xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บินไทยเอาไม่อยู่ “นักบิน”ออกพรึ่บ! “นายกฯตู่” ส่ง “บิ๊กโย่ง” นั่งบอร์ดคุมฟื้นฟู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีกองทัพบก ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบอร์ดการบินไทยสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา พร้อมกับนั่งเก้าอี้ประธานคณะอนุกรรมการติดตามแผนฟื้นฟูการบินไทยควบอีก 1 ตำแหน่ง
รายงานพิเศษ

พลันเมื่อกระแสข่าวว่านักบินของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลาออกเกือบ 200 คน ทำเอาคนในสังคมแตกตื่น เสาะหาข้อมูลกันยกใหญ่ว่าเรื่องดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร เหตุใดนักบินที่เติบโตมากับสายการบินระดับแนวหน้าของประเทศถึงหนีไปซบไหล่สายการบินคู่แข่งแทน
กระทั่งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาแถลงข่าวไขข้อสงสัยให้แก่สังคมได้ทราบว่า การบินไทยมีนักบินประมาณ 1,350 คน โดยตั้งแต่ปี 2553-2557จะ มีนักบินและผู้ช่วยนักบินลาออกเฉลี่ยประมาณ 30-40 คนต่อปี ครั้งล่าสุดก็ออกประมาณ 40 คน ซึ่งตัวเลขจำนวน 200 คน เป็นการนับรวมตั้งแต่ปี 2553-2556

“นักบินและผู้ช่วยนักบินที่ลาออกไปจะออกไปอยู่กับสายการบินตะวันออกกลางเนื่องจากมีเงินเดือนสูงกว่า ซึ่งเป็นการเลือกเส้นทางชีวิตปกติที่นักบินต้องการอยู่ในที่ที่มีผลตอบแทนมากกว่า ในขณะที่ทางการบินไทยเองก็จะมีการรับนักบินเข้ามาทำงานในแต่ละปีเพื่อทดแทน

“อีกทั้งการผลิตนักบินการบินไทยจะใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยเริ่มต้นจากการจัดส่งให้นักบินไปฝึกบินเครื่องบินใบพัด 1 ปีที่โรงเรียนการบินหัวหิน นครพนม ดอนเมือง จากนั้นต้องกลับมาฝึกเครื่องยนต์ไอพ่น และประจำฝูงบิน รวม 8 ปีถึงจะขึ้นเป็นนักบินได้ ซึ่งการลาออกไปอยู่สายการบินอื่นคงต้องเปรียบเทียบเรื่องรายได้ ผลประโยชน์ แต่บริษัทก็ไม่มีปัญหาขาดแคลนนักบิน มีการกำหนดมาตรฐานนักบินเพื่อให้บริษัทมีนักบินที่มีความรู้ความสามารถและบินด้วยความปลอดภัย”รักษาการดีดีการบินไทยชี้แจงข้อเท็จจริง

ในขณะที่ ร.ท.อธิศักดิ์ พัดชื่นใจ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ การบินไทย ก็ตัดพ้อว่า บจม.การบินไทยเป็นองค์กรที่ผลิตนักบินที่มีคุณภาพ ปั้นกับมือลงทุนไปเป็นล้าน ทว่า สายบินอื่นจะชุบมือเปิบไปดูจะไม่เหมาะไม่ควรเท่าไหร่นัก

“การบินไทยสร้างคนจากศูนย์กว่าจะเป็นนักบินได้ ต้องใช้เวลา 7-8 ปี ลงทุนฝึกนักบิน 1 คน ในเวลา 2 ปี ถึง 2 ปีครึ่งซึ่งใช้เงินประมาณ 4 ล้านบาท การรับนักบินเข้ามาทำงานในแต่ละปีก็จะคัดเลือกตามเกณฑ์มาตรฐาน ผ่านการฝึกตามขั้นตอนทำงาน 7-8 ปี จึงจะได้ขึ้นเป็นนักบิน ในขณะที่หากย้ายไปสายการบินอื่น โดยเฉพาะตะวันออกกลางจะใช้เวลา 1-2 ปีจึงจะได้รับการโปรโมตขึ้นเป็นนักบิน เพราะต้องยอมรับว่าได้ผ่านการฝึกจากการบินไทยไปแล้ว ประกอบกับสายการบินตะวันออกกลางมีการขยายฝูงบินจึงต้องการนักบินมากจึงเสนอผลตอบแทนมหาศาล ซึ่งนักบินของการบินไทยมีการฝึกมาตรฐานมาทุนเดิมอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สายการบินอื่นจะอยากได้ ในขณะที่บริษัทไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่จะดึงดูดนักบินไว้ได้หมด”

