xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 30 เม.ย.-6 พ.ค.2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.สปท.โหวตผ่าน กม.ควบคุมสื่อ ยังคงตัวแทนรัฐในสภาวิชาชีพฯ ด้าน 30 องค์กรสื่อยื่นนายกฯ ยุติ กม.ดังกล่าว ขณะที่ “อภิสิทธิ์” แนะ รบ.ตัดไฟแต่ต้นลม!
(บน) ตัวแทน 30 องค์กรสื่อฯ ยื่นหนังสือต่อนายกฯ ขอให้ยุติร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ (ล่าง) ผู้สื่อข่าวรัฐสภาใส่เสื้อ หยุดตีทะเบียนสื่อฯ ทำข่าวการประชุม สปท.ที่กำลังพิจารณาร่าง กม.ควบคุมสื่อ
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาได้ออกแถลงการณ์ขอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ออกจากระเบียบวาระการประชุมวันที่ 1 พ.ค.โดยชี้ว่า การที่ สปท.พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายในอนาคต จะส่งผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ รวมถึงบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ต้องตกอยู่ในภาวะที่ถูกกำกับควบคุม จนไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพของตนได้สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติที่ให้สิทธิเอาไว้

ต่อมาวันที่ 1 พ.ค. ก่อนที่การประชุมของ สปท.จะเริ่มขึ้นเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ ที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท.เสนอ ปรากฏว่า ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาได้พร้อมใจกันใส่เสื้อสัญลักษณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ ซึ่งมีข้อความว่า “หยุดตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน” เพื่อแสดงพลังให้รัฐบาลและ สปท.ถอนร่างดังกล่าวออกไปก่อน

จากนั้น นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสื่อมวลชน ได้ยื่นหนังสือต่อ สปท.คัดค้านและขอให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุม สปท.ได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ อย่างกว้างขวาง โดยเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ กมธ.ฯ ได้คัดค้าน 2-3 ประเด็น คือ 1.คัดค้านเรื่องให้จดทะเบียนสื่อมวลชนกับสภาวิชาชีพ 2.กรณีที่สภาวิชาชีพฯ จะมีสัดส่วนตัวแทนรัฐ 2 คน ซึ่งเป็นช่องโหว่อันตรายให้รัฐแทรกแซงสื่อได้ และ 3.ท้วงติงเรื่องความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนิยามกฎหมายที่อาจครอบคลุมเกินเลยไปถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่สื่อมวลชน

ซึ่ง พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ได้ชี้แจงที่ประชุมว่า เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กมธ.รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน และได้ฟังข้อคัดค้านจากสื่อมวลชนกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องได้รับใบอนุญาต จึงมีมติว่า จะขอปรับเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ เป็นใบรับรองวิชาชีพที่ออกโดยองค์กรวิชาชีพสื่อ ไม่มีบทลงโทษจำคุกและปรับสื่อและเจ้าของสื่อตามมาตรา 91 และ 92 ที่อยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป

พล.อ.อ.คณิต ได้ชี้แจงในภายหลังด้วยว่า ไม่เคยถอยมากขนาดนี้มาก่อน ครั้งนี้ถอยถึง 3 ครั้ง เพราะขั้นตอนยังอีกยาวไกล ครม.จะเอาหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่สิ่งต่างๆ ที่สมาชิกเสนอแนะ กมธ.พร้อมรับไปปรับปรุงเพื่อให้งานเดินต่อได้ ส่วนโควต้า 2 ปลัดกระทรวงที่อยู่ในคณะกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จะเชียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่าให้อยู่ในวาระ 5 ปี เมื่อพ้นกำหนดแล้วให้ตัดตัวแทน 2 ปลัดออกไป อาจจะเอาโควต้าไปเพิ่มให้ในสัดส่วนของสื่อ จาก 9 เป็น 11 คน หรือตัด 2 ตำแหน่งนี้ออกไป ก็จะเหลือคณะกรรมการ 13 คน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ด้วยคะแนน 141 ต่อ 13 งดออกเสียง 17 นอกจากนั้นยังมีมติไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาที่ยังเห็นแตกต่างกันอยู่ ด้วยคะแนน 88 ต่อ 67 งดออกเสียง 8 ส่งผลให้ที่ประชุมจะส่งรายงานกลับให้คณะกรรมาธิการสื่อฯ พิจารณาปรับปรุง ก่อนส่งให้ประธาน สปท.เพื่อส่งให้ ครม.ต่อไป โดยที่ประชุมใช้เวลาพิจารณาเกือบ 8 ชั่วโมง

