xs
xsm
sm
md
lg

แนะคลังมัดรวมภาษีอสังหาฯ เสนอ คสช. แก้จัดเก็บซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อสังหาฯ หวังรัฐบาล-นายกฯ ใหม่ ผลักดันเศรษฐกิจ เดินหน้าสานนโยบายเดิม เชื่อเศรษฐกิจโตทิศทางอสังหาฯ ขยายตัวตาม แนะทบทวนการจัดเก็บภาษีอสังหาฯ พร้อมร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะภาษีอสังหาฯ เกี่ยวเนื่อง ภาษีการโอน ภาษีสาธารณูปโภค ควรจัดเก็บแบบคิดรวม ชี้แยกจัดเก็บสร้างปัญหาการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อน ส.ไทยรับสร้างบ้าน แนะดึงรับสร้างบ้านเลี่ยงภาษีเข้าระบบ สางปัญหาการแข่งขันไม่เป็นธรรม

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด อดีตนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวถึงผลการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่สมบูรณ์ และมีนายกรัฐมนตรี จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก่อนหน้าราบรื่นมากขึ้น ขณะที่ปัญหาที่ภาคธุรกิจอสังหาฯ และเอกชนกังวลกันมาก คือ ปัญหาการจัดสรร และเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปี 2558 น่าจะหมดไปภายหลังได้รัฐบาลใหม่ ทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ แม้จะมีปัจจัยลบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นอุปสรรคบ้างก็ตาม

“ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะมีผลต่อตลาดอสังหาฯ ในทิศทางใดนั้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อตลาดโดยรวม เพราะตลาดจะขยายตัวได้ดีเมื่อเศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนที่ดี อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แต่ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นยังไม่มีข้อเสนอใดๆ ให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งในส่วนของสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเองก็ไม่ได้เตรียมยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือในส่วนใดเป็นพิเศษเช่นกัน”

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่าขณะนี้ตลาดไม่ได้มีความต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการใดมากระตุ้นภาคอสังหาฯ เพราะเมื่อเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปด้วยดี ตลาดอสังหาฯ ก็จะขยายตัวไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการใดเข้ามากระตุ้นตลาดในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม อยากเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ว่า ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะล่าสุด กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา และอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ดังนั้น เมื่อจะมีการเสนอ พ.ร.บ.ใหม่ก็ควรจะมีการนำ พ.ร.บ.การจัดเก้บภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันเข้ามาพิจารณาร่วมกันในคราวเดียว

หากมีพิจารณาในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลควรมีการทบทวนโครงสร้างการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดเก็บภาษีอสังหาฯ ให้ครอบคลุมในทุกส่วน เช่น การทบทวนการจัดเก็บภาษีการโอน และ ค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมถึงการจัดเก็บภาษีอสังหาฯ ของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไปด้วย นอกจากนี้ ควรนำภาษีระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม และโครงการจัดสรรมาทบทวน และวางระบบการจัดเก้บใหม่ โดยให้มีการจัดเก็บแบบคิดรวม ไม่ควรแยกกันจัดเก็บเพื่อตัด หรือลดการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อนออกไป

อนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กระทรวงการคลัง จะเสนอให้ คสช. พิจารณานั้น มีการแบ่งประเภทของที่ดิน ตลอดจนถึงการใช้ประโยชน์ของที่ดินดังกล่าว เพื่อกำหนดอัตราจัดเก็บภาษี ดังนี้ ที่ดินที่มีการใช้ประโยชน์ ในกลุ่มที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ ให้จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมิน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.1% ของราคาประเมิน ที่ดินเพื่อการเกษตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 0.05% ของราคาประเมิน

ส่วนที่ดินว่างเปล่า และไม่ได้ทำประโยชน์ให้สมควรแก่สภาพที่ดิน ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% ของราคาประเมิน ทั้งนี้ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า ที่ดินว่างเปล่าดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นเวลาติดต่อกัน ก็ให้เพิ่มภาษีอีกหนึ่งเท่าในทุกๆ สามปี แต่จำนวนภาษีที่เสียต้องไม่เกิน 2% ของราคาประเมิน

ด้าน นายสิทธิพร สุวรรณสุต ประธานกรรมการบริษัท พีดีเฮ้าส์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด ในฐานะนายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน หรือ THBA กล่าวว่า การเข้ามาของรัฐบาลใหม่เชื่อว่าจะเน้นให้ความสำคัญต่อปัญหาใหญ่ๆ หรือ ปัญหาหลักที่มีความชัดเจนแล้ว ส่วนปัญหาที่มีความละเอียด และยังไม่มีความชัดเจน ไม่ใช้เป้าหมายหลัก หรือปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

ดังนั้น ในส่วนของปัญหาของธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งเป็นเพียงธุรกิจย่อยของภาคธุรกิจอสังหาฯ ที่ยังไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะด้านตลาด และฐานข้อมูล ถือว่ายังไม่มีความชัดเจนตัวเลขของธุรกิจรับสร้างบ้านเองก็มีปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจบ้านจัดสรรห รือคอนโดมิเนียม ดังนั้น จึงเชื่อว่าการเข้ามาของรัฐบาลใหม่จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อตลาดรับสร้างบ้าน

“ปัญหาของตลาดรับสร้างบ้านยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ คือ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะยังไม่มีการบังคับใช้สัญญาการก่อสร้างที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือที่เรียกว่าสัญญามาตรฐาน ซึ่งสมาคมฯ พยายามผลักดันมาตลอด นอกจากนี้ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเกิดจากการเลี่ยงจ่ายภาษีของผู้ประกอบการ หรือบริษัทที่อยู่นอกระบบ ทำให้มีข้อได้เปรียบบริษัทที่เสียภาษีอย่างถูกต้องในระบบ”


กำลังโหลดความคิดเห็น