xs
xsm
sm
md
lg

อ่านออก เขียนได้แน่ ถ้าโรงเรียนมีความรัก (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการอ่านหนังสือไม่ออกและอ่านไม่คล่องของนักเรียนที่จบประถมปีที่ 3 สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ที่นำข่าวนี้ออกมาแถลงต่อสาธารณะเป็นถึงเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ผมถือว่าเป็นความกล้าหาญมากที่ผู้นำสูงสุดของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบนำข้อมูลเช่นนี้ด้วยตนเอง การยอมรับปัญหาและการเปิดเผยความเป็นจริงต่อสาธารณะเป็นก้าวแรกของโอกาสสำหรับการปฏิรูปการศึกษา

การที่นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการ กพฐ. ให้ความสำคัญกับปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของนักเรียน ผมคิดว่าเป็นการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่ถูกต้องแล้วครับ เพราะว่าการอ่านออก เขียนได้เป็นเสาเข็มของการพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ เป็นฐานของการพัฒนาปัญญาในอนาคต และเป็นรากแก้วแห่งความเจริญงอกงามของชีวิต

ตัวเลขของนักเรียนที่มีปัญหาการอ่านและการเขียนที่เลขาธิการ กพฐ. แถลงออกมาดูแล้วน่าเป็นห่วงมาก นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 3 ทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 6 แสนคน พบว่า มีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เลย จำนวน 35,000 คน หรือ 5% และอีกประมาณ 2 แสนคน หรือ 1 ใน 3 ของนักเรียนมีปัญหาอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง เลขาธิการ กพฐ.ยังได้กล่าวว่า ที่ผ่านสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานได้พยายามจัดกิจกรรมและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนพอสมควร

แต่เมื่อยังมีตัวเลขของเด็กที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้มากขนาดนี้ ท่านเลขาธิการ กพฐ. ก็คงต้องยอมรับความจริงอีกอย่างหนึ่งว่า หลักคิดพื้นฐาน นโยบาย การดำเนินงานและมาตรการต่างๆที่กระทรวงศึกษาธิการเคยทำมาในอดีตอาจไม่เพียงพอและมีประสิทธิผลต่ำ

สำหรับแนวทางที่ เลขาธิการ กพฐ. กำหนดเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาคือการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง การให้สำนักงานเขตการศึกษาส่งข้อมูลรายละเอียดของการสำรวจการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนให้ส่วนกลาง การเชิญนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและผลิตนวัตกรรมทางการศึกษามาช่วยหาเครื่องมือและสื่อการสอน การอบรม ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษานิเทศก์ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้รับการอบรมการพัฒนาผู้เรียนที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และ การจัดส่งสื่อการเรียนการสอนและพัฒนาการอ่านออกเขียนได้อย่างเต็มรูปแบบ

ผมคิดว่าแนวทางที่เลขาธิการ กพฐ. กำหนดเพื่อดำเนินการแก้ปัญหานั้นอาจเป็นแนวทางที่ยังเข้าไม่ถึงรากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง เพราะไปมุ่งเฉพาะเครื่องมือและสื่อการสอนเป็นหลัก ผมคิดว่าปัญหาที่เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องปัญหาทางเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียว หากไม่เชื่อท่านเลขาธิการลองนึกสภาพสมัยที่ท่านเรียนประถมดูเถิดครับว่ายุคนั้นครูเขาสอนอย่างไร มีสื่อการสอนอะไรบ้าง ทำไมจึงทำให้เด็กบ้านนอกจากสงขลาอย่างท่านเลขาธิการมีความสามารถเรียนจบถึงปริญญาเอกคณะคุรุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้

ผมคิดว่าการทำให้เด็กอ่านออก เขียนได้ โดยเฉพาะเด็กในชนบทนั้นจำเป็นต้องวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาอย่างเป็นระบบ และต้องดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เรื่องนี้มีมากกว่าเรื่องของสื่อการสอนครับ ผมลองเสนอความคิดเผือท่านเลขาฯจะนำไปพิจารณา

ผมมองว่าองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาของเด็กที่สำคัญมี 5 ประการคือ 1. ตัวเด็กเอง 2. ครูและแนวทางการสอน 3. ผู้ปกครอง 4. ชุมชน 5. ระบบการบริหารโรงเรียน

เริ่มจากเด็ก โดยทั่วไปเด็กไทยที่มีสภาพสมองปกติมีสติปัญหาเฉลี่ยไม่แตกต่างกันมากนัก มีเด็กที่มีสมองเป็นเลิศจำนวนไม่มาก ในขณะเดียวกันเด็กที่มีสมองผิดปกติหรือมีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ก็ไม่มากนัก ส่วนจะมีจำนวนเท่าไร ท่านเลขาธิการ กพฐ. ลองให้คนสำรวจดูเอาก็แล้วกันครับ เอาเป็นว่าผมจะกล่าวเฉพาะเด็กที่มีสมองปกติ แต่ยังอ่านไม่ออก ไม่คล่อง และเขียนไม่ได้

สิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กคือการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมให้เด็กชมชอบการอ่านและการเขียน เมื่อเด็กมีความสนใจและความชอบการอ่านและเขียนแล้ว พวกเขาก็จะมีความสนุกในการอ่านมากขึ้น สำหรับการดำเนินการให้เด็กชอบการอ่านและการเขียนอย่างยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนทางสังคมอย่างต่อเนื่องต่อความพยายามและความสำเร็จที่พวกเขาทำได้ เพื่อเด็กมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่พวกเขาทำ ดังนั้นการสร้างเงื่อนไขและบรรยากาศที่ทำให้เด็กเกิดอารมณ์ “ชอบ สนุก ภูมิใจ และมีเป้าหมายในการอ่านและเขียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ” ส่วนจะทำอย่างไรในรายละเอียดนั้น คงไม่เกินสติปัญญาของครูไทยครับ

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็คงไม่พ้นเป็นพันธกิจของครู หากครูมีความรักเด็ก ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ใช้เวลาเอาใจใส่และทุ่มเทให้กับการสอนอย่างเต็มที่ ผมคิดว่าปัญหาเด็กอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง หายไปทันทีกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ปัญหาขณะนี้คือ ครูไทยจำนวนมากตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ทั้งทางวัตถุและจิตใจ จึงทำให้ครูมีความเหินห่างไม่มีเวลาให้เด็กอย่างเต็มที่ และบางส่วนปล่อยปละละเลยไม่สนใจในการพัฒนาเด็ก

มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ครูไทยจำนวนมากเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่าการถูกกดดันจากสภาพเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่ง เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการ ถึงแม้ว่าในระยะหลังรัฐบาลจะพยายามเพิ่มสิ่งเหล่านี้ให้ครู แต่ก็ยังดูเหมือนยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงทำให้ครูต้องไปกู้ยืมเงินและประกอบอาชีพเสริมเป็นจำนวนมาก

แม้ปัจจัยเศรษฐกิจจะมีผลอยู่บ้าง แต่สิ่งที่มีผลกระทบต่อคุณภาพการสอนของครูมากที่สุดคือระบบการบริหารและการประเมินผลที่ไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการประเมินโดยใช้งานวิจัยในการเลื่อนวิทยฐานะ และการประเมินคุณภาพการศึกษาของ สมศ. จากประสบการณ์ที่ผมได้รับการบอกเล่าจากลูกศิษย์ที่เป็นครู พวกเขากล่าวในทำนองเดียวกันว่า การประเมินเหล่านั้นมีส่วนสำคัญในการทำลายจริยธรรมและทำให้เวลาในการพัฒนาการสอนของครูลดลง

ความน่าสนใจประการหนึ่งที่อยากกล่าวในที่นี้คือ เมื่อสองสามปีที่แล้วผมได้รับการบอกเล่าจากลูกศิษย์คนหนึ่งที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา เขาบอกว่ามีโรงเรียนหนึ่ง ด้วยเหตุผลบางประการทำให้ไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ประมาณ 6 เดือน แต่ปรากฏว่าในปีนั้นนักเรียนโรงเรียนดังกล่าวสอบ O-net ได้คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากช่วงที่มีผู้อำนวยการ มิหนำซ้ำยังได้คะแนนเฉลี่ยมากกว่า โรงเรียนอื่นอีกหลายแห่งในเขตการศึกษาเดียวกันที่มีผู้อำนวยการอีกด้วย

หากท่านเลขาฯ สนใจเรื่องนี้และอยากจะศึกษาวิจัยทดลองว่าการมีผู้อำนวยการโรงเรียนและการไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน โรงเรียนแบบใดจะส่งผลต่อการเพิ่มคุณภาพการศึกษามากกว่ากันก็ได้นะครับ แต่เรื่องนี้อาจจะตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นได้ว่า “ระบบการบริหารโรงเรียนประถมในปัจจุบัน มีความสัมพันธ์เชิงลบกับคุณภาพการศึกษา”

การทำคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนดีขึ้นจำต้องสร้างเงื่อนไขให้ครูมีความรู้สึกอยากเป็นครู ให้ครูมีความรู้สึกรักเด็กและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กพฐ. ทำได้ครับ ถ้าหากมุ่งมั่นที่จะทำ ขอหยิบคำพูดของครูสมพร ครูผู้สอนลิงแห่งเกาะสมุยมาอ้างสักนิดว่า “คนเป็นครูต้องให้ความรัก ก่อนให้ความรู้” และการทำให้ครูรักเด็ก นอกจากจะเป็นเรื่องบุคลิกส่วนตัวของครูแล้ว ระบบการบริหารก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยที่จะทำให้เกิดอารมณ์ร่วมเช่นนี้ขึ้นมา

สิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นคือ เมื่อผู้ปกครองและคนในชุมชนพูดถึงโรงเรียนคือ “โรงเรียนนี้ ครูรักเด็ก และดูแลเด็กเหมือนลูกหลานตนเอง” เมื่อคำพูดเช่นนี้กระจายออกไปความหวังแห่งการปฏิรูปการศึกษาก็จะส่องประกายเจิดจ้าขึ้น

(ติดตามอ่านตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า)


กำลังโหลดความคิดเห็น