สำนักปลัดกลาโหม เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศต่อ สปช. ชงทางเลือกที่มานายกฯ ไม่มีสิทธิยุบสภา ห้ามคนทำผิดเกี่ยวกับสถาบันลงเล่นการเมือง เลิกเลือกตั้งนอกเขต-ประเทศ คดีการเมืองไม่จำกัดอายุความ ตัดเอกสิทธิ์คุ้มกะลาหัวระหว่างสมัยประชุม พร้อมเพิ่มอำนาจ กกต.ตรวจสอบนโยบายประชานิยม จัดระบบเลือกตั้ง-ขีดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ส.-ส.ว.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการรับรายงานตัวของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้แจกเอกสารข้อมูล 11 ด้าน ที่ทางคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัด กระทรวงกลาโหมรับฟังปัญหาและรวบรวมเป็นกรอบความเห็นร่วมของประชาชน ได้จัดทำขึ้นให้กับสมาชิกที่มาแสดงตน เพื่อไปศึกษาและเตรียมความพร้อมการทำงาน โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ เช่น ด้านการปฏิรูป ด้านการเมือง มีการเสนอ รูปแบบรัฐสภาใน 2 รูปแบบ คือ รัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ด้วยการเลือกนายกฯ จากรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาคราวเดียวกัน มีข้อดีคือหัวหน้าฝ่ายบริหารมีฐานความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองให้กับนายกฯ ที่จะกำหนดนโยบายต่างๆ ได้อย่างอิสระจากรัฐสภา และการทำงานมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ข้อเสีย คือ หาก ส.ส.หรือ ส.ว.ส่วนใหญ่เป็นพรรคฝ่ายค้านทำให้เป็นปัญหาต่อการประสานงาน และองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนายกฯ ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ รัฐสภาแบบการเลือกตั้งนายกฯ รัฐมนตรีโดยอ้อม ถูกเสนอ 3 แบบ ได้แก่ แบบแรกสภาเดี่ยว มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่ตรา ปรับปรุงกฎหมายเท่านั้น โดยรูปแบบนี้อาจมีข้อจำกัดคือหากตรากฎหมายบกพร่องอาจเป็นเครื่องมือเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
ส่วนพรรคการเมือง ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภูมิภาคเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองได้ง่ายและปราศจากการครอบงำของทุน พรรคการเมืองต้องมีกระบวนการกลั่นกรองการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เน้นมีความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น การเสนอชื่อบุคคล หรือคัดค้านบุคคลที่มีชื่อส่งแข่งขันเป็นต้น ต้องมีระเบียบห้ามพรรคการเมืองจ่ายเงินพิเศษให้ ส.ส. เพื่อออกเสียงสนับสนุนหรือเข้าร่วมประชุม ส่วนนโยบายพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรมีบทบาทตรวจสอบนโยบายพรรคที่ไม่เป็นประชานิยมสร้างความเสียหาย รวมถึงผลกระทบกับประชาชน นโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียงต้องมีวงเงินใช้จ่ายรวมกันไม่เกินกรอบวงเงินงบประมาณในช่วง 4 ปีข้างหน้า ตามที่กระทรวงการคลังประกาศไว้
สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องมีการแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง และคุณสมบัติของคนที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง คือ ให้คนที่อาย 20 ปีขึ้นไปเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายเพ่ง และพาณิชย์ ส่วนคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง คือ 1. ไม่สังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถลงสมัครได้ง่ายเพิ่มความหลากหลายของผู้สมัครฯ แต่มีข้อจำกัดคือ ส.ส.ไม่มีวินัย มีการขายเสียง ควรมีอายุ 30-70 ปี เพื่อให้ผู้สมัครมีวุฒิภาวะที่เหมาะสม ส่วนระดับการศึกษาไม่มีข้อกำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวบ้านมีสิทธิรับเลือก และที่สำคัญต้องให้มีการกลั่นกรองบุคคลก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยวิธี Primary Vote จากประชาชนในพื้นที่ หรือต้องได้รับใบรับรองจากนายทะเบียนว่ามีผู้สนับสนุนในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 200 คน เพื่อเป็นการคัดกรองคนดีเข้าสู่สภา โดยให้จำกัดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ส.ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน และห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย
