xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปการเมือง กรอบที่คสช.กำหนดให้สปช.เดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ประกาศมาแล้ว สำหรับรายชื่อ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 250 คน ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ขณะนี้ก็อยู่ในช่วงการรายงานตัว ซึ่งจะมีไปถึงวันที่ 15 ตุลาคม เป็นวันสุดท้าย

ตามกระแสข่าวระบุว่า มีการวางตัวคนคุมเกมการปฏิรูปไว้แล้ว โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันท์ อดีตอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สปช.ด้านอื่นๆ เป็นประธานสปช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า สปช.ด้านการเมือง เป็นรองประธานสปช. คนที่ 1 ควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และมีนางทัศนา บุญทอง อดีตรองประธานวุฒิสภา และสปช.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเป็นรองประธานสปช. คนที่ 2 

นอกจากวางคนคุมเกมไว้เสร็จสรรพแล้ว ที่สำคัญคือ ยังมีการวางกรอบแนวทางการปฏิรูปไว้ให้เสร็จสรรพ ในลักษณะ "พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทย"

เพราะเมื่อ สปช.ไปรายงานตัว ก็จะได้รับเอกสารข้อมูลแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย 11 ด้าน ซึ่งจัดทำโดย คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ได้ไปรับฟังปัญหา และรวบรวมเป็นกรอบความเห็นร่วมของประชาชน แล้วจัดทำขึ้นเพื่อให้สปช. ไปศึกษา และเตรียมความพร้อมการทำงาน

โอกาสนี้ "ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์" ขอสรุปพิมพ์เขียวด้านการปฏิรูปการเมือง มานำเสนอ ดังนี้

รูปแบบของรัฐสภา และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีข้อเสนอให้เลือกได้ 2 รูปแบบ คือ เลือกนายกฯโดยตรง กับเลือกโดยอ้อม

รัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกฯโดยตรง คือ เลือกนายกฯ จากรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาในคราวเดียวกัน มีการระบุถึงข้อดี คือ หัวหน้าฝ่ายบริหารจะมีฐานความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองให้แก่นายกฯ ที่จะกำหนดนโยบายต่างๆ ได้อย่างอิสระจากรัฐสภา ทำให้การการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนข้อเสีย คือ หากส.ส. หรือส.ว. ส่วนใหญ่เป็นพรรคฝ่ายค้าน จะทำให้เป็นปัญหาต่อการประสานงาน และองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนายกฯ ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับรัฐสภาแบบการเลือกตั้งนายกฯ โดยอ้อม มีการเสนอมา 3 รูปแบบ

แบบแรกเป็น สภาเดี่ยว มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่ตรา และปรับปรุงกฎหมายเท่านั้น โดยที่มาของสภาเดี่ยว ระบุที่มา 6 วิธี อาทิ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้งหมด , เลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด , จากการสรรหาทั้งหมด , แบบผสม คือเลือกตั้งแบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ, เลือกแบบผสม คือเลือกตั้ง และสรรหา และเลือกตั้งจังหวัดละคน โดยอาศัยฐานของอาชีพ และสรรหาจากกลุ่มเอ็นจีโอ ข้าราชการ นักวิชาการ

แบบที่สอง คือ สภาคู่ โดยมีการเสนอ 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบสภาส.ส.-ส.ว. และ แบบสภาผู้แทนราษฎร กับสภาประชาชน ที่มาจากกลุ่มวิชาชีพ, กลุ่มจังหวัด, กลุ่มข้าราชการ

แบบที่สาม คือ แบบ 3 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา และ สภาประชาชน

เรื่องพรรคการเมือง มีกรอบเสนอแนวทาง คือ การจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภูมิภาคเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองได้ง่าย และปราศจากการครอบงำของทุน ขณะที่การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เสนอให้มีกระบวนการกลั่นกรองโดยพรรคการเมือง ที่มีหลักเกณฑ์ คือ มีความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น การเสนอชื่อบุคคล หรือคัดค้านบุคคลที่มีชื่อส่งแข่งขัน เป็นต้น ด้านการสนับสนุนเงินทุนพรรค ต้องมีระเบียบห้ามพรรคการเมืองจ่ายเงินพิเศษให้ ส.ส. เพื่อออกเสียงสนับสนุน หรือเข้าร่วมประชุม

