ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีปรากฏการณ์อันน่าสนใจเกิดขึ้น นักวิชาการกลุ่มหนึ่งพยายามจัดเสวนาที่มีเนื้อทางการเมืองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ถูก คสช. สั่งห้ามและมีการเชิญตัวผู้จัดไปสนทนาที่สถานีตำรวจอยู่หลายชั่วโมงก่อนที่จะปล่อยตัวออกมา
สื่อมวลชนหลายสำนักนำเสนอข่าวดังกล่าว และเชื่อมโยงเข้าสู่ประเด็นเสรีภาพทางวิชาการ หลังจากนั้นบรรดาสื่อมวลชนก็ได้สร้างกระแสต่อเนื่อง มีการสัมภาษณ์และการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้จากกลุ่มบุคคลหลากหลายกลุ่มทั้งจาก คสช. นักวิชาการ และกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก
เมื่อดูว่ามีใครบ้างอยู่ภายในกลุ่มที่เคลื่อนไหวจัดเสวนา เราก็พออนุมานได้ว่าเจตนารมณ์และความคาดหวังที่แท้จริงของการจัดเสวนาคืออะไร ระหว่างความงอกงามทางปัญญาที่เกิดจากการเสวนาหรือการสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่มุ่งไปสู่การทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่มที่ปกครองประเทศอยู่ในปัจจุบัน
ผู้นำการเสวนาหลักที่มีการจัดเตรียมเอาไว้คือนิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างไม่ลืมหูลืมตามาก่อน ส่วนนักวิชาการอื่นๆที่เข้าร่วมก็เป็นกลุ่มที่สนับสนุนขบวนการเสื้อแดงและรัฐบาลของระบอบทักษิณเช่นเดียวกัน
จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ว่าการจัดเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่มีการกำหนดอย่างเป็นกระบวนการเพื่อนำไปสู่การสร้างกระแสต่อต้าน คสช.และรัฐบาลทหาร ผมคิดว่ากลุ่มคนเหล่านี้อ่านสถานการณ์ออกว่าหากเขาจัดเสวนา รัฐบาลทหารต้องยับยั้งแน่ และอาจประเมินต่อไปว่ารัฐบาลทหารอาจดำเนินการไปถึงระดับที่จับพวกเขาคุมขังและดำเนินคดี หากพวกเขาท้าทายไม่ปฏิบัติตามคำสั่งห้าม
แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเชิญตัวไปสถานีตำรวจและปล่อยตัวกลับมาในวันเดียวกัน ปฏิกิริยาแบบนี้ของ คสช. อาจเหนือความคาดหมายของกลุ่มนี้ก็เป็นได้ เพราะหาก คสช.ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างรุนแรงดังที่รัฐบาลทหารในอดีตเคยกระทำต่อกลุ่มที่ท้าทายอำนาจ ก็จะทำมีประเด็นที่นำไปใช้ในการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.ได้อย่างกว้างขวางทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่เมื่อ คชส.เพียงทำเพียงเชิญตัวและปล่อยกลับมา น้ำหนักของประเด็นที่จะนำไปสร้างกระแสก็อ่อนตัวลงไป
แต่เครือข่ายของระบอบทักษิณ ทั้งกลุ่มนักวิชาการ สื่อมวลขน และนักการเมืองก็หาประเด็นออกมาเคลื่อนไหวต่อจนได้ นั่นคือการสร้างวาทกรรมเสรีภาพทางวิชาการขึ้นมา โดยอาศัยเชื้อจากคำสั่งห้ามการจัดเสวนาทางการเมืองของ คสช. และการเนื้อหาจากให้สัมภาษณ์พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญของ คสช. ที่ระบุว่าหากมีการจัดเสวนาทางวิชาการในมหาวิทยาลัยที่มีการให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมจะต้องทำเรื่องมาขออนุมัติ คสช.ก่อน รวมทั้งการกล่าวว่าในทำนองที่ว่าบรรดานักวิชาการล้ำเส้น
ผลสืบเนื่องจากการเหตุการณ์นั้น ทำให้กลุ่มนักวิชาการที่มีเคยอยู่ในเครือข่ายของระบอบทักษิณเคลื่อนไหวต่อเนื่องของหลายรูปแบบ มีการร่วมลงชื่อแสดงไม่เห็นด้วยกับการห้ามจัดเสวนาในนามของเสรีภาพทางวิชาการ และมีการใช้ปี๊บคลุมหัวเป็นสัญลักษณ์แสดงความอับอายต่อการกระทำดังกล่าวของ คสช.
การใช้ปี๊บคลุมหัวเริ่มต้นจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดลที่ประท้วงอธิการบดีของตัวเองซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้สวมต้องการสื่อต่อสาธารณะว่าตนเองอายแทนการกระทำของอธิการบดีที่ควบสองตำแหน่งในเวลาเดียวกัน ต่อมาการใช้ปี๊บคลุมหัวก็แพร่ระบาดและถูกนำไปสร้างความหมายเพิ่มเติมให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงอย่างหนึ่งของกลุ่มที่มีเจตนาต่อต้าน คสช.