ส่วนวิธีออกเสียงลงคะแนน ควรจะนำคะแนนโหวตโนมาเปรียบเทียบกับคะแนนของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด หากคะแนนโหวตโนมากกว่าให้เลือกตั้งใหม่ และยกเลิกการลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและนอกเขตจังหวัด เพราะมีช่องทำให้เกิดทุจริตได้ง่าย อีกทั้งควรให้มีการเลือกตั้ง 2 รอบ โดยรอบแรก ผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งทันที แต่หากคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ให้นำผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 และ 2 แข่งขันกันอีกครั้ง หากใครได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ให้ถือว่าได้รับการเลือกตั้ง
“นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจประกาศยุบสภา ส่วนการถอดถอนต้องทำโดยศาลเลือกตั้ง และศาลทุจริตคอร์รัปชันที่ทำหน้าที่ตรวจสอบโดยเฉพาะ และมีการออกกฎหมายเพื่อเป็นมาตรการลงโทษนักการเมืองที่พฤติกรรมไม่เหมาะสม และให้คงอยู่บทลงโทษให้ยุบพรรคการเมืองโดยเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนองค์กรอิสระมีหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง และให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องนักการเมืองทุจริตได้โดยตรง”
ในส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้มาจากการเลือกตั้งและสรรหาจากกลุ่มอาชีพ เพื่อให้ได้ตัวแทนทุกกลุ่มอาชีพเข้ามาดูแลผลประโยชน์ โดยมีจำนวนเท่ากับ ส.ส. เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลที่เหมาะสม อีกทั้งกำหนดอายุผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ระหว่าง 50-70 ปี ไม่จำกัดระดับการศึกษา และไม่สังกัดพรรคกรเมือง โดยต้องห้ามไม่ให้คนที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็น ส.ว. และห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 6 ปี ส่วนหน้าที่ให้ทำเฉพาะกลั่นกรอง หรือ ยับยั้งร่างกฎหมายเท่านั้น ส่วนการตรวจสอบและถอดถอน ส.ว. ใช้มาตรการเดียวกันกับ ส.ส.
นอกจากนี้ ในส่วนของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สามารถคัดเลือกนายกรัฐมนตรี 2 แนวทาง คือ จากการเลือกตั้งโดยผ่านระบบบัญชีรายชื่อจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือเลือกตั้งโดยอ้อม คือ ให้ ส.ส.โหวตเลือกในสภา หรือจากการแต่งตั้งบุคคลภายนอก ผ่านสภานิติบัญญัติ ส่วนมาตรการการตรวจสอบและถอดถอนให้ใช้มาตรการเดียวกับ ส.ส.และ ส.ว.
นอกจากนี้ ในด้านโครงสร้างองค์กรตุลาการทางการเมือง มีข้อเสนอให้จัดตั้งศาลเลือกตั้ง และศาลทุจริต ส่วนศาลฎีกาต้องมีข้อกำหนดและกรอบการดำเนินคดีทางการเมือง และไม่จำกัดอายุความ และยกเลิกมาตรการคุ้มครองนักการเมืองในระหว่างสมัยประชุม ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีการปรับโครงสร้างในรูปแบบตุลาการพระธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาเป็นเรื่องๆ โดยแบ่งองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญเป็น 2 องค์คณะ โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พิจารณาความทั่วไป และวิธีพิจารณาเฉพาะ โดยมีหน่วยสนับสนุนทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการทำงาน ไม่มีอำนาจชี้ถูก ชี้ผิดในกรณีพิพาทระหว่างองค์กร แต่ทำหน้าที่ตีความทางกฎหมายที่มีข้อสงสัยขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ควรมีการปรับโครงสร้างให้มีบุคคลจากหลายฝ่าย เช่น ตุลาการ ฝ่ายการเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญจากสายอาชีพเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. ขณะที่ กกต.จังหวัดต้องประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดหรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้งนั้นๆ โดยมีการหมุนเวียนผู้อำนวยการกกต.จังหวัดทุกๆ3 ปีเพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง และมีบทบาทจัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ส่วนการวินิจฉัยความผิดให้เป็นหน้าที่ของศาล ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องมีการปรับโครงสร้าง โดยเพิ่มสัดส่วน กรรมการสรรหาจากสายการเมืองที่ไม่น้อยกว่าคณะกรรมการสรรหาจากสายอื่น ขณะที่ภาคประชาชนควรมีโอกาสเข้าร่วมกับภาครัฐในด้านการตรวจสอบด้วย