xs
xsm
sm
md
lg

Project for Change จุดเทียนปฏิรูปการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พูดถึงเรื่องการศึกษาของไทย ดูเหมือนทุกฝ่ายจะยอมรับว่าถึงจุดวิกฤติแล้ว และจะต้องทำการปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วน

คำถามคือ จะปฏิรูปอย่างไร และใครจะเป็นคนปฏิรูป ซึ่งเป็นคำถามร่วมของการปฏิรูปด้านอื่นๆ ที่เป็นวาระของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ที่ผ่านมาสิบกว่าปีของการปฏิรูปการศึกษานับตั้งแต่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้ กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ทำการปฏิรูปการศึกษา ผลก็คือ การศึกษาของไทยขยายตัวทางด้านปริมาณทั้งงบประมาณด้านการศึกษาเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายที่สูงเป็นอันดับสองของโลก บุคลากรทางการศึกษาคือ ครู หลักสูตรจำนวนนีกเรียน นักศึกษา ฯลฯ แต่ถดถอยด้านคุณภาพอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

หากจะให้การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติอยู่ในมือของกระทรวงศึกษาอีกต่อไป คงไม่ต้องบอกว่าอนาคตของการศึกษาไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในความมืดมิด เทียนเล่มหนึ่งถูกจุดขึ้น เป็นแสงสว่างส่องเส้นทางการปฏิรูปการศึกษาไทย ให้เห็นว่าการปฏิรูปการศึกษานั้น จะสำเร็จได้ต้องปฏิรูปอย่างไร จะเริ่มตรงไหน ใครเป็นผู้ปฏิรูป

หลายปีที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายนอกภาครัฐ ได้เคลื่อนไหว ทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เครือข่ายการศึกษาทางเลือก เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ที่จัดการศึกษาแบบองค์รวมในด้านศึกษาศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธีโรงเรียนรุ่งอรุณ, โรงเรียนรุ่งอรุณที่จัดการศึกษาตามแนวทางวิถีพุทธ และการเรียนการสอนอย่างบูรณาการ การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม, โรงเรียนมีชัยพัฒนาภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม

ภาคีอื่นๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปศึกษาคือ ธุรกิจภาคเอกชน เช่น สมาคมธนาคารไทย หอการค้าไทย สมาคมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สภาอุตสาหกรรมไทย ฯลฯ

ด้วยประสบการณ์ในการจัดการศึกษาแบบทางเลือกมากว่าสิบปี ทำให้ภาคีเครือข่ายนี้มีความมั่นใจที่จะตอบว่าการปฏิรูปการศึกษานั้น ต้องเริ่มที่โรงเรียนและครู และทำได้ทันที โดยมีข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรม 3 เรื่อง คือ 1.สร้างสื่ออาหารสมองเพื่อการเรียนรู้ยุคใหม่ ที่เด็กเข้าถึงฟรีด้วยตนเอง ทดแทนการขาดแคลนครูสอนดี โรงเรียนดี และเหมือนมีโรงเรียนกวดวิชาอยู่ใกล้ตัว 2.สร้าง model หรือต้นแบบโรงเรียนดี ครูดี ให้เด็กไทยมีคุณภาพ เพื่อให้การจัดการศึกษาส่งเสริมการพัฒนาประเทศ ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ให้มีโรงเรียนดี มีผู้บริหารดี มีครูดี ตั้งแต่ปฐมวัน ขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา 3.สร้างองค์กรปฏิรูปการศึกษา ประกอบด้วยสภาปฏิรูปการศึกษา และสำนักงานปฏิรูปการศึกษา เป็นองค์กรอิสระ เพื่อจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการปฏิรูปการศีกษา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อการติดตามประเมินผลการปฏิบัติ

หลายคนในเครือข่ายการศึกษาทางเลือกเสนอตัว และได้รับการคัดเลือกจาก คสช.ให้เป็นสมาชิกสภาการปฏิรูปแห่งชาติด้านการศึกษา อาทิ รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ รองอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวการปฏิรูปการศึกษา นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา นายมีชัย วีระไวทยะ และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นต้น

ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการศึกษา 3 ข้อข้างต้นจึงน่าจะได้รับการผลักดันให้เป็นทิศทางการปฏิรูปการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่ระหว่างที่สภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังตั้งไข่อยู่ เครือข่ายการศึกษาทางเลือกและเครือข่ายภาคเอกชนได้ลงมือทำตามข้อเสนอ ข้อ 2 แล้วคือ โครงการ Project for Change หรือ โครงการพัฒนาโรงเรียนผ่านการอบรมครู

โครงการนี้เป็นความร่วมมือของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ มูลนิธินโยบายสาธารณะ ในการสนับสนุนให้สถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมกับโรงเรียนของกระทรวงศึกษา และ โรงเรียนวิถีพุทธ ในการพัฒนาโรงเรียน และครู โดยได้รับการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยตูรกุ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการปฏิรูปการศึกษา

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาโครงการ Project for Change ได้จัดสัมนาเชิงปฏิบัติการไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการสัมนาเรื่องปัญหาและทางออกของการศึกษาไทย โดยมีนักการศึกษาและผู้บริหารภาคเอกชนประชุมร่วมกับนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยตูรกุ

ครั้งที่สอง เป็นการสัมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาโรงเรียน ภายใต้ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา ผู้เข้าร่วมคือผู้อำนวยการโงเรียนขนาดเล็ก 48 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ผู้อำนวยการโรงเรียนได้แรงบันดาลใจ และลงมือปฏิรูปการศึกษาโดยเริ่มที่โรงเรียนของตนเอง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำได้ทันที

โครงการ Project for Change ซึ่งเป็นโครงการปฏิรูปการศึกษาโดยเริ่มที่โรงเรียนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชุมชน โรงเรียนทางเลือก ที่สมัครใจประมาณ 800 แห่ง โดยจะใช้ความสำเร็จของโรงเรียนเหล่านี้ ขยายผลไปยังโรงเรียน 8,000 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 5 ปี

(ผู้สนใจโครงการ Project for Change และ เส้นทางปฏิรูปการศึกษา ฉบับ “รวมหุ้นทุกภาคส่วนสู่สาธารณะ” สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ สำนักข่าวอาศรมศิลป์ www. asinews.org)


กำลังโหลดความคิดเห็น