สำหรับอัตราเงินเดือนของนักบินสายคู่แข่งนั้น ร.อ.อ.มนตรี จำเรียง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ออกมาแจกแจกให้ฟังว่าอัตราเงินเดือนนักบินเจแปนแอร์ไลน์สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน แต่จะมีการกำหนดชั่วโมงบินชัดเจน ส่วนสายการบินตะวันออกกลางเฉลี่ยที่ 7 แสนบาท ขณะที่การบินไทยเงินเดือนอยู่ที่ 2.4 แสนบาท ยังไม่รวมค่าชั่วโมงบิน ซึ่งร.อ.อ.มนตรีก็ยอมรับว่าการปรับขึ้นเงินเดือนแต่ละปีค่อนข้างน้อย และนี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักบินลาออกไปอยู่สายการบินอื่นที่มีรายได้ดีกว่า

ด้าน นายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย ยืนยันว่า การที่นักบินของการบินไทยลาออก เพื่อไปอยู่กับสายการบินอื่น ไม่ถือเป็นภาวะวิกฤต และกระทบต่อการทำการบิน เพราะการบินไทยมีการฝึกนักบินขึ้นมาทดแทนอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันตัวเลขนักบินที่ลาออกจากบริษัทการบินไทยขณะนี้ มีจำนวนไม่ถึง 200 คนอย่างที่มีกระแสข่าว แต่เป็นการนำตัวเลขการลาออกจากบริษัทหลายปีที่ผ่านมามารวมกัน โดยยอมรับว่า การย้ายสายการบินของนักบินขณะนี้ ถือเป็นการแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นของนักบินไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักบินจะลาออกไม่ถึง 200 คน แต่ออกกันปีละ 30-40 คน ก็เป็นเรื่องที่น่าขบคิดไม่ใช่น้อยถึงการบริหารงานภายในการบินไทยเพราะต้องยอมรับว่า สายการบินแห่งชาติสายนี้ประสบกับเหตุวิกฤติมานาน โดยเฉพาะตัวเลขของผลประกอบการที่ลุ่มๆดอนๆ มาตลอด 3- 4 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น เมื่อผนวกกับปัญหาที่การบินไทยให้ผลตอบแทนแก่นักบินน้อยกว่าสายการบินคู่แข่ง จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้นักบินตัดสินใจลาออกไปอยู่สายการบินอื่นแทน

กล่าวสำหรับผลประกอบการของการบินไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา(เดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนธันวาคม) มีรายได้รวม 211,605 ล้านบาท ขาดทุนก่อนอัตราแลกเปลี่ยนและภาษีเงินได้ (ไม่รวมผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน) จำนวน 3,608 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีกำไร 4,662 ล้านบาท (หากไม่รวมสายการบินนกแอร์ กำไร 4,434 ล้านบาท) โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 12,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2555 มีกำไรสุทธิ 6,510 ล้านบาท ซึ่งรวมผลขาดทุนที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานรวม 9,321 ล้านบาท ได้แก่ ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินเป็นจำนวน 5,426 ล้านบาท และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 3,895 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.52 บาท เปรียบเทียบกับปี 2555 ซึ่งมีกำไรต่อหุ้น 2.85 บาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ประจำปี 2557 พบว่าบริษัท และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 7,654 ล้านบาท โดยส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 7,662 ล้านบาท ทั้งนี้ มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 42,767 ล้านบาท รายได้อื่น 1,667 ล้านบาท ซึ่งมาจากผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,008 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่าย 52,339 ล้านบาท ซึ่งพบว่าจ่ายค่าน้ำมันเครื่องบินมากที่สุดถึง 18,717 ล้านบาท รองลงมาคือค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน 7,767 ล้านบาท ค่าบริการการบิน 5,179 ล้านบาท ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 5,151 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทมีสินทรัพย์ 300 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนมีสินทรัพย์ 307 ล้านบาท

ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังจะขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยกล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการในปีนี้คาดว่าจะขาดทุนสูงกว่าปีก่อนที่ขาดทุน 12,000 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะที่รายจ่ายยังสูงเท่า เดิม ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1 - 3 ของยังติดลบ ส่วนปัญหาที่จะต้องจัดหาเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินตั้งแต่ ก.ย. นี้ เป็นต้นไป หรือประมาณ 15,600 ล้านบาท ดังนั้น กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1,000 ล้านบาท และธนาคารออมสินอีก 5,000 - 7,000 ล้านบาท เพื่อรักษาสภาพคล่องและชำระหนี้ค่าเครื่องบินที่แอร์บัส 330 ที่จะรับมอบในเดือน ต.ค. นี้
ขณะที่ ร.อ.มนตรี จำเรียง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวถึงแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องในปี 2557 - 2558 ว่า การบินไทยต้องขอกู้เงินจากกระทรวงการคลังรวม 27,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ต.ค. 2557 จำนวน 20,000 ล้านบาท และ เม.ย. 2558 จำนวน 7,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นกระแสเงินสดในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงรักษาทุนสำรองของบริษัทให้อยู่ในระดับปลอดภัย หรือไม่ต่ำกว่า 15% ของรายได้

