xs
xsm
sm
md
lg

ยื้อภาษีที่ดินให้ปรับตัว2-5ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาษีที่ดินยื้อ ล่าสุดรอรัฐมนตรีคลังเคาะ คาดใช้เวลา 2-5 ปี ให้ปรับตัวก่อนบังคับใช้ สศค.โวชงแพ็กเกจภาษีอีกล็อต ทั้ง ก.ม.ทวงหนี้ มรดก ประกันชีวิต เข้าที่ประชุม สนช.เร็วๆ นี้ ด้านนักธุรกิจอสังหาฯหวังรัฐบาล-นายกฯใหม่ ผลักดันเศรษฐกิจ เดินหน้าสานนโยบายเดิม แนะทบทวนการจัดเก็บภาษีอสังหาฯ พร้อมร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะภาษีอสังหาฯเกี่ยวเนื่อง ภาษีการโอน ภาษีสาธารณูปโภค ควรจัดเก็บแบบคิดรวม ชี้แยกจัดเก็บสร้างปัญหาการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ สศค.เตรียมเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ จะไม่สร้างผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย และไม่ซับซ้อนกับภาษีมรดกที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ปัจจุบันมีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีอยู่แล้ว ในรูปแบบภาษีโรงเรียนและบำรุงท้องที่ ดังนั้น การจะไปตีความว่ามีภาษีมรดกแล้วไม่จำเป็นต้องมีภาษีที่ดินฯ คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก ในการบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม จะมีระยะเวลาให้ผู้ที่ถือครองที่ดินได้ปรับตัวอย่างน้อย 2-5 ปี และมีการยกเว้นให้สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือมีพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางวาไม่ต้องเสียภาษี
สำหรับอัตราภาษีที่ สศค.ศึกษาไว้นั้น ประกอบด้วยบ้านอยู่อาศัย ที่ดินเกษตรกรรม เก็บภาษีไม่เกิน 0.5% เชิงพาณิชย์กรรมสูงสุดไม่เกิน 1% และที่ดินรกร้างว่างเปล่า สูงสุดไม่เกิน 2% ซึ่งอัตราภาษีที่กำหนดไว้นี้เป็นเพียงตุ๊กตาที่จะเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ และแม้ว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ แต่ในระยะแรกคงไม่ใช้ภาษีในอัตราในระดับที่สูงสุด โดยจะตั้งคณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีว่าเป็นเท่าใดในอัตราที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอการแก้ไขกฎหมายภาษีต่อรัฐบาลใหม่หลายตัว โดยจะเป็นภาษีที่เกี่ยวข้องด้านสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ กฎหมายมรดก กฎหมายทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม กฎหมายหลักประกัน และกฎหมายประกันชีวิต และวินาศภัย ซึ่งได้ผ่าน คสช.และกำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร็วๆ นี้
ด้าน นายอิสระบุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด อดีตนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวถึงผลการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่สมบูรณ์ และมีนายกรัฐบามนตรีจะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก่อนหน้าราบรื่นมากขึ้น ขณะที่ปัญหาที่ภาคธุรกิจอสังหาฯ และเอกชนกังวลกันมาก คือปัญหาการจัดสรรและเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 น่าจะหมดไปภายหลังได้รัฐบาลใหม่ ทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ แม้จะมีปัจจัยลบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นอุปสรรคบ้างก็ตาม
อย่างไรก็ตาม อยากเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ว่า ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะล่าสุดกระทรวงการคลัง เเตรียมเสนอ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาและอนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ดังนั้นเมื่อจะมีการเสนอพ.ร.บ.ใหม่ก็ควรจะมีการนำพ.ร.บ.การจัดเก้บภาษีอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันเข้ามาพิจารณาร่วมกันในคราวเดียว
หากมีพิจารณาในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลควรมีการทบทวนโครงสร้างการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดเก็บภาษีอสังหาฯ ให้ครอบคลุมในทุกส่วน เช่น การทบทวนการจัดเก็บภาษีการโอน และ ค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมถึงการจัดเก็บภาษีอสังหาฯของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไปด้วย นอกจากนี้ควรนำภาษีระบบสาธารณูปโภค ในนิคมอุตสาหกรรม และโครงการจัดสรรมาทบทวนและวางระบบการจัดเก้บใหม่ โดยให้มีการจัดเก็บแบบคิดรวมไม่ควรแยกกันจัดเก็บเพื่อตัดหรือลดการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อนออกไป
ด้านายสิทธิพร สุวรรณสุต ประธานกรรมการบริษัท พีดีเฮ้าส์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด ในฐานะนายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน หรือ THBA กล่าวว่า การเข้ามาของรัฐบาลใหม่ เชื่อว่าจะเน้นให้ความสำคัญกับปัญหาใหญ่ๆ หรือ ปัญหาหลักที่มีความชัดเจนแล้ว ส่วนปัญหาที่มีความละเอียดและยังไม่มีความชัดเจน ไม่ใช้เป้าหมายหลักหรือปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
ดังนั้น ในส่วนของปัญหาของธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งเป็นเพียงธุรกิจย่อยของภาคธุรกิจอสังหาฯ ที่ยังไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะด้านตลาดและฐานข้อมูล ถือว่ายังไม่มีความชัดเจนตัวเลขของธุรกิจรับสร้างบ้านเองก็มีปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับ ธุรกิจบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ดังนั้นจึงเชื่อว่าการเข้ามาของรัฐบาลใหม่จะไม่มีผลกระทบใดๆต่อตลาดรับสร้างบ้าน
“ปัญหาของตลาดรับสร้างบ้านยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ คือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะยังไม่มีการบังคับใช้สัญญาการก่อสร้างที่เป็นอันหนึ่งอันดีกัน หรือที่ เรียกว่าสัญญามาตรฐาน ซึ่งสมาคมฯพยายามผลักดันมาตลอด นอกจากนี้การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเกิดจากการเลี่ยงจ่ายภาษีของผู้ประกอบการ หรือบริษัทที่อยู่นอกระบบ ทำให้มีข้อได้เปรียบบริษัทที่เสียภาษีอย่างถูกต้องในระบบ”
กำลังโหลดความคิดเห็น