วันต่อมา 2 พ.ค. นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้นำคณะตัวแทนของ 30 องค์กรสื่อ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ก่อนการประชุม ครม. เพื่อมอบเสื้อที่ระลึกและรณรงค์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านและขอให้ยกเลิกการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สปท.เมื่อวันที่ 1 พ.ค.

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องกฎหมายยังอีกหลายขั้นตอน ซึ่งส่วนตัวฟังทั้ง 2 ทาง และว่า ได้ให้แนวทางการแก้ปัญหาและการปฏิรูปสื่อ โดยให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปช่วยดูร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ โดยให้แนวทางว่าต้องรับฟังทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อช่วยกันพัฒนา โดยเชิญตัวแทนสื่อเข้ามาพูดคุยกัน เพื่อให้สื่อมีคุณภาพ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อวยพรให้สื่อมวลชนเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ด้วยว่า ขอให้สื่อมวลชนประสบความสำเร็จในการทำงาน อยากให้สื่อมวลชนสร้างความสมดุลในการทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อประชาชน อย่าได้มีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน ขอให้ทุกคนในองค์กรสื่อประสบความสำเร็จทั้งหน้าที่การงาน มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และลดความขัดแย้งในสังคม

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ ที่สื่อมวลชนคัดค้านว่า สิ่งที่รัฐพึงระวังมากที่สุดคือ การเอาอำนาจรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือเอารัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะรัฐคือผู้ที่สื่อจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบมากที่สุด จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมีตัวแทนของรัฐอยู่ในสัดส่วนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และไม่ควรมาต่อรองระยะเวลาว่าจะอยู่ 5-6 ปี นายอภิสิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ตอนเริ่มต้นที่พูดกันถึงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เหมือนกับเป็นการคุ้มครองวิชาชีพสื่อ แต่หลักคิดของคนที่ทำกฎหมายนี้ สะท้อนออกมาจากร่างฯ แรกๆ ถึงการควบคุมสื่ออย่างไม่อาจปฏิเสธได้ นายอภิสิทธิ์ ยังแนะให้รัฐบาลตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการไม่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ “ผมว่าตัดไฟเสียเลย รัฐบาลพูดให้ชัดเลยว่า อย่าเสนอมา ถ้าเป็นแบบนี้จะดีที่สุด”

2.คณะกองทัพเรือ บินลงนามจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกจากจีนแล้ว แม้ สตง.อยู่ระหว่างตรวจสอบ!
(บน) คณะของเสนาธิการทหารเรือลงนามจ้างจีนสร้างเรือดำน้ำลำแรกแล้วเมื่อ 5 พ.ค.ที่กรุงปักกิ่ง (ล่าง) พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ นำทีมแถลงเรื่องการซื้อเรือดำน้ำจากจีนเมื่อ 1 พ.ค. หลังผ่าน ครม.โดยไม่แถลงและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่นหยวนคลาส เอส 26 ที จากจีน จำนวน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท มีใบสั่งว่า สั่งอย่างไร ใครสั่ง พูดกันเองทั้งนั้น ถามว่าใครจะมาสั่งได้ กองทัพเรือมีคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำ 40-50 คน “เรื่องนี้ไม่มีใครสั่ง ผมและนายกฯ ก็ไม่ได้สั่ง แต่ส่วนตัวอยากให้มีเรือดำน้ำ ...ไม่ต้องเป็นห่วง การจัดซื้อเรือดำน้ำเราจะได้ของดี มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อกองทัพมากที่สุด”

