลฯ ที่เราลงทุนมาก เนื่องจากใช้เงินภาษีของประชาชน หรือรายการนักข่าวพลเมือง ที่เราเปิดพื้นที่ทุกภาคส่วน อย่างเมื่อปี 2551-2553 ไทยพีบีเอส ใช้งบประมาณไม่ถึง 2 พันล้านบาท แต่ก็สามารถลงทุนของตัวเองได้โดยเฉพาะอาคารแห่งใหม่และเครื่องมือต่าง ๆ ประมาณ 1 พันล้านบาทเศษ

ข้างต้น คือข้อโต้แย้ง ของผู้บริหาร สสส. และไทยพีบีเอส ที่ตั้งข้อสังเกตว่า มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นไม่เป็นไปตามที่ ผู้บริหารโรงงานยาสูบ กล่าวถึง แต่ว่าด้วยเรื่องของงบประมาณแล้ว เงิน 2 พันล้านต่อปีกับผลงานจะเป็นข้อพิสูจน์เองในอนาคต แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ตรวจสอบและฟันธงขั้นสุดท้ายในเวลานี้ ว่าจะให้ปรับลดหรือคงเดิม ก็น่าจะเป็น “คสช.” มากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น