เมื่อเรื่องราวขยายออกไปบรรดาแกนนำเสื้อแดงหลายคนก็ร่วมผสมโรง เช่น วรชัย เหมะ ได้ออกมาวิจารณ์ คสช.ว่าจำกัดเสรีภาพ และตั้งคำถามว่าการที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่านักวิชาล้ำเส้น เป็นการลุแก่อำนาจหรือไม่
บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายโดยเฉพาะสื่อในเครือข่ายของระบอบทักษิณก็พยายามเล่นประเด็น เสรีภาพทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้วาทกรรมชุดนี้ไปรับใช้วัตถุประสงค์ทางการเมืองของกลุ่มตนเอง
อันที่จริงก็เป็นเรื่องตลกร้ายประการหนึ่งเพราะว่าสถานการณ์ในปัจจุบันคือการปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการทหาร แต่กลับมีคนคิดว่าเสรีภาพทางวิชาการดำรงอยู่ และต้องการใช้เสรีภาพราวกับว่าตนเองอยู่ในสังคมประชาธิปไตย คงจะกำลังละเมออยู่กระมัง ตามครรลองที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แล้ว ผู้ปกครองในระบอบเผด็จการน้อยมากที่ยอมให้ประชาชนมีเสรีภาพโดยเฉพาะเสรีภาพในการวิจารณ์ผู้ปกครอง หากใครไปวิจารณ์เขา เขาไม่จับเข้าคุกก็ดีเท่าไรแล้ว
เสรีภาพเป็นของแสลงต่อผู้ปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการ แม้กระทั่งการใช้เสรีภาพอย่างบริสุทธิ์ใจก็ยังแสลงเลยครับ ดังนั้นการใช้เสรีภาพแบบมีจุดประสงค์ทางการเมืองเพื่อต่อต้านผู้ปกครองเลยก็เป็นเรื่องที่แสลงใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นปฏิกิริยาที่ผู้ปกครองจะตอบสนองต่อผู้ใช้เสรีภาพว่าจะเป็นไปในทำนองไหนก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ไม่ยากอยู่แล้ว
แต่นั่นแหละครับ แม้ว่าจะใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ แต่ผู้เผด็จการที่ฉลาดก็ย่อมสามารถสรุปบทเรียนจากเผด็จการรุ่นพี่ๆได้ว่า หากใช้อำนาจเด็ดขาดและรุนแรงเกินไปต่อผู้ใช้เสรีภาพ อะไรคือผลลัพธ์ที่จะตามมา ดังนั้นหากไม่ประสงค์ให้สถานการณ์พัฒนาซ้ำรอยอดีต การใช้อำนาจก็จะต้องมีความยืดหยุ่นและตระหนักในการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมปัจจุบันว่ามีความแตกต่างจากอดีตเมื่อหลายสิบปีที่แล้วอย่างมากมาย
ส่วนผู้ปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการไปในทางที่ไม่ฉลาดและขาดความยั้งคิด ก็จะเข้าทางฝ่ายต่อต้าน และเป็นการเร่งสถานการณ์ให้เข้าสู่ภาวการณ์แตกหักเร็วขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่ออกมามักจบลงด้วยการนองเลือด
อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจเผด็จการไม่จำเป็นว่ารัฐบาลนั้นจะต้องมาจากการรัฐประหารเสมอไป ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ก็มีมากมายที่ทำให้เราเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ใช้อำนาจเผด็จการพอๆหรือในบางยุคอาจมากกว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ
กรณีสังคมไทย หลังจากมีประสบการณ์จากการใช้อำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งร่วมยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าประชาชนส่วนมากในสังคมไทยได้รับบทเรียนว่า ผู้ปกครองที่ได้อำนาจจากการเลือกตั้ง มีแนวโน้มการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลและขาดความเป็นธรรม ยิ่งกว่าผู้ปกครองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังเช่น รัฐบาลอานันท์ และรัฐบาลพลเอกเปรม เป็นรัฐบาลที่ผู้คนรับรู้ว่าใช้อำนาจอย่างซื่อสัตย์ เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันได้แก่ รัฐบาลชาติชาย รัฐบาลชวน รัฐบาลชวลิต รัฐบาลบรรหาร รัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ดังนั้นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ตัวหรอครับ หากมีคนพูดว่ารัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการ และไม่จำเป็นต้องพยายามสื่อสารว่าตนเองเป็นประชาธิปไตยหรอกครับ เพราะยังไงมันก็ไม่เป็น ยอมรับความจริงอย่างตรงไปตรงมาเสียเลยว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ และประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่าจะใช้อำนาจเผด็จการอย่างธรรม อย่างซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ อย่างปราศจากการฉ้อฉล คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะ มีการประสานอย่างยืดหยุ่นระหว่างการให้สิทธิ เสรีภาพกับความมั่นคง และใช้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าประสงค์
หากมีความตั้งใจจะใช้อำนาจแบบนี้และทำได้จริง ผมคิดว่าไม่ต้องไปกังวลกับการเคลื่อนไหวต่อต้านที่เป็นเสมือนสายลมอ่อนๆ ที่พัดผ่านใต้ไม้ใหญ่เท่านั้น ใช้ความหนักแน่น สยบการเคลื่อนไหวก็จะทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านไร้พลังและจางหายไปเอง แต่หากอ่อนไหวไปตามสถานการณ์เข้าไปเติมเชื้อกระตุ้นให้เกิดกระแส สายลมอ่อนๆก็อาจจะกลายเป็นพายุได้
เมื่อมีอำนาจแล้ว ทางเลือกในการใช้อำนาจหลักๆมีอยู่สามแนวทางที่จะตัดสินอนาคตของผู้ใช้ หากใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลไร้ความเป็นธรรม ผลลัพธ์คือการเป็นทรราช หากไม่ยอมใช้อำนาจปล่อยให้กลไกบริหารไปเรื่อยๆก็จะเป็นคนที่ถูกลืมและลบเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว และหากใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์คือการได้ยกย่องเป็นรัฐบุรุษ
ลองถามใจตนเองดูนะครับว่าอยากให้เกิดผลลัพธ์แบบใดเกิดกับตนเองในอนาคต จะได้ตัดสินใจเลือกแนวทางการใช้อำนาจได้อย่างสอดคล้องกับความปรารถนานั้น