วันเดียวกัน ที่โรงเก็บอากาศยาน ร.ล.จักรีนฤเบศร ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ แถลงถึงโครงการจัดหาเรือดำน้ำรุ่นหยวนคลาส เอส 26 ที จากจีนว่า เรื่องราวทั้งหมดบนหน้าสื่อ โลกโซเชียลสับสนไปหมด เพราะข้อมูลคลาดเคลื่อน หลายฝ่ายกล่าวหาว่ากองทัพเรืออ่อนการทำงาน ไม่สร้างการรับรู้ วันนี้โครงการเรือดำน้ำผ่าน ครม.แล้ว จึงสามารถเปิดเผยได้ ยืนยันมีการจัดหาอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ กองทัพเรือมีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท และสินค้านำเข้าส่งออกร้อยละ 95 ต้องใช้เส้นทางคมนาคมทางทะเล เรือดำน้ำเป็นอาวุธที่ตอบโจทย์ ส่วนประเด็นความลึกของอ่าวไทยเฉลี่ย 50 เมตร เรือดำน้ำขนาดกลางสามารถปฏิบัติการได้แบบสบาย

พล.ร.อ.ลือชัย ยืนยันด้วยว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ กองทัพเรือได้พิจารณาคัดเลือกอย่างรอบคอบ โดยพิจารณาขีดความสามารถ, อายุการใช้งาน และความสามารถในการจ่ายได้ ซึ่งข้อเสนอของจีนตอบโจทก์มากที่สุด คือเป็นเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าชั้นหยวน เอส 26 ที พร้อมระบบอาวุธและระบบสนับสนุนต่างๆ รวมทั้งจัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับกำลังพล “เรือดำน้ำหยวนมีชื่อเสียงมากในอดีต ทั้งด้านสมรรถนะและความเงียบ มีจุดเด่นในคุณสมบัติด้านการซ่อนพราง รวมทั้งพัฒนาต่อยอดด้านระบบอาวุธที่มีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องความแม่นยำและอำนาจในการทำลายทั้งในมิติใต้น้ำ ผิวน้ำ และบนฝั่ง เรือดำน้ำรุ่นี้ เป็นเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดที่กองทัพเรือจีนใช้มากว่า 10 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 12 ลำ และไม่เคยประสบปัญหาในด้านความไม่ปลอดภัยและด้านการใช้งาน”

พล.ร.อ.ลือชัย เผยด้วยว่า งบประมาณที่ใช้ในการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 13,500 ล้านบาท จะแบ่งผ่อนชำระเป็นเวลา 7 ปี โดยจะแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ตามความก้าวหน้าในการสร้างเรือ มีงวดการชำระทั้งหมด 17 งวด ชำระในปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 2561-2566 ชำระเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท

ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และคณะ ได้เข้าพบ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. เพื่อขอรายละเอียดสัญญาโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน รวมทั้งการใช้งบประมาณ และขั้นตอนการทำทีโออาร์

หลังเข้าพบ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ได้เข้าพบผู้บัญชาการทหารเรือเพื่อขอตรวจข้อมูลโครงการจัดหาเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการ โดย สตง.จัดตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมาเพื่อตรวจโครงการนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการตรวจสอบหลักฐาน ซึ่งจะได้รับความกระจ่างว่ามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทำตามระเบีบบแบบแผนหรือไม่

ทั้งนี้ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือเดินทางไปจีนเพื่อลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล(จีทูจี) ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดย พล.ร.อ.ลือชัย และคณะ เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง ของจีนเมื่อวันที่ 4 พ.ค. เพื่อตรวจสอบเอกสารสัญญาว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อพบว่าเรียบร้อย และเป็นไปตามที่อัยการสูงสุดเห็นชอบแล้ว ประกอบกับ สตง. แจ้งว่าการตรวจสอบโครงการจัดหาเรือดำน้ำที่ สตง.กำลังดำเนินการนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงนาม ทาง พล.ร.อ.ลือชัยและคณะจึงได้ลงนามข้อตกลงสร้างเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาลกับบริษัท ไชน่าชิป บิลดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะผู้แทนรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

