xs
xsm
sm
md
lg

"ในหลวง"โปรดเกล้าฯรธน. คงอำนาจคสช. บล็อกนักการเมืองนั่งสนช.-สปช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- ในหลวงโปรดเกล้าฯ รธน.ชั่วคราว มี 48 มาตรา เนื้อหาโดยสรุป ให้ตั้งสนช. 220 คน สภาปฏิรูปแห่งชาติ 250 คน บล็อกนักการเมือง ห้ามเป็นสมาชิกพรรคมาก่อน 3 ปี แถมต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ให้อำนาจ สนช. ชงชื่อนายกฯ ขีดเส้นกมธ. ยกร่าง รธน.ฉบับถาวรเสร็จใน 120 วัน พร้อมให้คงประกาศ-คำสั่งคสช.ไว้ต่อไป ปิดท้ายด้วย ม. 48 นิรโทษฯ ผู้เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจ บัวแก้วเชื่อ รธน.ชั่วคราวช่วยการันตีไทยเดินตามโรดแมป

เมื่อเวลา 17.00 น. วานนี้ (22 ก.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ในโอกาสนี้ พ.อ.ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชย์พงศ์ ฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

ต่อมาเวลา 19.45 น. นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้นำสำเนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาแจกให้กับสื่อมวลชน โดยกล่าวว่า ในวันที่ 23 ก.ค. คณะทำงานร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะมีการชี้แจงถึงรายละเอียดเนื้อหาอีกครั้ง ในเวลา 10.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีเนื้อหาทั้งหมด 48 มาตรา โดยมีสาระสำคัญในการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 220 คน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้ถวายคำแนะนำ ในส่วนนี้ มีคุณสมบัติ สนช. ที่น่าสนใจ อาทิ มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี , ต้องไม่เป็นผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง, ต้องไม่เป็นผู้ที่เคยถูกไล่ออกจากราชการ และต้องไม่เคยถูกพิพากษาให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้หัวหน้าคสช. เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สนช. ประธานสนช. และรองประธาน สนช.

สำหรับ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีทั้งสิ้น 250 คน โดยคสช.เป็นผู้ถวายคำแนะนำ ซึ่งต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี สำหรับคุณสมบัติต้องห้ามเช่นเดียวกับสนช.

นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มี คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ประกอบด้วย ประธาน กมธ. 1 คน โดย คสช. เป็นผู้เสนอ ที่เหลือให้สปช.เสนอจำนวน 20 คน อีก 15 คน ให้ สนช. คณะรัฐมนตรี และ คสช. เสนอฝ่ายละ 5 คน

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ กมธ.ยกร่างให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน รวมไปถึงกำหนดห้าม กมธ.ยกร่างรัฐรรมนูญ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระยะเวลา 2 ปี หลังจากพ้นตำแหน่ง

ในส่วนของการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีนั้น ได้กำหนดให้ สนช. ลงมติเพื่อทูลเกล้าฯ ผู้ที่เหมาะสมเป็นนายกฯ แก่พระมหากษัตริย์ รวมไปถึงรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คน โดยได้กำหนดคุณสมบัติสำหรับผู้ที่มาเป็นนายกฯ และรัฐมนตรี ไว้ว่า ต้องไม่เป็น หรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ในระยะเวลา 3 ปี ก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง รวมไปถึงต้องไม่เป็น สนช. สปช. กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ กรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้บัญญัติเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของ คสช.ไว้ ในมาตรา 42 โดยให้คงอำนาจ คสช. ไว้ตามประกาศ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ไว้โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด

ส่วนมาตรา 47 ได้ระบุถึง ประกาศและคำสั่งทั้งหมดของ คสช. ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และในมาตรา 48 ได้กล่าวถึงการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง โดยระบุว่า

“บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้า และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทําของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าว หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทําไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทําดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทําเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษ และการกระทําอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทําในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทํา หรือผู้ถูกใช้ให้กระทํา และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้น หรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (23 ก.ค.) เวลา 10.00 น. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองหัวหน้าคสช. ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคสช. และคณะ จะแถลงข่าวประเด็นกฎหมายและธรรมนูญ ณ ตึกสันติฯ(หลังใน)ทำเนียบรัฐบาลฯ โดยจะเป็นการถ่ายทอดสด

***กต.ระบุสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ

นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่จะออกมาในเย็นวันนี้ (22 ก.ค.) จะเป็นสิ่งยืนยันให้ต่างชาติได้เห็นว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนโรดแมป และทำได้สำเร็จจริงตามกรอบเวลาที่วางไว้ ซึ่งประเทศไทยยังคงเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นกับต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทย ภายหลังที่มีการปฏิรูปประเทศแล้ว

โดยระหว่างที่มีการปฏิรูประเทศให้มั่นคงและยั่งยืน ประเทศไทยยังยืนยันการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ทางการทูตกับทุกประเทศเหมือนเดิม และจะเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการแสดงบทบาทในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ

นายเสข กล่าวว่า ขณะนี้น่าดีใจที่รัฐบาลของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น โดยจากนี้ประเทศเหล่านี้จะสนใจสอบถามถึงรายละเอียดการดำเนินการตามขั้นตอนโรดแมป อาทิ การจัดตั้งสภานิติบัญญัติ (สนช.) ผู้ทำหน้าที่ใน สนช.ทั้ง 200คน ว่าจะมีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่ สนช.อย่างไร เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการจัดทำกฎหมายนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศต้องชี้แจงย้ำสร้างความมั่นใจ ควบคู่ไปกับ คสช.ดำเนินการตามที่ให้คำมั่นไว้กับต่างชาติ ก็จะทำให้ต่างชาติเห็นถึงเจตนาและความมุ่งมั่นของเรา

ส่วนในแง่การเมือง ต่างชาติจับตาถึงบทบาทของ คสช. ซึ่งเชื่อว่าหลังจากที่เราออกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในวันนี้ จะเป็นคำตอบให้ต่างชาติได้รู้ว่า คสช.จะมีอำนาจ และทำหน้าที่ในส่วนใดบ้าง โดยระหว่างที่มีการปฏิรูปประเทศ เราจะมีรัฐบาลชั่วคราวขึ้น ทาง คสช.จะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี และองค์ประกอบคณะรัฐมนตรีเป็นใครบ้าง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในหลายประเทศค่อนข้างกังวลในเรื่องสิทธิมนุษยชน และการควบคุมจำกัดสิทธิสื่อมวลชน เนื่องจากขณะนี้ประกาศกฎอัยการศึกยังมีอยู่ และมีส่วนเชื่อมโยงกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยการยังคงกฎอัยการศึกก็เพื่อส่งเสริมบรรยากาศในประเทศให้เกิดความปรองดองและสมานฉันท์ ทั้งหมดเป็นเรื่องความเชื่อมั่นระหว่างคนในสังคมไทย โดยความจำเป็นต้องควบคุมสื่อเพื่อไม่ให้เกิดการสร้างกระแสในสังคม โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียไปเร็วและไกล ได้บั่นทอนความปรองดอง ตามที่ คสช.ตั้งใจจะให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม คสช.เข้าใจถึงบทบาทของเอ็นจีโอที่ให้ความสนใจและตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย และเข้าใจว่าประเทศตะวันตกก็ไม่อาจเปลี่ยนค่านิยมประชาธิปไตย เราขอเพียงให้เข้าใจการดำเนินการของไทย และยังคงการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง--จบ--
กำลังโหลดความคิดเห็น