กระทรวงการต่างประเทศ ชี้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จะช่วยสร้างความมั่นใจต่อต่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยมากขึ้น ลุยดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ทางการทูตกับทุกประเทศให้เข้มแข็งมากขึ้น พร้อมโชว์บทบาทในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ รับหลายประเทศกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน และการจำกัดสิทธิสื่อ แต่ยังยันเป็นการสกัดการสร้างกระแสในสื่อ สังคมออนไลน์ บั่นทอนการสร้างความปรองดอง
นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) จะเป็นสิ่งยืนยันให้ต่างชาติเห็นว่าไทยได้ดำเนินการตามโรดแมป และทำได้สำเร็จจริงตามกรอบเวลาวางไว้ โดยไทยยังคงเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นต่อต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับไทยภายหลังมีการปฏิรูปประเทศแล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่าการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ทางการทูตกับทุกประเทศเหมือนเดิม และจะเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการแสดงบทบาทในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้น่าดีใจที่รัฐบาลของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เข้าใจประเทศไทยมากขึ้น โดยประเทศเหล่านี้จะไม่ย้อนกลับไปถามหรือประณามเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมการบริหารประเทศ แต่ประเทศเหล่านี้จะสนใจถามถึงรายละเอียดการดำเนินการตามขั้นตอนโรดแมป เช่น การจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้ทำหน้าที่ใน สนช.ทั้ง 200 คน จะมีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่อย่างไร เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการจัดทำกฎหมายก่อนนำไปสู่การเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศต้องชี้แจงย้ำความมั่นใจ ควบคู่ไปกับ คสช. ดำเนินการตามที่ให้คำมั่นไว้กับต่างชาติ ก็จะทำใหต่างชาติเห็นถึงเจตนาและความมุ่งมั่นของเรา
“ในแง่การเมือง ต่างชาติจับตาถึงบทบาทของ คสช. ซึ่งเชื่อว่าหลังจากที่เราออกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในวันนี้ จะเป็นคำตอบให้ต่างชาติได้รู้ว่า คสช.จะมีอำนาจ และทำหน้าที่ในส่วนใดบ้าง โดยระหว่างที่มีการปฏิรูประเทศ เราจะมีรัฐบาลชั่วคราวขึ้น ทาง คสช.จะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี และองค์ประกอบคณะรัฐมนตรีเป็นใครบ้าง”
นายเสขกล่าวด้วยว่า หลายประเทศค่อนข้างกังวลในเรื่องสิทธิมนุษยชน และการควบคุมจำกัดสิทธิสื่อมวลชน เนื่องจากขณะนี้ยังคงประกาศกฎอัยการศึกอยู่ซึ่งส่วนเชื่อมโยงกับการทำหน้าที่สื่อมวลชน โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยการยังคงกฎอัยการศึกก็เพื่อส่งเสริมบรรยากาศในประเทศให้เกิดความปรองดองและสมานฉันท์ ทั้งหมดเป็นเรื่องความเชื่อมั่นระหว่างคนในสังคมไทย และคงความจำเป็นต้องควบคุมสื่อก็ไม่ให้เกิดการสร้างกระแสในสังคม โดยเฉพาะโชเชียลมีเดียซึ่งไปเร็วและไกลจนบั่นทอนความปรองดอง ตามที่ คสช.ตั้งจะให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทาง คสช.เข้าใจดีถึงบทบาทของเอ็นจีโอ ที่จะให้ความสนใจและตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย และก็เข้าใจว่าประเทศตะวันตกก็ไม่อาจเปลี่ยนค่านิยมประชาธิปไตย แต่ขอเพียงให้เข้าใจการดำเนินการของไทย และยังคงการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง