จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่า ชาเขียว น้ำผลไม้ ชา กาแฟ ซึ่งเป็นแครื่องดื่มที่ขายดิบขายดี สร้างความร่ำรวยให้กับผู้ผลิต เป็นสินค้าที่ไม่เสียภาษีสรรสามิต ด้วยเหตุผลว่า เพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบการเกาตรภายในประเทศ และเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ
แต่ในความเป็นจริง เครื่องดื่มที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต หลายชนิด ใช้หัวเชื้อ หรือผงสำเร็จรูปที่ผลิตด้วยกระบวนการทางเคมี ที่นำเข้าจากต่าง ประเทศ เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ผลผลิตทางการเกษตร เป็นส่วนผสมที่น้อยมาก ส่วนที่ว่าดื่มแล้วมีผลดีต่อสุขภาพ ก็เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น เพราะเป็นเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ที่มีรสหวาน แต่งกลิ่นด้วยสารเคมี ยิ่งดื่มยิ่งทำลายสุขภาพ
ในอดีต กระทรวงการคลัง เคยมีแผนเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีรสหวาน และทำลายสุขภาพ มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะถูกคัดค้านจากกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งมีอำนาจมหาศาล ทั้งอำนาจทุน อำนาจหลังฉากทางการเมือง และอำนาจควบคุมสื่อสารมวลชน
ล่าสุด สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ( สปท.)ลงมติเห็นชอบรายงานของ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สปท. เรื่อง “การป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ ในประเด็นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ” ด้วยคะแนน 153 ต่อ 2 งดออกเสียง 6
สาระสำคัญคือ เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่ม อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ ที่มีปริมาณน้ำตาลเกินมาตรฐานที่กำหนด โดยเสนอให้จัดเก็บภาษี 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาลคือ ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20 % ของราคาขายปลีก และปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25% ของราคาขายปลีก
วัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานลง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ที่สร้างภาระให้ประเทศ เสียค่าใช้จ่ายจากโรคเหล่านี้จำนวนมาก เพราะเครื่องดื่มในท้องตลาดเกือบทั้งหมด มีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อมิลลิลิตร อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ยังเสนอให้กระทรวงมหาดไทยควบคุมการทำการตลาดแบบเสี่ยงโชคของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพื่อควบคุมการกระตุ้นการบริโภคควบคู่ไปด้วย
ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาลมากเป็นอันดับ 9 ของโลก คือ 100 กรัม/คน/วัน ซึ่งเกินมาตรฐานสุขภาพที่กำหนดให้บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 50 กรัมต่อคนต่อวัน เป็นการบริโภคมากเกินความจำเป็น
ปริมาณเครื่องดื่มสำเร็จรูปต่างๆ ที่วางจำหน่ายมีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 9-19 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ทั้งที่ในขณะที่ค่าน้ำตาลที่เหมาะสมอยู่ที่ 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จึงควรเพิ่มภาษีในเครื่องดื่มที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่มีความเสี่ยงให้เกิดโรคอ้วน และโรคที่เกี่ยวข้อง
การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินมาตรฐานในอัตรา 20 % เป็นเรื่องที่องค์การอนามัยโรคได้ศึกษาไว้ว่า มีผลช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลได้ หลายประเทศที่มีการเก็บภาษีดังกล่าวเช่น เม็กซิโก ฮังการี ก็ช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลได้
จากข้อมูลคณะกรรมการน้ำตาล พบว่าน้ำตาลถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมากที่สุด และเมื่อเทียบกับ 5 ประเทศในอาเซียน คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณการบริโภคน้ำตาลมากที่สุด โดยกลุ่มผู้หญิงบริโภคมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า ผู้หญิงจึงมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนมากกว่า ในขณะที่ราคาเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ของไทยมีราคาต่ำมากเมื่อเทียบกับอีก 17 ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม มติของ สปท. เป็นเพียง มติ เห็นชอบ ข้อเสนอให้เก็บภาษีสรรพาสามิต ในเครื่องดื่มรสหวาน ตามรายงานของ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะถูกเสนอต่อ รัฐบาลให้พิจารณา
การเก็บภาษีจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่า จะทำตามข้อเสนอของ สปท. หรื่อจะรับเรื่องไว้เฉยๆ เมื่อดูองค์ประกอบ และโครงสร้างอำนาจของรัฐบาลนี้ ซึ่งให้ความสำคัญ และความเกรงอกเกรงใจกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก ความพยายามที่จะเก็บภาษีสรรพสามติ เครื่องดื่มรสหวาน ยากที่จะเป็นจริงได้