3.ตร.ไทยเตรียมประสาน ตร.สากลขอหมายจับน้ำเงินล่า “บอส” ทายาทกระทิงแดง ด้าน กต.ถอนพาสปอร์ต “บอส” แล้ว!
นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต
เมื่อวันที่ 1 พ.ค.พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ เผยความคืบหน้าการติดตามตัวนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) พบว่า นายวรยุทธ เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 เม.ย. แต่ไม่ทราบประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่เดินทางไป ล่าสุด กองการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือถึงตำรวจสากลประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. เพื่อสอบถามว่า นายวรยุทธ อยู่ในประเทศอังกฤษหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลให้สำนักงานอัยการสูงสุดทำหนังสือขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน หากพบว่า ผู้ต้องหารายนี้ไม่ได้อยู่ในอังกฤษ ตำรวจสากลจะออกหมายสีน้ำเงิน เพื่อให้ 190 ประเทศสมาชิกตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามตัวมาดำเนินคดี

พล.ต.ต.อภิชาติ เผยด้วยว่า ล่าสุด พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้ส่งหนังสือไปถึงกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือเดินทางไทยของนายวรยุทธแล้ว ขณะเดียวกัน จะต้องตรวจสอบว่า นายวรยุทธ มีหนังสือเดินทางกี่เล่ม และเป็นหนังสือเดินทางสัญชาติใดบ้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบหาข้อมูลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.อภิชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในคดีขับรถชนคนเสียชีวิตมาก่อน แต่เชื่อว่าจะสามารถได้ตัวผู้ต้องหารายนี้กลับมาดำเนินคดีได้อย่างแน่นอน

พล.ต.ต.อภิชาติ เผยอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ว่า จากการตรวจสอบข่าวกับตำรวจสากลสิงคโปร์ พบว่า เครื่องบินส่วนตัวของนายวรยุทธ ยังจอดอยู่ที่สิงคโปร์ จึงขอให้ตำรวจสากลสิงคโปร์ตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะอาจเป็นการจอดเครื่องบินทิ้งไว้ แล้วโดยสารเครื่องบินพาณิชย์ไปประเทศอื่น ทั้งนี้ ล่าสุดได้รับแจ้งว่า นายวรยุทธ ออกจากสิงคโปร์วันที่ 27 เม.ย. แต่ยังไม่ทราบว่าไปที่ใด

ส่วนตำรวจสากลอังกฤษ แจ้งเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ว่า ได้รับเอกสารให้ตรวจสอบแหล่งพานักนายวรยุทธแล้ว คาดว่า ใช้เวลาตรวจสอบ 1-2 วัน แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่รอ โดยจะประสานองค์การตำรวจสากล ให้ออกหมายน้ำเงินแทนหมายแดงเพื่อตรวจสอบที่อยู่นายวรยุทธ ซึ่งการออกหมายดังกล่าวจะออกที่ศูนย์นวัตกรรรมองค์การตำรวจสากล ตั้งอยู่ประเทศสิงคโปร์ เหตุที่ร้องขอหมายน้ำเงินแทนหมายแดง เพราะต้องการปักหมุดที่อยู่นายวรยุทธที่ชัดเจน เพื่อส่งให้อัยการพิจารณาขอส่งตัวเป็นผู้รายข้ามแดนกับประเทศที่นายวรยุทธไปพำนัก สำหรับหมายน้ำเงิน หรือหมายฟ้า เป็นหมายที่แจ้งให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศสมาชิก รวบรวมข้อมูลการเคลื่อนไหว, ถิ่นพำนัก, บุคลิกลักษณะของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ

ด้าน น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ว่า กรมการกงสุล ได้เพิกถอนหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ต ของนายวรยุทธ อยู่วิทยา แล้วหลังกระทรวงได้รับการติดต่อจากตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ซึ่งการถอนพาสปอร์ตนายวรยุทธ เนื่องจากตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสิรฐ ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555

