ผู้บริหารการบินไทยแถลงยันไม่มีนักบินลาออก 200 คนตามข่าว แต่ยอมรับตั้งแต่ปี 53 มีนักบินลาออกเฉลี่ยปีละ 30-40 คน ส่วนใหญ่ไปอยู่สายการบินตะวันออกกลางเพราะรายได้สูงกว่า อีกทั้งการโปรโมตขึ้นเป็นนักบินต้องใช้เวลา7-8 ปี และต้องเรียงอาวุโส ระบุการบินไทยมีมาตรฐานในการฝึก ค่าใช้จ่ายฝึกนักบินคนละ 4 ล้านบาทเพื่อให้นักบินมีมาตรฐานที่สุด ใครๆ ก็ต้องการซื้อตัวไป
พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีมีข่าวนักบินการบินไทยลาออกเป็นจำนวน 200 คนว่าไม่เป็นความจริง การบินไทยมีนักบินประมาณ 1,350 คน โดยตั้งแต่ปี 53 มีนักบิน นักบินผู้ช่วยลาออกเฉลี่ยประมาณ 30-40 คนต่อปีเท่านั้น โดยลาออกไปสายการบินตะวันออกกลางที่มีเงินเดือนสูงกว่า ซึ่งเป็นการเลือกเส้นทางชีวิตปกติที่ต้องการอยู่ในที่ที่มีผลตอบแทนมากกว่า ซึ่งนับตั้งแต่ปี 53-56 รวมประมาณ 200 คนข่าวที่ออกมาเป็นการนำตัวเลข 5 ปีรวมกัน ส่วนปี 57 มีลาออกประมาณ 30-40 คน ในขณะที่จะมีการรับนักบินเข้ามาทำงานในแต่ละปีเพื่อทดแทนด้วย
“ในการผลิตนักบินการบินไทยจะใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยเริ่มต้นเข้ามาเลยจะส่งไปฝึกบินเครื่องบินใบพัด 1 ปีที่โรงเรียนการบินหัวหิน นครพนม ดอนเมือง จากนั้นต้องกลับมาฝึกเครื่องยนต์ไอพ่น และประจำฝูงบิน รวม 8 ปีถึงจะขึ้นเป็นนักบินได้ การลาออกไปสายการบินอื่นคงต้องเปรียบเทียบเรื่องรายได้ ผลประโยชน์ ซึ่งบริษัท ไม่มีปัญหาขาดแคลนนักบิน ในขณะที่บริษัทกำหนดมาตรฐานนักบิน เพื่อให้บริษัทมีนักบินที่มีความรู้ความสามารถและบินด้วยความปลอดภัย” พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์กล่าว
ร.ท.อธิศักดิ์ พัดชื่นใจ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ การบินไทย กล่าวว่า ในปี 57 มีลาออกประมาณ 30-40 คน ซึ่งเป็นตัวเลขปกติ ในขณะที่จะมีการรับนักบินเข้ามาทำงานในแต่ละปีเพื่อทดแทน โดยคัดเลือกตามเกณฑ์มาตรฐาน ผ่านการฝึกตามขั้นตอนทำงาน 7-8 ปีจึงจะได้ขึ้นเป็นนักบิน ในขณะที่หากย้ายไปสายการบินอื่น โดยเฉพาะตะวันออกกลางจะใช้เวลา 1-2 ปีจะได้รับการโปรโมตขึ้นเป็นนักบินแล้ว เพราะผ่านการฝึกจากการบินไทยไปแล้ว ประกอบกับสายการบินตะวันออกกลางมีการขยายฝูงบินจึงต้องการนักบินมากจึงเสนอผลตอบแทนมหาศาล ซึ่งนักบินของการบินไทยมีการฝึกมาตรฐานมาแล้ว เป็นธรรมดาที่สายการบินอื่นจะอยากได้ ในขณะที่บริษัทไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่จะดึงดูดนักบินไว้ได้หมด
โดยบริษัทรับสมัครนักบินทุกปี โดยปี 57 อยู่ระหว่างการคัดเลือก จะเริ่มสอบเดือนกันยายนนี้ ซึ่งมีนักศึกษายื่นสมัคร 2,000 คน คาดว่าจะผ่านเกณฑ์ 80-90 คน และมีในส่วนที่เป็นนักบินผู้ช่วยจากสายการบินอื่นมาสมัครอีกประมาณ 85 คน ซี่งนอกจากต้องสอบผ่านเกณฑ์แล้ว จำนวนที่จะรับได้ในแต่ละปีนั้นจะต้องดูจากจำนวนเครื่องบิน เส้นทางบินประกอบด้วย โดยขณะนี้บริษัทมีมาตรการในการเพิ่มรายได้บางอย่างให้นักบิน เช่น ค่าตอบแทนพิเศษ ซึ่งต้องดูค่าใช้จ่ายของบริษัทประกอบด้วย
“การบินไทยสร้างคนจากศูนย์เป็นนักบิน ใช้เวลา 7-8 ปี ลงทุนฝึกนักบิน 1 คน ในเวลา 2 ปี ถึง 2 ปีครึ่งใช้เงินประมาณ 4 ล้านบาท แต่ยอมรับว่าหากเปรียบเทียบรายได้เทียบกับสายการบินตะวันออกกลางคงสู้ไม่ได้ และมีส่วนหนึ่งลาออกไปสายการบินโลว์คอสต์ ปัจจุบันธุรกิจการบินมีการแข่งขันสูง ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง มีผลต่อองค์กร ทำให้มีการซื้อตัวขึ้น ในขณะที่การโปรโมตขึ้นเป็นกัปตันต้องอยู่ที่ความต้องการของบริษัท และเรียงความอาวุโส ซึ่งอาจจะกระทบต่อบางคนที่อายุมากแล้วที่มองว่าหากไปสายการบินอื่นจะขึ้นเป็นกัปตันเลย และมีหลายสายการบินที่ผลิตนักบินเองไม่ทัน” ร.ท.อธิศักดิ์กล่าว
ด้าน ร.อ.อ.มนตรี จำเรียง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน การบินไทย กล่าวว่า อัตราเงินเดือนนักบินเจแปนแอร์ไลน์สูงที่สุดประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน แต่จะกำหนดชั่วโมงบินชัดเจน ส่วนสายการบินตะวันออกกลางเฉลี่ยที่ 7 แสนบาท ขณะที่การบินไทยเงินเดือน 2.4 แสนบาท ยังไม่รวมค่าชั่วโมงบิน และยอมรับว่าการปรับขึ้นเงินเดือนแต่ละปีค่อนข้างน้อย ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งให้นักบินออกไปอยู่สายการบินอื่นที่มีรายได้ดีกว่า