xs
xsm
sm
md
lg

อ่านออก เขียนได้แน่ ถ้าผู้ปกครองร่วมมือ (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ความรักในการเรียนรู้ การพัฒนาปัญญา และการมีเป้าหมายในการดำรงชีวิตของมนุษย์ก่อตัวขึ้นมาอย่างช้าๆและต่อเนื่องตั้งแต่วัยทารก จวบจนเติบใหญ่ แน่นอนว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังอารมณ์ทางบวกและกล่อมเกลาให้เกิดความรักต่อการเรียนรู้ขึ้นในจิตสำนึกของเด็กคือครอบครัวนั่นเอง ดังนั้นความร่วมมือและมีส่วนร่วมของผู้ปกครองจึงเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก

ทัศนคติเชิงบวกและการกระทำเชิงการส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ของพ่อแม่ต่อเด็กมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าจะทำให้เด็กซึมซับทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาเข้าไปสู่จิตสำนึกของพวกเขา แนวทางเช่นนี้เป็นความรู้พื้นฐานที่ทราบกันดีในครอบครัวชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ

เด็กส่วนใหญ่ที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบทจึงมักเป็นเด็กที่มีทั้งพื้นฐานทางอารมณ์เชิงบวกต่อการศึกษาและมีเป้าหมายในชีวิตมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ และทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการศึกษาและการทำงานมากกว่ากลุ่มอื่นๆตามไปด้วย

สำหรับเด็กที่ยังอาจมีปัญหาอยู่บ้าง (ประมาณหนึ่งในสามของเด็กทั้งหมดในแต่ละช่วงอายุหรือประมาณสองแสนกว่าคน) ผมคงต้องตั้งสมมติฐานโดยการอนุมานในเชิงตรรกะจากประสบการณ์ที่ได้รับการบอกเล่าจากครูประถมหลายๆแห่งทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดว่าเป็นเด็กกลุ่มที่พ่อแม่ประกอบอาชีพใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม แรงงานในภาคบริการ รับจ้างอิสระ เกษตรกร และผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตรซึ่งมีการศึกษาไม่สูงนัก

คำถามต่อมาก็คือทำไมกลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่สามารถปลูกฝังและถ่ายทอดทัศนคติทางบวกและการกระทำที่ส่งเสริมการเรียนรู้แก่ลูกของตนเองได้อย่างมีประสิทธิผล ผมคิดว่ามีปัญหาที่สำคัญสองประการประการแรกคือพ่อแม่ของเด็กเองก็ไม่มีทัศนคติทางบวกต่อการศึกษามากนัก ประการที่สองการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงเด็กอย่างมีคุณภาพได้ และขาดความรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูกฝังความรักในการเรียนรู้ต่อเด็ก

ดังนั้นเรื่องแรกที่ผมคิดว่าสิ่งรัฐบาลควรกระทำอย่างยิ่งเพื่อปฏิรูปการศึกษาคือ การปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกต่อการศึกษาแก่พ่อแม่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคต่างๆและเกษตรกรอย่างเป็นระบบ เอาตั้งแต่ผู้ปกครองของเด็กระดับก่อนปฐมวัย จนไปถึงระดับมัธยมตอนปลาย เรื่องนี้ควรทำทั้งในเชิงนโยบายภาพกว้างและนโยบายเชิงลึก

นโยบายภาพกว้างคือการใช้สื่อทุกชนิดทุกประเภทเพื่อปลูกฝังทัศนคติเชิงบวก ผมคิดว่าน่าจะใช้รูปแบบรายการเหมือนกับรายการคืนความสุขแก่ประชาชนโดยออกทุกวันช่วงหกโมงเย็น หรือสัปดาห์ละครั้งตามความเหมาะสม เนื้อหารายการต้องเน้นการสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการศึกษา สำหรับรูปแบบการนำเสนอควรใช้อย่างหลากหลาย ทั้งในลักษณะละครสั้น สารคดี การสนทนา การนำเด็กยากจนที่ประสบความสำเร็จในการศึกษามาเล่าเรื่องราวชีวิตเพื่อเป็นตัวแบบในการสร้างแรงดลใจ และการนำโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เป็นต้น

มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่รัฐบาลต้องใช้สื่อทุกประเภทเพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกและจิตสำนึกต่อการศึกษาอย่างจริงจังและเข้มข้น หากละเลยหรือทำไม่ได้ การพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพมากขึ้นก็คงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับนโยบายในเชิงลึกคือ การสร้างกระบวนการปลูกฝังจิตสำนึกผู้ปกครองในระดับพื้นที่ โดยนำผู้ปกครองมาให้การศึกษาและปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เรื่องนี้ต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับนโยบายการใช้สื่อในภาพกว้าง เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ปกครอง

แน่นอนว่าปัญหาในเชิงปฏิบัติต่อการผลักดันเรื่องนี้คงมีอยู่ไม่น้อย เช่น เรื่องเวลาของพ่อแม่ หรือ แม้แต่การเห็นความสำคัญของพ่อแม่จนยอมสละเวลาเข้าร่วมกระบวนการปลูกฝังทัศนคติ ผมมีตัวอย่างหนี่งที่อยากเล่าให้ฟัง มีลูกศิษย์ที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประถมแถวภาคกลางตอนบนคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังถึงวิธีการที่เขาทำแล้วได้ผล ในช่วงที่เขารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนใหม่ๆ เขาพยายามชักชวนและโน้มน้าวผู้ปกครองให้มาร่วมประชุมพูดคุยเกี่ยวกับการศึกษาของลูกหลายครั้ง นัดก็แล้ว ไปพูดชวนถึงบ้านก็แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีใครมาโดยอ้างว่าไม่มีเวลาเพราะต้องไปทำงานหาเงิน

ในท้ายที่สุดเขาใช้วิธีการพูดแบบช๊อคความรู้สึกเพื่อกระชากจิตสำนึกของผู้ปกครอง โดยพูดในทำนองที่ว่า หากผู้ปกครองไม่สามารถอุทิศเวลาเพื่อลูกเพียงแค่ชั่วโมงเดียวเพื่อประชุมพูดคุยเกี่ยวกับการศึกษาซึ่งเป็นอนาคตของลูกตนเองแล้ว เขาจะขอซื้อเด็กๆเหล่านั้นมาเลี้ยงเองโดยให้เงินผู้ปกครองคนละสองหมื่นจะเอาไหม การใช้คำพูดกระชากความรู้สึกแบบนี้ไปกระทบใจของกลุ่มผู้ปกครองส่วนใหญ่ในชุมชน และทำให้พวกเขาหันมาให้ความร่วมมือกับโรงเรียนในการดูแลเด็กๆในเวลาต่อมา

อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆตัวอย่างหนึ่งที่ใช้ได้ในบริบทหนึ่ง แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะใช้ได้ผลสำหรับพื้นที่อื่นๆ อย่างไรก็ตามผมคิดว่าความมุ่งมั่นของครูและผู้บริหารโรงเรียนในเข้าถึงจิตใจและดึงผู้ปกครองเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้เป็นสารัตถะหลัก ส่วนจะใช้วิธีการหรือคำพูดแบบใดแล้วจะเกิดความสำเร็จ เป็นสิ่งที่บรรดาครูและผู้บริหารโรงเรียนจะต้องทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างอดทน จนกระทั่งค้นพบแนวทางปฏิบัติที่สร้างความสำเร็จขึ้นมาให้ได้

หากจะมีข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ ก็คงต้องเริ่มจากการตั้งคณะทำงานชุดเล็กๆขึ้นมาในโรงเรียนชุดหนึ่ง เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติพฤติกรรมของผู้ปกครองต่อการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของบุตร โดยอาจจำแนกเป็นกลุ่มผู้ปกครองเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่โน้มเอียงให้การสนับสนุนการศึกษาบุตรสูง (กลุ่ม A) กลุ่มที่ให้การสนับสนุนบ้าง (กลุ่ม B) และกลุ่มที่ไม่ใส่ใจ (กลุ่ม C) การทำงานเพื่อดึงผู้ปกครองให้มาร่วมมือให้เริ่มจากกลุ่ม A ก่อน และขยายไปยังกลุ่ม B และ C ต่อไป

กระบวนการปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกต่อการศึกษาและสร้างพฤติกรรมที่ส่งเสริมการศึกษาจะต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน จนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ของสังคมขึ้นมา

เมื่อสังคมไทยกลายเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้แล้ว ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของเด็ก และปัญหาคุณภาพการศึกษาในภาพรวมก็ย่อมหมดไปในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น