4.ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุก “ผู้พันตึ๋ง” มือฆ่าอดีตผู้ว่าฯ ยโสธร 6 ปี คดีกรรโชกทรัพย์ผู้ค้าในตลาดวโรรส-ไนท์บาซาร์!
(คนซ้าย) นายเฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง อดีตที่ปรึกษานายกเทศบาลนครเชียงใหม่ และจำเลยคดีร่วมกันฆ่านายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ อดีตผู้ว่าฯ ยโสธร
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการกองคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้องนายศรายุธ ภู่พลับ อดีตหัวหน้าเทศกิจเทศบาลนครเชียงใหม่, นายธานี ฟูทอง, นายพรชัย สุคัณธสิริกุล, นายธีรยุทธ สุวรรณพาณิชย์ ซึ่งทั้งหมดเป็นอดีตเจ้าหน้าที่เทศกิจ, นายเฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง อดีตที่ปรึกษานายกเทศบาลนครเชียงใหม่ และจำเลยคดีร่วมกันฆ่านายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ อดีตผู้ว่าฯ ยโสธร, พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย หรือ เสธ.ยอด อดีตที่ปรึกษานายกเทศบาลนครเชียงใหม่, นายนิสสันต์ ชาติชำนิ (เสียชีวิต) และ จ.ส.อ.สุทิน ศรีเมืองหลวง เป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น เป็นสมาชิกเทศบาลเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทุจริต และร่วมกันกรรโชกทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 149, 157 และ 337 ประกอบมาตรา 44, 45, 83 และ 86

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 20 พ.ย. 2538 - 31 พ.ค. 2539 พวกจำเลยได้ร่วมกันกรรโชกทรัพย์ผู้ค้า 128 ราย ในตลาดวโรรส และตลาดไนท์บาซาร์ จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2554 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1-5 เป็นความผิดตามมาตรา 148, 149 และ 337 วรรคหนึ่ง อันเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตาม ม.148 ฐานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจให้ผู้อื่นมอบทรัพย์สินฯ จำคุก 9 ปี นายศรายุธ อดีตหัวหน้าเทศกิจเทศบาลนครเชียงใหม่ จำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการ ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นผู้สนับสนุน ให้จำคุกคนละ 6 ปี และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายด้วย ส่วนจำเลยที่ 6 และ 8 โจทก์มีเพียงพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่ไม่ได้นำตัวมาเบิกความในชั้นศาล ดังนั้นเป็นเพียงพยานบอกเล่า จึงยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 6 และ 8 ร่วมกระทำผิดด้วยหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัย ยกฟ้องจำเลยที่ 6 และ 8 ขณะที่นายนิสสันต์ ชาติชำนิ จำเลยที่ 7 เสียชีวิตระหว่างการพิจารณา ศาลจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ หลังจากนั้น จำเลยที่ 1-5 ยื่นอุทธรณ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2556 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-5 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ ประโยชน์สำหรับตนเองโดยมิชอบตามมาตรา 149 และข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินกับตนเองฯ ตามมาตรา 337 วรรคหนึ่ง อันเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 149 ฐานเรียกรับสินบนฯ คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 9 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นผู้สนับสนุน ให้จำคุกคนละ 6 ปี และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายด้วย ซึ่งจำเลยยื่นฎีกา โดยนายเฉลิมชัยไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฎีกา

