xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการศึกษา (1) ขจัดความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนเดียวกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ภายหลังจากที่มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาโปรดเกล้าฯรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปแล้ว ตอนนี้ก็เป็นเรื่องของการจับตามองของประชาชนด้วยใจระทึก ว่า จากนี้กระบวนการปฏิรูปประเทศในทุกด้านจะเป็นอย่างไร สังคมจะฝากความหวังไว้กับสมาชิก 250 คน และคณะทำงานที่ดำริจะตั้งขึ้นมาจากบรรดาผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมดกว่า 7,000 คนได้หรือไม่ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนประเทศนี้ด้วยคนหนึ่ง จะขอร่วมคิดร่วมเสนอมุมมองผ่านพื้นที่ตรงนี้ในประเด็นที่ดิฉันสนใจเป็นพิเศษต่อเนื่องกันไป
นั่นคือ การปฏิรูปการศึกษาที่ถ้าทำไม่สำเร็จก็อย่าหวังว่าประเทศนี้จะมีอนาคตที่สดใสเลย
จริงอยู่ว่าปัญหาเรื่องการศึกษาในบ้านเรามีมากมายเหลือเกิน ใครที่ต้องมาเป็นเจ้ากระทรวงหรือผู้บริหารระดับสูงต่างก็รู้ดีว่าไม่รู้จะเริ่มแก้ปัญหาตรงไหนก่อน เพราะแตะไปตรงไหนก็เต็มไปด้วยปัญหา
แต่ก็ยังเป็นกระทรวงที่ประชาชนรอคอยให้มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดกระทรวงหนึ่ง
เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาที่อยากให้มีการนำมาพิจารณาด้วยก็คือเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะขอนำมากล่าวถึงเป็นตอนแรกของข้อเขียนชุดปฏิรูปการศึกษานี้
ในอดีต เวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรามักจะนึกถึงการศึกษาในสังคมเมืองและการศึกษาในชนบท และเรามักจะบอกว่าเด็กชนบทขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดี พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงถูกเมมโมรี่มาโดยตลอดว่าถ้าอยากให้ลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดี ต้องเข้าเมืองเท่านั้น ปัญหาการกระจุกจึงเกิดขึ้น
พ่อแม่ต่างทำทุกวิถีทางเพื่อส่งลูกเข้าสู่เมือง บางคนถึงขั้นขายสมบัติ ขายที่นา เพื่อส่งลูกไปเรียนในเมือง แม้กระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามจะกระจายการศึกษา แต่ดูเหมือนไม่เป็นผล
นอกจากไม่เป็นผลแล้ว ยังกลายเป็นว่าปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้กระจายตัวไปทุกหนทุกแห่ง จากมาตรฐานการศึกษาไม่เท่าเทียมกันในสังคมเมืองและชนบท กลายเป็นว่าสังคมเมืองเองก็มีปัญหาเรื่องมาตรฐานการศึกษาไม่เท่ากันระหว่างโรงเรียน
และวันนี้ความเหลื่อมล้ำได้แผ่ขยายไปสู่มาตรฐานการศึกษาในสถาบันการศึกษาแห่งเดียวกันแล้ว
เนื่องเพราะมีการแบ่งหลักสูตรหรือแบ่งห้องเรียนในระดับชั้นเดียวกัน เช่น โรงเรียนแห่งหนึ่งแบ่งห้องเรียนออกเป็นหลายหลักสูตร มีทั้งห้องพิเศษ, ห้อง Gifted, ห้องหลักสูตรภาษาอังกฤษ ฯลฯ
โดยอาศัยช่องว่างทางการศึกษาในการเก็บเงินเพิ่มขึ้นจากการแบ่งหลักสูตรนั้น ๆ
ปัจจุบันโรงเรียนจำนวนมากต่างก็มีแนวคิดเปิดสารพัดห้องเรียนที่พิเศษด้วยชื่อสุดแท้แต่จะตั้ง และผลที่ตามมาก็คือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่อยากให้ลูกเรียนห้องธรรมดา !
แม้การเรียนในห้องประเภทอื่นๆ จะมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า แต่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ตกเข้าไปอยู่ในกับดักที่ว่าการศึกษาที่จ่ายแพงกว่าคือการศึกษาที่ดีกว่า อยู่ห้องพิเศษก็ย่อมดีกว่าห้องธรรมดา
แล้วอย่างนี้จะไม่เรียกว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร ในเมื่ออยู่โรงเรียนเดียวกัน ชั้นเดียวกัน ยังต้องแบ่งประเภทกันเลย
ผลกระทบที่ตามมาของผู้ใหญ่ที่คิดโครงการเหล่านี้ ได้รู้บ้างหรือเปล่าว่าเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งกลุ่มกันเองให้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่เล็ก ถึงขนาดไม่ชอบหน้ากันก็มีมาแล้ว
นี่ยังไม่นับรวมถึงการแบ่งประเภท แล้วยังแบ่งเรื่องการแต่งกายอีกต่างหาก สิ่งเหล่านี้เรากำลังสร้างให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ได้เรียนรู้อะไร
-ค่าเทอมแพงกว่า
-เครื่องแต่งกายดูดีกว่า
-วิชาการก็ได้มากกว่า
แล้วถ้าเด็กมองว่าเธอไม่ใช่พวกฉัน หรือฉันเหนือกว่าเธอล่ะ ?
จำได้ไหมกับข่าวโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่มีเด็กนักเรียนชั้นปีเดียวกัน ในโรงเรียนเดียวกัน แต่เรียนคนละประเภทห้อง แต่งกายคนละแบบ สุดท้ายเกิดอาการหมั่นไส้และเดินเข้าไปตบซะอย่างนั้น โดยเด็กนักเรียนที่เข้าไปตบก็ยอมรับว่าไม่ได้ทะเลาะเป็นการส่วนตัว แต่แค่หมั่นไส้
สิ่งเหล่านี้อย่ามองว่าเป็นเรื่องธรรมดานะคะ เพราะเรากำลังบ่มเพาะการศึกษาให้เกิดความเหลื่อมล้ำและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่แน่ๆ มันสวนทางกับนโยบายปรองดองแห่งชาติของ คสช. ในยุคปฏิรูปอีกต่างหาก !!
กำลังโหลดความคิดเห็น