ส่วนการปรับลดพนักงานการบินไทย 6,000 คน ภายใน 5 ปี หรือลดจากปัจจุบัน 24,000 คน ให้เหลือ 18,000 คนในปี 2562 นั้น ในปีนี้จะปรับลดได้ประมาณ 1,500 คน แบ่งเป็นพนักงานที่มีปัญหาสุขภาพ 300 คน พนักงานที่เข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด 600 คน รวม 900 คน จะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนอีก 600 คน เป็นพนักงานเกษียณตามปกติมีการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว ส่วนปีต่อไปจะเฉลี่ยปรับลดพนักงานปีละ 1,200 คน ส่วนแผนการปลดระวางและขายเครื่องบินเก่ายังคงทำต่อเนื่องเพื่อลดค่าเสื่อมสภาพ เพราะในแต่ละปีการบินไทยต้องสูญเสียค่าเสื่อมสภาพ (ด้อยค่าเครื่องบิน) ไม่ต่ำกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นทางการบินไทยควรหยิบยกกรณีที่สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ หรือ JALอันเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ และเที่ยวบินขนส่งภายใน ที่การบินไทยเพิ่งจะออกมาพูดถึงกรณีจ่ายเงินเดือนให้แก่นักบินสูงสุด 1 ล้านบาทนั้น เป็นที่น่าสนใจว่า สายบินดังกล่าวเคยประสบกับวิกฤติล้มละลายเมื่อปี 2551 เนื่องจากมีการลงทุนซื้อเครื่องบินมากเกินจำเป็น รวมถึงมีบุคลากรมากเกินจำเป็นจำนวนถึง 50,000 หรือ30 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งฟื้นตัวจากวิกฤติล้มละลาย ได้กำไรมากถึง 8.14 หมื่นล้านบาทภายในระยะเวลาแค่ 2ปีเท่านั้น

ในวารสาร “TPA News” คอลัมน์ แกะรอยญี่ปุ่น ชื่อเรื่องว่า “Kazuo INNAMORI ผู้พลิกฟื้นสายการบิน JALเมื่อสายการบินแห่งชาติ JALล้มละลาย” เขียนโดย ผศ.ประยูร เชี่ยววัฒนา ได้เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ Kazuo INNAMORI ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก “Kyocera Corporation” ที่ได้เข้ามาฟื้นฟู JALในสภาวะล้มละลาย และนี่คือส่วนหนึ่งของแนวคิดที่น่าสนใจของผู้บริหารท่านนี้

“ผมรู้สึกอึดอัดใจเพราะบริษัทนี้ดูไม่เหมือนบริษัทเอกชนเอาเสียเลย เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงมักจะหาทางโอนย้ายตัวเองเข้ามาอยู่ ในตำแหน่งสูงๆ ของบริษัทนี้ ผมเองรู้สึกแปลกใจที่พบว่าไม่มีผู้นำที่แท้จริงซึ่งมีความสามารถสามัคคีพนักงานทั้งหมดเข้าด้วยกันในยามวิกฤติ หากเราไม่สามารถฟื้นฟู JAL กลับมาใหม่ได้ มันก็จะเป็น การซ้ำเติมอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อยู่แล้ว”

การบินไทยควรจะมองปัญหาของ JAL เป็นกรณีตัวอย่าง ในอนาคตธุรกิจสายการบินระดับภูมิภาคจะกลับมาเป็นอันดับหนึ่งได้ เหมือนดังที่การบินไทยตั้งเป้าหมายไว้คงอยู่แค่เอื้อม

แน่นอน ปัญหาการบินไทยคือเรื่องที่ท้าทายสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รวมกระทั่งถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตประธานบอร์ดการบินไทยที่กำลังจะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ที่สามารถกล่าวได้ว่า ให้ความสำคัญกั้บการบินไทยเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นคงไม่ส่ง บิ๊กโย่ง “พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์” ปลัดบัญชีกองทัพบก เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดการบินไทยในการแต่งตั้งเที่ยวล่าสุดเมื่อวันที่ 28 สิงหคม 2557 ที่ผ่านมาเป็นแน่แท้

แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือ บอร์ดยังได้แต่งตั้ง พล.ท.อนันตพร เป็นประธานคณะอนุกรรมการติดตามแผนฟื้นฟูการบินไทยควบอีก 1 ตำแหน่งด้วย

งานนี้ บอกได้คำเดียวว่า....ไม่ธรรมดา
กำลังโหลดความคิดเห็น