xs
xsm
sm
md
lg

สะพัด “กัปตัน-ผู้ช่วยนักบิน” การบินไทยกว่า 200 สมองไหลไปไทยแอร์เอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
การบินไทยป่วนซ้ำซาก หลังขาดทุนยับครึ่งปีแรก 7.6 พันล้าน ล่าสุด กัปตันและนักบินผู้ช่วยเครื่องแอร์บัส A330 และ A340 กว่า 200 คน หนีซบ “ไทยแอร์เอเชีย” ยอมจ่ายค่าปรับหลักล้าน เพราะประสบการณ์เยอะ ชี้ไม่มั่นใจสถานการณ์ไม่แน่นอน มีปัญหาภายใน เทียบกับคู่แข่งโอกาสก้าวหน้า การันตีเงินเดือนขึ้นปีละ 1 หมื่น โค-ไพลอตขึ้นเป็นกัปตันได้ใน 1 ปีครึ่ง ขณะที่จำปีขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง ไม่โวยวายก็นิ่ง “ไทยไลอ้อนแอร์ - นกสกู๊ต - โอเรียนท์ไทย” ก็ไปแล้ว



วันนี้ (24 ส.ค.) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า นักบินกว่า 200 คน เตรียมยื่นใบลาออกไปอยู่กับสายการบินคู่แข่ง โดยเป็นนักบินที่บินเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A330 และ A340 ซึ่งมีนักบินทั้งในตำแหน่งกัปตัน และนักบินผู้ช่วย (Co-pilot) ทั้งหมดได้ไปสมัครกับสายการบินไทยแอร์เอเชียไว้แล้ว

ส่วนสาเหตุการลาออกเป็นเพราะกลุ่มนักบินเริ่มไม่มั่นใจในสถานการณ์ความไม่แน่นอนของบริษัท และปัญหาการบริหารงานภายใน เมื่อเทียบกับสายการบินคู่แข่งที่มีโอกาสก้าวหน้ามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการรับประกันเงินเดือนที่ขึ้นทุกปี ปีละ 1 หมื่นบาท และนักบินผู้ช่วยสามารถขึ้นเป็นกัปตันได้ภายใน 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง เทียบกับการบินไทยที่ต้องทำงานนานถึง 10 ปี จนกว่าจะได้รับตำแหน่งกัปตัน ขณะที่การขึ้นเงินเดือนก็ไม่แน่นอน บางปีก็ไม่ปรับขึ้น หรือไม่ก็ต้องเรียกร้อง

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า สำหรับเครื่องบิน แอร์บัส รุ่น A330 และ A340 เป็นเครื่องบินที่ใช้บินในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นเส้นทางทำรายได้สำคัญของการบินไทย ขณะที่แอร์เอเชียก็ใช้เครื่องบินชนิดนี้ทำการบินอยู่แล้ว และจะนำเข้ามาอีก 5 ลำกลางปีหน้า (2558) นักบินการบินไทยที่บินกับเครื่องบินดังกล่าวทั้งหมด 460 คน หากต้องสูญเสียนักบินมากกว่า 200 คน การบินไทยต้องสูญเสียรายได้อย่างมาก เพราะเครื่องบินต้องจอดทิ้งไว้ ไม่สามารถทำการบินได้

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าสายการบินคู่แข่งอย่าง ไทยไลอ้อนแอร์ นกสกู๊ต หรือแม้กระทั่งโอเรียนท์ไทย ก็เริ่มมีนักบินจากการบินไทยไปอยู่แล้วเช่นกัน สำหรับมาตรการที่การบินไทยนำมาใช้ ก็คือ นักบินผู้ช่วยต้องชดใช้เงิน 8 ล้านบาท และกัปตันคิด 2 ล้านบาท หากทำงานไม่เกิน 8 ปี ซึ่งแหล่งข่าวกล่าวว่าไม่มีผลแต่อย่างใด เพราะนักบินที่จะลาออกมีประสบการณ์ทำงานหลายปี ดังนั้น เงินที่ต้องชดใช้จะลดหลั่นลงมาเมื่อเทียบกับรายได้และโอกาสก้าวหน้าในการทำงานที่ใหม่

อนึ่ง สำหรับผลการดำเนินงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไตรมาส 2 ประจำปี 2557 พบว่าบริษัท และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 7,654 ล้านบาท โดยส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 7,662 ล้านบาท ทั้งนี้ มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 42,767 ล้านบาท รายได้อื่น 1,667 ล้านบาท ซึ่งมาจากผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,008 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่าย 52,339 ล้านบาท ซึ่งพบว่าจ่ายค่าน้ำมันเครื่องบินมากที่สุดถึง 18,717 ล้านบาท รองลงมาคือค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน 7,767 ล้านบาท ค่าบริการการบิน 5,179 ล้านบาท ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 5,151 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทมีสินทรัพย์ 300 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนมีสินทรัพย์ 307 ล้านบาท

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เคยกล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการในปีนี้คาดว่าจะขาดทุนสูงกว่าปีก่อนที่ขาดทุน 12,000 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะที่รายจ่ายยังสูงเท่าเดิม ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1 - 3 ของยังติดลบ ส่วนปัญหาที่จะต้องจัดหาเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินตั้งแต่ ก.ย. นี้ เป็นต้นไป หรือประมาณ 15,600 ล้านบาท ดังนั้น กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1,000 ล้านบาท และธนาคารออมสินอีก 5,000 - 7,000 ล้านบาท เพื่อรักษาสภาพคล่องและชำระหนี้ค่าเครื่องบินที่แอร์บัส 330 ที่จะรับมอบในเดือน ต.ค. นี้

ขณะที่ ร.อ.มนตรี จำเรียง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวถึงแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องในปี 2557 - 2558 ว่า การบินไทยต้องขอกู้เงินจากกระทรวงการคลังรวม 27,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ต.ค. 2557 จำนวน 20,000 ล้านบาท และ เม.ย. 2558 จำนวน 7,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นกระแสเงินสดในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงรักษาทุนสำรองของบริษัทให้อยู่ในระดับปลอดภัย หรือไม่ต่ำกว่า 15% ของรายได้

ส่วนการปรับลดพนักงานการบินไทย 6,000 คน ภายใน 5 ปี หรือลดจากปัจจุบัน 24,000 คน ให้เหลือ 18,000 คนในปี 2562 นั้น ในปีนี้จะปรับลดได้ประมาณ 1,500 คน แบ่งเป็นพนักงานที่มีปัญหาสุขภาพ 300 คน พนักงานที่เข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด 600 คน รวม 900 คน จะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนอีก 600 คน เป็นพนักงานเกษียณตามปกติมีการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว ส่วนปีต่อไปจะเฉลี่ยปรับลดพนักงานปีละ 1,200 คน ส่วนแผนการปลดระวางและขายเครื่องบินเก่ายังคงทำต่อเนื่องเพื่อลดค่าเสื่อมสภาพ เพราะในแต่ละปีการบินไทยต้องสูญเสียค่าเสื่อมสภาพ (ด้อยค่าเครื่องบิน) ไม่ต่ำกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท

อนึ่ง พล.อ.อ.ประจิน ได้ลาออกจากกรรมการและประธานบอร์ด เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ทำให้มีเวลาในการทำหน้าที่บอร์ดและประธานบอร์ดการบินไทยน้อยลง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. เป็นต้นไป พร้อมกับแต่งตั้งให้ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม รองประธานบอร์ด ทำหน้าที่รักษาการประธานบอร์ดบริษัทแทน


กำลังโหลดความคิดเห็น