การเสนอนโยบายพรรคการเมือง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีบทบาทตรวจสอบนโยบายพรรค ที่ไม่เป็นประชานิยม สร้างความเสียหาย รวมถึงผลกระทบกับประชาชน ที่สำคัญ นโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียง ต้องมีวงเงินใช้จ่ายรวมกันไม่เกินกรอบวงเงินงบประมาณในช่วง 4 ปีข้างหน้า ตามที่กระทรวงการคลังได้ประกาศไว้ 

เรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โฟกัสไปที่การแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง และคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ หลังจากที่พบว่า แต่เดิมมักจะได้คนที่ไม่ดีเข้ามาทำงาน จึงมีข้อเสนอคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป จะได้มีวิฒิภาวะ ในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นส.ส.

ขณะที่คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตัง มีข้อเสนอ คือ 1 . ไม่สังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถลงสมัครได้ง่าย เพิ่มความหลากหลาย 2. ผู้สมัครรับเลือกตั้งควรมีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปี ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวบ้านมีสิทธิ์รับเลือก และที่สำคัญ ต้องให้มีการกลั่นกรองบุคคลก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยวิธี Primary Vote จากประชาชนในพื้นที่ หรือต้องได้รับใบรับรองจากนายทะเบียนว่า มีผู้สนับสนุนในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 200 คน เพื่อเป็นการคัดกรองคนดีเข้าสู่สภา

ส่วนข้อห้ามของการสมัครรับเลือกตั้ง คือให้จำกัดวาระดำรงตำแหน่งส.ส. ไม่เกิน 2 วาระ ติดต่อกัน และห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง

วิธีออกเสียงลงคะแนน เสนอให้นำคะแนน Vote No มาเปรียบเทียบกับคะแนนของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ถ้าคะแนน Vote No มากกว่า ให้เลือกตั้งใหม่ , ให้ยกเลิกการลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และนอกเขตจังหวัด ให้มีการเลือกตั้ง 2 รอบ โดยการเลือกรอบแรก ผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งทันที แต่หากคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ให้นำผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 และ 2 แข่งขันกันอีกครั้ง ใครได้เสียงข้างมาก เกินร้อยละ 50 ให้เป็นผู้ชนะ
 
การถ่วงดุลการใช้อำนาจส.ส. มีข้อเสนอให้เพิ่มอำนาจส.ส.ให้ควบคุม และตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน เพื่อถ่วงดุลการทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร , นายกฯไม่มีอำนาจยุบสภา , ยกเลิกการสังกัดพรรคการเมือง

ส่วนการถอดถอน ต้องทำโดยศาลเลือกตั้ง และศาลทุจริต คอร์รัปชั่น ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบโดยเฉพาะ นอกจากนี้ออกกฎหมายมาตรการลงโทษนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ขณะที่บทลงโทษให้ยุบพรรคการเมือง ต้องคงอยู่ และเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้น กำหนดให้องค์กรอิสระมีหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง และให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องนักการเมืองทุจริตได้โดยตรง

ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง และสรรหา โดยเสนอวิธีสรรหาจากกลุ่มอาชีพ เพื่อให้ได้ตัวแทนทุกกลุ่มอาชีพเข้ามาดูแลผลประโยชน์ ขณะที่จำนวนต้องเท่ากับ ส.ส.เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลที่เหมาะสม หลักเกณฑ์และวิธีเลือกตั้ง เสนอให้กำหนดอายุผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ระหว่าง 50-70 ปี ไม่จำกัดระดับการศึกษา และไม่สังกัดพรรคการเมือง ห้ามไม่ให้คนที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นส.ว. และห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 6 ปี  

เรื่องนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี มีข้อเสนอรูปแบบการคัดเลือกนายกฯ 2 วิธี คือ 1. จากการเลือกตั้งผ่านระบบบัญชีรายชื่อ จากการเลือกตั้งโดยตรง หรือเลือกตั้งโดยอ้อม คือให้ส.ส.โหวตเลือกนายกฯ และ 2. จากการแต่งตั้งบุคคลภายนอก ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขณะที่การตรวจสอบและถอดถอน ให้ใช้มาตรการเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว.

