xs
xsm
sm
md
lg

Hot Issue : ข้อมูลชี้ สายการบินใน “อาเซียน” กำลัง “ขาดแคลนนักบิน” ขั้นวิกฤต ดีแต่เน้นซื้อเครื่องบินใหม่-ทุ่มงบโฆษณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ข้อมูลล่าสุดชี้อุตสาหกรรมการบินใน “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ขาดความสมดุล เน้นแต่การสั่งซื้อเครื่องบินลำใหม่และอัดงบโฆษณาหวังแย่งลูกค้า ทั้งๆ ที่หลายสายการบินในภูมิภาคนี้กำลังประสบปัญหา “ขาดแคลนนักบิน” ขั้นเลวร้าย

ข้อมูลล่าสุดซึ่งอ้างเบรนแดน โซบี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากองค์กรที่ปรึกษาด้านการบิน “ซีเอพีเอ” ซึ่งมีฐานอยู่ในนครซิดนีย์ของออสเตรเลียระบุว่า สายการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมีการเติบโตแบบไร้ความสมดุล โดยส่วนใหญ่จะเน้นให้ความสำคัญเฉพาะกับการจัดซื้อเครื่องบินลำใหม่ และการทุ่มเงินไปกับแคมเปญโฆษณาเพื่อดึงดูดผู้โดยสาร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังประสบปัญหาการขาดแคลน “นักบิน” อย่างรุนแรง โดยเฉพาะนักบินที่มีประสบการณ์และชั่วโมงบินสูง

รายงานเชิงวิเคราะห์ของซีเอพีเอล่าสุดระบุว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นล่าสุดกับเที่ยวบิน “8501” ของสายการบินแอร์เอเชีย ที่ดิ่งลงทะเลชวา หลังขึ้นบินได้เพียง 42 นาทีจากเมืองสุราบายาของอินโดนีเซีย ถือเป็นโศกนาฏกรรมด้านการบินที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญที่สายการบินต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญจากผลพวงของการเติบโตแบบไร้สมดุล

รายงานระบุว่า ในปัจจุบันมีเครื่องบินผลิตใหม่ถูกส่งออกจากโรงงานผลิตของแอร์บัส โบอิ้ง และผู้ผลิตรายอื่นๆโดยเฉลี่ย 28 ลำต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นอัตราการผลิตเครื่องบินใหม่ที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของแวดวงการบินเชิงพาณิชย์ โดยที่ปลายทางของเครื่องบินผลิตใหม่เหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ที่สายการบินต่างๆ ในเอเชีย

การเติบโตอย่างรวดเร็วของสายการบินเอเชียโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากจำนวนชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อซึ่งมีมากขึ้น และกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสายการบินต่างๆ ที่ต้องการดึงชนชั้นกลางเหล่านี้เข้ามาเป็นลูกค้า จนเกิดการทุ่มงบโฆษณาแบบขนานใหญ่ และนำไปสู่การละเลยปัญหาด้านความปลอดภัยที่มีการเร่งผลิตนักบินใหม่แบบไร้คุณภาพ เพียงเพื่อให้ทันต่อปริมาณเครื่องบินใหม่ที่ถูกสั่งซื้อเข้ามาในฝูงบินของแต่ละสายการบิน

ก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่อย่าง “โบอิ้ง” เคยประเมินว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความต้องการ “นักบินใหม่” สูงถึง 216,000 ตำแหน่งภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของความต้องการนักบินทั่วโลก ขณะที่จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินในภูมิภาคนี้จะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นจนมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 42 ของผู้โดยสารทั่วโลก หรือกว่า 1,800 ล้านคนใน 20 ปีเช่นกัน

นอกเหนือจากปัญหาของสายการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการขาดแคลนนักบินผู้มีประสบการณ์แล้ว สายการบินต่างๆในภูมิภาคนี้ยังประสบปัญหาการสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถสูงโดยเฉพาะในตำแหน่งนักบิน วิศวกรการบินและช่างเทคนิคจำนวนมากไปให้กับสายการบินใน “ตะวันออกกลาง” ที่พร้อม “จ่ายไม่อั้น” เพื่อซื้อตัวบุคลากรเหล่านี้ไปร่วมงาน ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนนักบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลวร้ายยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น