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ค้าในตลาด จำนวน 56 ปาก เบิกความถึงข้อเท็จจริงการประกอบกิจการค้าขายในตลาดไนท์บาซาร์ว่า จำเลยที่ 1-5 มีส่วนร่วมในการเก็บค่าขายของที่เรียกว่าภาษีเถื่อน โดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำ และจำเลยที่ 4 ยังเปิดให้มีการคิดค่าฝากของรายเดือน เดือนละ 500-600 บาท และมีการจัดทำและจำหน่ายหลังคาติดรถเข็น หากผู้ค้ารายใดไม่ติดหลังคาดังกล่าวก็จะถูกจับกุม และไม่สามารถขายของได้ อีกทั้งยังได้ความจากผู้เสียหายว่า ที่ตลาดไนท์บาซาร์มีการเรียกเก็บเงินค่าขายรายเดือนโดยอ้างว่านำเงินดังกล่าวส่งให้ผู้ใหญ่ในเทศบาล การกระทำของจำเลยที่ 1-5 จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเรียกรับเงินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 149, 157 และ 337 ประกอบ มาตรา 44, 45, 83 และ 86 ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1-5 ไม่มีน้ำหนักหักล้างโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1-2 ฎีกาว่า คณะกรรมการสอบสวนวินัยเคยมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของพวกจำเลยไม่เป็นความผิดนั้น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวไม่ผูกพันต่อการพิจารณาคดีของศาล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 9 ปี จำเลยที่ 2-5 เป็นเวลา 6 ปี

ด้านนายเฉลิมชัยกล่าวสั้นๆ ว่า คดีนี้ตนถูกจำคุกมาเกินระยะเวลาตามคำพิพากษาคดีนี้แล้ว แต่ปัจจุบันยังคงถูกขังในเรือนจำจังหวัดนนทบุรี เนื่องจากผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติ หลังจากได้รับการปล่อยตัวที่ได้พักโทษคดีฆ่าผู้ว่าฯ ยโสธร ซึ่งยังต้องถูกคุมขังในเรือนจำนนทบุรีอีกเป็นเวลา 2 ปี

5.ศาลฎีกา พิพากษาแก้จำคุก 5 ปี คดีสามี-ภรรยารุกป่า-ตัดไม้ แต่อ้างเก็บเห็ด ด้านทนายความเตรียมยื่นรื้อคดีใหม่!
(บน) นายอุดม ศิริสอน และนางแดง ศิริสอน จำเลยคดีร่วมกันบุกรุกแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติที่ จ.กาฬสินธุ์ (ล่าง) นายสงกานต์ อัจฉริยทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติฯ เข้าช่วยเหลือทางคดีให้นายอุดมและนางแดง
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายอุดม ศิริสอน และนางแดง ศิริสอน ภรรยา ชาวบ้านโนนสะอาด อ.ห้วยเม็ด จ.กาฬสินธุ์ เป็นจำเลยในคดีร่วมกันบุกรุกแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติป่าดงระแนง ต.คลองขาม อ.บางตลาด จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 72 ไร่ หรือที่ก่อนหน้านี้มีการเรียกคดีนี้ว่า คดีตายายเก็บเห็ด เนื่องจากทั้งคู่อ้างว่า ไม่ได้ตัดไม้ในป่าสงวน แต่เข้าไปเก็บเห็ด อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ควรเรียกทั้งคู่ว่าตายาย เนื่องจากอายุยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะอายุประมาณ 50 ปี

คดีนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมนายอุดมและนางแดงเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2553 โดยมีหลักฐานไม้สักและไม้กระยาเลย 1,148 ท่อน และยังครอบครองไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนหนึ่ง จากนั้นได้ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน สภ.ยางตลาด ดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันบุกรุก แผ้วถาง ยึดถือครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต, ทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ต่อมา ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2554 ซึ่งนายอุดมและนางแดงให้การรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาจำคุกกรณีบุกรุกป่าสงวนฯ คนละ 11 ปี และจำคุกกรณีมีไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตคนละ 19 ปี รวมจำคุกคนละ 30 ปี แต่จำเลยรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 15 ปี จากนั้นนายอุดมและนางแดงได้ประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ โดยปฏิเสธว่า วันเกิดเหตุไม่ได้ตัดต้นไม้ แต่เข้าไปเก็บเห็ดในป่าสงวนเท่านั้น ต่อมา วันที่ 25 เม.ย.2555 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุกคนละ 14 ปี 12 เดือน

ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ นายอุดมและนางแดงยื่นฎีกาคัดค้านความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้และความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ โดยยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดตามฟ้องใน 3 ประเด็น คือ 1.อ้างว่าจำเลยหลงเชื่อบุคคลภายนอกให้รับสารภาพ และนายอุดมอ้างว่า เคยประสบอุบัติเหตุ มีอาการลมออกหูและประสาทไม่ดี พูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง 2.การดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบ เพราะไม่ได้แจ้งพฤติการณ์และรายละเอียดในการกระทำผิดตามฟ้องให้จำเลยทราบ และ 3.ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ 1 ฟังไม่ขึ้น เพราะคำให้การของจำเลยขัดแย้งกันหลังจากศาลที่ได้สืบพินิจจำเลย ส่วนประเด็นที่ 2 ก็ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบโดยครบถ้วน เพียงแต่ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำมากเท่ากับที่บรรยายฟ้อง ซึ่งการที่จำเลยปฏิเสธ แสดงว่าจำเลยเข้าใจ ประเด็นที่ 3 เรื่องขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า สำนวนการสอบสวนที่ศาลเรียกจากโจทก์ ได้ความว่า ในวันเกิดเหตุ คณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าได้ออกตรวจปราบปรามกระทำผิดเกี่ยวกับป่าไม้ในเขตป่าสงวนฯ พบกลุ่มบุคคล 3-4 คนกำลังช่วยกันตัดไม้ ใช้มีดแผ้วถางขนาดเล็กและตัดโค่นไม้สักล้มลงจำนวนมาก เมื่อพบเจ้าหน้าที่ จึงได้วิ่งหนี ปรากฏพบหลักฐานการตัดไม้สักกับไม้กระยาเลย ขนาดโตประมาณ 30-90 ซม. เป็นการทำผิดของกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันเป็นขบวนการลักลอบตัดไม้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการดังกล่าว พฤติกรรมแห่งคดีเชื่อได้ว่า บุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการทำผิดตามฟ้องโดยตรง และยังมีการติดตามเพื่อขยายผล มีแต่จำเลยทั้งสองที่ยอมเข้ามอบตัว และสมัครใจรับสารภาพตามฟ้อง จึงมีเหตุผลสมควรกำหนดโทษจำเลยให้น้อยลงเพื่อให้เหมาะแก่รูปคดี แต่พฤติการณ์การทำผิดของจำเลยส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกกรณีทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตคนละ 4 ปี จำคุกกรณีมีไม่หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตคนละ 6 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี แต่มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

ด้านนายสงกานต์ อัจฉริยทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเข้าช่วยเหลือทางคดีให้นายอุดมและนางแดง ให้สัมภาษณ์หลังศาลมีคำพิพากษาว่า ดีใจที่ศาลมีเมตตาลดโทษให้เป็น 1 ใน 3 แต่คดีนี้คงจะรื้อฟื้นใหม่ เพราะมั่นใจในพยานหลักฐาน และจะต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ส่วนรายละเอียดที่จะนำมารื้อฟื้นคดีเป็นอย่างไร จะอธิบายให้ฟังในวันที่มายื่นรื้อฟื้นคดี ยืนยันว่า จะเป็นหลักฐานใหม่ โดยเฉพาะพยานบุคคล

ขณะที่นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เผยว่า คดีของนายอุดมและนางแดง ถือว่าคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ต้องรับโทษอาญา 5 ปี แต่จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนแล้ว 1 ปี 8 เดือน จึงเหลือโทษที่ต้องรับตามคำพิพากษาอีก 3 ปี 4 เดือน ซึ่งทางออกมี 2 ทาง คือ 1.ขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่ และ 2.ขอพระราชทานอภัยโทษ

ด้านนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีที่คดีนี้มีวาทกรรมเรื่องตายายเก็บเห็ดและเรื่องความเหลื่อมล้ำที่คนจนต้องโดนลงโทษติดคุก โดยยืนยันว่า คดีนี้ ศาลพิพากษาคดีโดยไม่ได้คำนึงถึงสถานะของบุคคลว่าจะจนหรือรวย แต่พิพากษาตามพยานหลักฐานที่กระทำผิด พร้อมชี้แจงว่า จำเลยไม่ใช่ตายาย เนื่องจากขณะเกิดเหตุ จำเลยมีอายุ 48 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น