xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเจตน์” หนุนเก็บภาษีที่ดิน-มรดก เพิ่มรายได้รัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
สนช.หนุนเก็บภาษีที่ดินลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนภาษีมรดกยังมีข้อถกเถียงอยู่ ชี้เพิ่มรายได้ให้กับรัฐ คาดมีปัญหาแต่พวกซื้อที่เก็บ

วันนี้ (14 ก.ย.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เปิดเผยถึง ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและร่างกฎหมาย พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีมรดก ว่า เท่าที่ทราบนั้น ยังไม่เห็นในรายชื่อกฎหมายทั้ง 40-50 ฉบับ ที่จะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่ากำลังอยู่ในระหว่างเขียนรายละเอียดของข้อกฎหมาย แต่ตนไม่กังวล และคาดว่าจะเข้า ครม.เร็วๆ นี้ เพราะพ.ร.บ.นี้อยู่ในนโยบายที่ ครม.แถลงต่อ สนช. ประเด็นก็คือว่ารัฐบาลที่แล้วๆ มานั้นมีแต่รายจ่าย ไม่มีการจัดเก็บรายได้เพิ่ม กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับรัฐได้กว่า 1 แสนล้านบาท และเป็นรายได้ที่จะนำส่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี

“ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันนั้นมีการจัดเก็บภาษีที่มรดกที่มีมากกว่า 50 ล้านบาท โดยอาจจะมีการแปรญัตติเพื่อเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต และส่วนตัวร่างกฎหมายนี้ยังคงมีข้อถกเถียงกันอยู่ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก เนื่องจากมีหลายประเทศที่ยังคงใช้กฎหมายนี้อยู่ในปัจจุบันและยังมีหลายประเทศที่ใช้แล้วและเลิกใช้ไป คือยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการใช้กฎหมายข้อนี้อยู่ ปัญหาก็คือหากมีการจัดเก็บ แล้วจะมีการโยกย้ายทรัพย์สินไปยังประเทศที่มีอัตราจัดเก็บต่ำหรือไม่มีการจัดเก็บ โดยอาจจะทำให้จัดเก็บไม่ได้หากมีการออกเป็นกฎหมายออกมาแล้ว” นพ.เจตน์กล่าว

ส่วนที่มีกระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้นั้น นพ.เจตน์กล่าวว่า คงต้องถกเถียงกันที่สภา แต่ตนเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ แน่นอนในแง่ที่ว่าเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งปัจจุบันนั้นใช้เป็นกฎหมายโรงเรือน และกฎหมายบำรุงท้องที่ ก็คือมีการยกเว้นให้กับผู้ครอบครองที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และมีที่ดินว่าง จึงทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีปัญหากับผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก แต่เป็นคนจำนวนไม่มากนัก ตนจึงคิดว่าร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นน่าสนับสนุนกว่า โดยอาจจะมีแรงต้าน แต่อาจจะน้อยกว่า พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีมรดก


กำลังโหลดความคิดเห็น