“คลัง” จ่อชงรัฐบาลใหม่ไฟเขียวภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ควบภาษีมรดก หลังถูกดองมาจากรัฐบาลก่อน ยันประชาชนทั่วไป เกษตรกรไม่กระทบเพราะมีการยกเว้น และเก็บภาษีต่ำสุด
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า นอกเหนือจากภาษีมรดกที่กรมสรรพากรอยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว ในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น สศค.ก็อยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างทางสังคมกระจายทรัพยากร หรือที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยจะเสนอร่างกฎหมายที่จัดเตรียมไว้เดิมซึ่งผ่านการหารือทำประชาพิจารณ์ และผ่านกฤษฎีกาแล้วด้วยซ้ำ พร้อมทั้งยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการซ้ำเติมประชาชนให้เสียภาษีซ้ำซ้อน ทั้งภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะกฎหมายยังเปิดช่องในการดูแลผู้มีรายได้น้อยอยู่เช่นเดิม
ทั้งนี้ ภาษีมรดกและภาษีที่ดินฯ จะเป็นคนละส่วนกัน และปัจจุบันผู้ที่มีที่ดินสิ่งปลูกสร้างเป็นมรดกก็เสียภาษีโรงเรือนอยู่แล้ว หากเปลี่ยนมาใช้ภาษีใหม่ก็ต้องเข้าข่ายเสียภาษีเพิ่มขึ้นอยู่กับว่าทรัพย์สินนั้นเป็นที่ดินเปล่า หรือเป็นที่ดินเชิงพาณิชย์ ซึ่งในสังคมไทยมีกลุ่มคนรวยที่ครอบครองที่ดิน และมีเป็นทรัพย์สินมรดกตกทอดกันไม่มากนักไม่เกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด
สำหรับร่างกฎหมายภาษีและสิ่งปลูกสร้างที่เตรียมเสนอนั้น ยังมีระยะเวลาให้ประชาชนได้ปรับตัว 2-5 ปีตามเดิม ส่วนอัตราภาษีที่จัดเก็บจะมีคณะกรรมการเป็นผู้กำหนด และประกาศใช้ตามมา โดยการออกเป็นกฎกระทรวงการคลัง ซึ่งเหลือเพียงรายละเอียดปลีกย่อยที่รัฐบาล หรือ คสช.จะตัดสินใจเท่านั้น คือ การยกเว้นให้อาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่ได้รับการยกเว้นควรกำหนดที่มูลค่าบ้านไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือกำหนดขนาดพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางวา ส่วนที่เกินก็จะเข้าอัตราภาษีต่ำสุดเท่ากับที่จัดเก็บที่ดินจากเกษตรกรซึ่งมีเพดานไม่เกินร้อยละ 0.5 โดยเบื้องต้นอาจจัดเก็บเพียงร้อยละ 0.1 ก็ได้ เพื่อไม่ให้ประชาชนมีภาระจนเกินไป
ส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ กำหนดเพดานไม่เกินร้อยละ 1 แต่เบื้องต้นอาจเก็บไม่ถึงครึ่งก็ได้ ขณะที่ที่ดินปล่อยรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้นกำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ร้อยละ 2 และปีแรกก็จัดเก็บไม่เต็มเพดานเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีเวลาอย่างน้อย 2 ปีกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีที่ดินในครอบครองจำนวนมากขาย หรือให้เช่าเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ทางด้านการเกษตรหรืออื่นๆ
“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการรวมเอาภาษีที่ดินและโรงเรือนมาปรับปรุงใหม่ เพราะปัจจุบันการเก็บภาษีใช้ฐานราคาปี 2521 ขณะที่ราคาที่ดินเปลี่ยนแปลงไปมาก ต่อไปก็จะอิงกับราคาที่กรมธนารักษ์ประกาศใช้ทุก 5 ปี ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เข้ามาหลายหมื่นล้านบาท และรายได้ส่วนหนึ่งก็ตกเป็นของท้องถิ่นทำให้นักการเมืองท้องถิ่นต้องมีการตื่นตัวในการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีและการใช้เงินดังกล่าวมากขึ้น” นายกฤษฎา กล่าว
ทั้งนี้ ภาษี 2 ประเภทนี้น่าจะออกมาใกล้เคียงกัน ส่วนภาษีสิ่งแวดล้อมนั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาคาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพราะเป็นเรื่องใหม่ และมีความซ้ำซ้อนต้องศึกษารูปแบบของประเทศอื่นๆ ด้วย