เรื่องโครงสร้างองค์กรตุลาการทางการเมือง มีข้อเสนอให้จัดตั้งศาลเลือกตั้ง และ ศาลทุจริต ส่วนศาลฎีกาต้องมีข้อกำหนด และกรอบการดำเนินคดีทางการเมือง และไม่จำกัดอายุความคดีทางการเมือง และยกเลิกเอกสิทธิ์คุ้มครองนักการเมืองในระหว่างสมัยประชุม

ศาลรัฐธรรมนูญ เสนอให้ปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ ให้ทำในรูปแบบ ตุลาการพระธรรมนูญ ที่มีอำนาจพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไม่ควรจัดในรูปศาลที่มีอายุ 9 ปี ส่วนอำนาจหน้าที่ต้องแบ่งองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญ เป็น 2 องค์คณะ โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พิจารณาความทั่วไป และวิธีพิจารณาเฉพาะ โดยมีหน่วยสนับสนุนทางวิชาการทำงาน นอกจากนั้นแล้วกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดในกรณีพิพาทระหว่างองค์กร แต่ทำหน้าที่ตีความทางกฎหมาย ที่มีข้อสงสัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เท่านั้น

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีข้อเสนอให้ปรับโครงสร้าง กกต. ให้มีบุคคลจากหลายฝ่าย เช่น ตุลาการ, ฝ่ายการเมือง, ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญจากสายอาชีพเข้ารับการสรรหาเป็นกกต. ขณะที่ กกต.จังหวัด ต้องประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัด หรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้งนั้นๆ การเพิ่มความเข้มแข็งของกกต. ต้องหมุนเวียน ผู้อำนวยการกกต.จังหวัดทุก 3 ปี 
 
ส่วนบทบาท กกต.กำหนดให้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ส่วนการวินิจฉัยความผิด ให้เป็นหน้าที่ของศาล

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรับโครงสร้าง ป.ป.ช. โดยเพิ่มสัดส่วน กรรมการสรรหาป.ป.ช. จากสายการเมืองที่ไม่น้อยกว่าคณะกรรมการสรรหาจากสายอื่น

การเมืองภาคพลเมือง มีข้อเสนอให้เปิดพื้นที่ให้เข้าร่วมกับภาครัฐ ในด้านตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในการพัฒนา
 
การปฏิรูประบบงานตำรวจ เสนอให้ปรับโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ไปสู่ท้องถิ่น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีส่วนบริหารจัดการระบบตำรวจในพื้นที่ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม ไม่ขึ้นตรงกับฝ่ายบริหาร เพื่อให้เกิดความอิสระ ปลอดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

นอกจากนี้ให้จัดตั้งสถาบันหลักนิติธรรมเป็นหน่วยงานรูปแบบพิเศษ เพื่อเป็นหน่วยงานพัฒนากระบวนการยุติธรรมและระบบงานตำรวจ ขณะที่สถานีตำรวจต้องปรับปรุงเป็นศูนย์บริการความปลอดภัยสังคมแบบวันสต็อปเซอร์วิส โดยเน้นการทำงานร่วมกับท้องถิ่น ส่วนการสอบสวนควรตั้งหน่วยงานสอบสวนกลางที่แยกจากงานสืบสวน รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการตำรวจ ที่มีภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานตำรวจ
 
เหล่านี้คือ "พิมพ์เขียวการปฏิรูปประเทศไทย" เกี่ยวกับด้านการเมือง ที่ฝ่ายทหารวางกรอบ กำหนดทิศทางให้ สปช. เดินไปตามนี้ เพื่อความกระชับ ทันเวลาตามโรดแมป ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น