xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปัดฝุ่น กม.ชุมนุมสาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผ่าน 4 เดือนไปแล้ว สำหรับการบริหารงานของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.

ในช่วงเวลาที่ผ่านไปนั้น ส่วนใหญ่หมดไปกับการจัดระเบียบทางการเมือง การจัดตั้งรัฐบาล และการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะใช้เป็นกติกาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

แต่ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลา รอวันปะทุและระเบิดนั้น รัฐบาลยังไม่ได้กำหนดมาตรการเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ทั้งข้าว ยางพารา ที่เห็นเด่นชัดกว่าเพื่อน ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับกำลังจะออกมาตรการมาซ้ำเติม ทั้งในเรื่องภาษี การขึ้นราคาแก๊ส น้ำมันดีเซล

และรัฐบาลก็รู้ว่า กระแสต่อต้านจากกลุ่มเครือข่าย แนวร่วมของรัฐบาลที่แล้ว ทั้งในภาคประชาชน นักการเมือง นักวิชาการ เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว ปรากฏทั้งบนดิน ใต้ดิน โซเชียลมีเดีย หลังจากแกล้งตายไปช่วงเวลาหนึ่ง

ทำให้รัฐบาลยังต้องคง กฎอัยการศึกไว้ รวมทั้งออกคำสั่งเข้มงวดไปถึงกลุ่มนักวิชาการว่า ถ้าจะมีการตั้งวงเสวนาใดใด ต้องขออนุญาตก่อน โดยระบุรูปแบบ เนื้อหา และเป้าประสงค์ให้ชัด 

นอกจากนี้ ยังเร่งปัดฝุ่น กฎหมายชุมนุมในที่สาธารณะ ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว

โดยเรื่องนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาให้ข่าวแล้วว่า กำลังจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... อยู่ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ซุ่มทำประชาพิจารณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า มีหลายองค์กรเข้าร่วม อาทิ หน่วยราชการ องค์กรด้านสื่อสารมวลชน องค์กรอิสระ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสรุปรายละเอียด ยังไม่สามารถบอกได้ว่า มีกี่มาตรา

หลักการ สำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ คือต้องการคุ้มครองสิทธิ ของประชาชนที่ไม่ได้ไปเข้าร่วมชุมนุมด้วย จึงกำหนดว่า หากใครจะจัดการชุมนุม ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน เพื่อเตรียมการอำนวยความสะดวก และจะกำหนดช่วงเวลาของการชุมนุมให้ สำหรับ พื้นที่ต้องห้ามสำหรับการชุมนุม ก็มีเช่น สถานที่ราชการ เป็นต้น  
 
พล.ต.อ.วัชรพล ยืนยันว่า การออกพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้ที่จะมาชุมนุม เพียงแต่ต้องการหามาตรการดูแล ไม่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม รวมทั้งตำรวจจะได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพื่อดูแลความเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2554 ในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เข้าสู่สภามาแล้ว แต่ก็ยังคงค้างอยู่ในระเบียบวาระ ไม่ได้มีการพิจารณาไปให้เสร็จสิ้น

โดย ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ... ฉบับนั้น มีทั้งสิ้น 38 มาตรา สภาผู้แทนราษฎร ได้รับหลักการ ไปเมื่อ วันที่ 9 มี.ค. 54 โดยมีมาตรา ที่สำคัญๆ อาทิ

มาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้ ไม่ใช้บังคับกับการชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้

(1) การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธี และงานรัฐพิธี

(2) การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือกิจกรรมตามประเพณี หรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น

(3) การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น

(4) การชุมนุมภายในสถานศึกษา

(5) การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติของกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ของสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ

มาตรา 5 "การชุมนุมสาธารณะ" หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่

"ที่สาธารณะ" หมายความว่า ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน หรือที่หน่วยงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าของ แต่เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมตลอดทั้งทางหลวงและทางสาธารณะ

มาตรา 10 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของผู้อื่นตามกฎหมาย ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และการชุมนุมนั้นกระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ให้มีหนังสือแจ้งการชุมนุม ต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่าเจ็ดสิบสองชั่วโมง

ให้ถือว่า ผู้เชิญชวนหรือผู้นัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวก ในการชุมนุม เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง หนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา 30 ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่กระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ผู้ใดมิได้แจ้งการชุมนุมตาม มาตรา 10 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา 31 ผู้ใดจัด เชิญชวน หรือนัดหมายให้ผู้อื่นเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 37 ผู้ใดไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานตาม มาตรา 20 หรือ มาตรา 22 หรือ จากผู้ควบคุมสถานการณ์ ตามมาตรา 26 ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนั้นติดตัวหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าอาวุธตามวรรคหนึ่งเป็นอาวุธปืน วัตถุระเบิด หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกับผู้กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มีการคาดหมายว่า ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ฉบับใหม่ ที่กำลังยกร่างนี้ คงมีเนื้อหา รายละเอียด ไม่ต่างจากฉบับเดิมมากนัก

ทั้งนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ยืนยันว่า การออกกฎหมายนี้ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยตนเองจะลงนามใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จากนั้นเอาเข้าที่ประชุมครม. คาดว่าจะมีการพิจารณาใน เดือนตุลาคม เมื่อครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว ก็จะส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณา ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ก่อนจะส่งเข้าพิจารณา ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)     

  เชื่อว่า ก่อนสิ้นปี 2557 นี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... จะมีผลบังคับใช้


กำลังโหลดความคิดเห็น