xs
xsm
sm
md
lg

สนช.เตะตัดขาภาษีมรดก จับตา “บิ๊กตู่” หาทางถอย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตา “ภาษีมรดก” ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจล่าช้า และมีสิทธิ์แท้งได้เหมือนรัฐบาลพรรคการเมืองที่ผ่านมา วงในระบุ สมาชิก สนช.หลายกลุ่มไม่เห็นด้วย-แม้เป็นข้าราชการ ก็จัดอยู่ในกลุ่มคนรวย มีทรัพย์สินกว่า 50 ล้านบาท ขณะที่บรรดาพ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมือง รู้ช่องทางเลี่ยงภาษีมรดก ด้านกระทรวงการคลังต้องตอบโจทย์ว่าทุกคนที่ได้รับมรดกเกิน 50 ล้านต้องจ่ายภาษีใช่หรือไม่
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวเรือใหญ่ในเรื่องภาษีมรดก
นโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการขยายฐานการจัดเก็บภาษีไปยังภาษีประเภทใหม่ เช่น ภาษีมรดก ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจและวิพากษ์วิจารณ์กันในขณะนี้ โดยฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการจัดเก็บภาษีมรดก นอกจากจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้

ส่วนอีกฝ่ายเชื่อว่านโยบายนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะคนรวยหรือบรรดาเศรษฐี นักธุรกิจ จะรู้จักวิธีการหลบเลี่ยงและบางรายมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญชี้ช่องทางจึงสามารถดำเนินการเลี่ยงภาษีได้โดยง่าย

ดังนั้นแม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่าภาษีมรดกที่จะออกมาบังคับใช้นั้น ไม่กระทบกับคนยากจน และผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับมรดกตกทอดก็ตาม แต่ก็มีความเสี่ยงว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะถูกดึงเรื่องไว้ หรือล้มแบบไม่เป็นท่าก็ได้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ช่วงแรกที่มีการออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะคลอดกฎหมายภาษีมรดก ออกมาเพื่อจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น ดูจะได้รับเสียงขานรับจากชนชั้นกลาง และคนยากคนจน ที่ไม่มีทรัพย์สินและมรดกที่จะตกทอดมายังทายาทต่างๆ ส่วนคนที่มีทรัพย์สินอยู่บ้าง ก็จะเกิดแรงกระเพื่อม เพราะภาษีมรดกนั้นจะทำให้ทายาทที่ได้รับมรดกต้องไปหาเงินมาเสียภาษีให้รัฐ

ดังนั้นเมื่อกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ออกมาประกาศชัดเจนว่า การจัดเก็บภาษีมรดกจะไม่ให้กระทบกับผู้มีรายได้น้อย และจะเก็บกับผู้ที่มีมรดกโอนให้ลูกหลานเกิน 50 ล้านขึ้นไปจึงจะเข้าข่ายเสียภาษีมรดก โดยทรัพย์สินที่เป็นมรดกนั้นจะต้องมีการขึ้นทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ เช่น รถยนต์ บ้าน ที่ดิน เงินฝากหรือพันธบัตร หุ้น เป็นต้น
ทรัพย์สินเหล่านี้หากโอนให้บุคคลอื่นมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทต้องเสียภาษี(ภาพประกอบจาก Internet)
อีกทั้งการจัดเก็บภาษีมรดกครั้งนี้จะเก็บจากผู้ที่ได้รับมรดก ไม่ใช่เก็บจากกองมรดก เพราะหากเก็บจากกองมรดกจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับทายาทที่ได้รับมรดกในสัดส่วนไม่เท่ากันแต่ต้องมาเสียภาษีเท่ากัน

อย่างไรก็ดี แม้นโยบายการจัดเก็บภาษีมรดกจะเป็นนโยบายที่ดี และระบุชัดว่าจะไม่ทำให้คนยากคนจน เดือดร้อนจากภาษีตัวนี้แน่นอน แต่วันนี้นโยบายดังกล่าวก็เริ่มมีกระแสต่อต้านภายในของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กันเอง และการต่อต้านก็ไม่ต่างจากสมัยที่เป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมือง

“ใน สนช.มาจากหลายมุ้ง มุ้งทหาร มุ้งข้าราชการผู้ใหญ่ หลายๆ คนก็มีทรัพย์สินมูลค่าเกิน 50 ล้าน ที่เขาจะโอนให้ลูกหลาน ก็ไม่เห็นด้วย บางคนก็เป็นสายเอกชนเข้ามาก็ต้องรักษาผลประโยชน์ ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าการเลือกของ
สนช.นั้น ก็มาจาก 1 ไปหามาอีก 2 คน ไม่ใช่บิ๊กตู่เลือกเอง 200 คน ตรงนี้แหละที่ทำให้เกิดมุ้งกันขึ้นมา”

นอกจากนี้ก็มีคำถามที่เกิดขึ้นในวง สนช.และกระทรวงการคลัง ต้องตอบให้ได้ว่า การเก็บภาษีมรดกในครั้งนี้ จะต้องจัดเก็บทุกคนที่เข้าเงื่อนไขผู้รับมรดกเกิน 50 ล้านบาทต้องเสียภาษีมรดกหรือไม่ และหากจะมีการยกเว้น จะมีการยกเว้นคนกลุ่มไหนบ้าง และจะยกเว้นคนกลุ่มนี้ถึงทายาทในลำดับที่เท่าไหร่ ส่วนลำดับถัดไป จะเก็บเท่าไหร่

“ตรงนี้ซิเป็นปัญหามาก เพราะบางกลุ่มมีทรัพย์สินมรดกที่มากมายทั้งอสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินอื่นๆ ที่เข้าเงื่อนไข และถ้ากฎหมายนี้ไปละเว้นคนกลุ่มใดก็ต้องมีเหตุผลชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะถูกโจมตี จากคนที่ไม่หวังดีได้ทันที”

แหล่งข่าวบอกว่า บรรดานักธุรกิจโดยเฉพาะบรรดายักษ์ใหญ่ ทั้งในตลาดและนอกตลาดหลักทรัพย์ นักการเมือง พวกนี้เชี่ยวชาญ มีช่องทางในการหลบเลี่ยงอยู่แล้ว เพราะคนกลุ่มนี้มีที่ปรึกษาทางกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านภาษีเขาจึงรู้ว่าจะหลบเลี่ยง และเสียภาษีแค่ที่เขาอยากจะเสียเท่านั้น

“ถ้ารัฐหันมาให้ความสำคัญกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สิน น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าและสร้างรายได้ให้รัฐและเกิดความเป็นธรรมมากกว่าที่จะมามุ่งภาษีมรดก”

อย่างไรก็ดี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจปัญหาในการจัดเก็บภาษีมรดกแล้วว่า ปัญหาและอุปสรรคเป็นเช่นไร ซึ่งในขณะนี้ รัฐบาลกำลังหาทางถอย แต่จะเป็นการถอยที่ไม่ใช่ว่าล้มนโยบายนี้ไปเลย เพราะต้องไม่ลืมว่านโยบายนี้มีจุดประสงค์ที่ดี แต่เมื่อเดินไปแล้วเจออุปสรรค ก็ต้องใช้เวลากลับมาทบทวนนโยบายกันใหม่ โดยกระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องก็ต้องหาทางออกให้เหมาะสมที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น