รายงานพิเศษ
ย้อนกลับมาดูข้อโต้แย้งเรื่องการคืนสาธารณสมบัติของแผ่นดินหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาที่ยืดเยื้อยาวนานมานับสิบปี อาจจะได้ข้อยุติในสมัยรัฐบาลคสช.ก็เป็นไปได้ เพราะก่อนหน้าที่จะมีเวทีถาม-ตอบปัญหาพลังงาน เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2557 ทางปตท. โดยนายไพรินทร์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2557 เพื่อขอให้ศาลให้ความชัดเจนที่เป็นข้อยุติเกี่ยวกับการคืนท่อก๊าซฯให้กระทรวงการคลัง ตามคำสั่งศาลตั้งแต่ปี 2550 เนื่องจากสังคมวิพากษ์วิจารณ์มากว่าปตท.คืนท่อก๊าซฯ ไม่ครบถ้วน จึงอยากให้เรื่องนี้มีข้อยุติโดยเร็ว
ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลฯ ปตท. ระบุว่า ที่ผ่านมาศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยไปแล้วว่า ปตท.ได้คืนท่อก๊าซฯครบถ้วนแล้ว และคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยนั้นก็รับทราบการคืนท่อก๊าซฯ อย่างถูกต้องแล้ว
ส่วนกรณีข้อเรียกร้องให้ ปตท.คืนท่อก๊าซฯในทะเลอ่าวไทยให้กลับมาเป็นสาธารณสมบัติของชาติด้วยนั้น นายไพรินทร์ ยืนยันว่าท่อก๊าซฯของ ปตท.ในอ่าวไทยตั้งอยู่นอกเขตน่านน้ำไทย ซึ่งตามกฎหมายสากลแต่ละประเทศจะมีสิทธิ์เป็นเจ้าของน่านน้ำได้ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล ดังนั้นท่อก๊าซฯจึงเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในน่านน้ำสากล การจะเอาคืนคงต้องตีความกันใหม่ ที่ผ่านมาปตท.เป็นผู้ลงทุนท่อก๊าซฯในทะเลเองทั้งหมดไม่ได้อำนาจรัฐไปรอนสิทธิ์ประชาชนแต่อย่างใด แต่หากจะให้เรื่องดังกล่าวยุติคงต้องเป็นหน้าที่ของศาลเป็นหลักเช่นกัน
คำยืนยันของปตท.ดังกล่าว สวนทางกับการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2557 ที่มีเนื้อหาสำคัญระบุถึงหน้าที่ของสตง.ตามมติครม. 18 ธ.ค. 2550 ในการรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยพบว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินที่ ปตท.โอนให้กับกระทรวงการคลังมูลค่า 16,176.19 ล้านบาทนั้นยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
“เนื่องจากยังมีทรัพย์สินส่วนที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(3) ทั้งบนบกและในทะเล มูลค่ารวม 32,613.45 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ดำเนินการแบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ให้แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.”
หนังสือของ สตง. ยังระบุถึงการแจ้งผลการตรวจสอบลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ให้ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและบริษัท ปตท.เพื่อพิจารณาดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด จากนั้น ปตท.ทำหนังสือถึง สตง.ลงวันที่ 21 มกราคม 2552 อ้างถึงรายงานสรุปการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลัง ต่อศาลปกครองสูงสุดลงวันที่ 25 ธันวาคม 2551 และศาลปกครองสูงสุดได้สั่งในคำร้องวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ถึง 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ต่อมา สตง.ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 20 ก.พ. 2552 แจ้งรายงานผลการตรวจสอบของ สตง.อีกครั้งซึ่งกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน แจ้งกลับมายัง สตง.ว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินเสร็จสิ้นตามคำพิพากษาฯแล้ว เพราะดุลพินิจและอำนาจที่จะสั่งการว่าการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินฯว่าครบถ้วนหรือไม่เป็นของศาลปกครองสูงสุด
อย่างไรก็ตาม สตง.ไม่เห็นด้วย เพราะการวางระบบท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเลที่ยังมิได้แบ่งแยกเป็นทรัพย์สินที่ต้องส่งคืนกระทรวงการคลังเนื่องจากเป็นการใช้อำนาจมหาชนตามพระราชบัญญัติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 รวมถึงอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อก๊าซถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ จึงอยู่ในบังคับที่ต้องแบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลังด้วยเช่นกัน ซึ่งตามมติ ครม. 18 ธ.ค. 2550 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาเพื่อหาข้อยุติในข้อกฎหมายที่มีการโต้แย้งกัน ทาง สตง.จึงเสนอรายงานผลการตรวจสอบต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2554 และทำหนังสือติดตามผลไปยังกระทรวงการคลังในวันที่ 5 พ.ย.2555
ต่อมา กระทรวงการคลัง ทำหนังสือถึง สตง.ลงวันที่ 6 กันยายน 2556 สรุปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท.และคณะรัฐมนตรีต่างก็เห็นชอบด้วยกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุด หาก สตง.มีประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินดังกล่าว ก็ชอบที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทางสตง.จึงขอเสนอรายงานผลการตรวจสอบฯต่อหัวหน้า คสช.เพื่อพิจารณาดำเนินการให้ได้ข้อยุติในอันที่จะทำให้เกิดความโปร่งใส ถูกต้อง ครบถ้วน และทำให้สาธารณชนมั่นใจต่อระบบของทางราชการต่อกรณีการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
นั่นเป็นเหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งให้กระทรวงพลังงาน ไปหารือกับ สตง.และกฤษฎีกาเพื่อหาข้อยุติทางกฎหมายและมีคำสั่งชะลอการให้ ปตท.แยกกิจการท่อก๊าซออกมาตั้งบริษัทใหม่ ตามมติ กพช.วันที่ 15 ส.ค.57 ออกไปก่อนแล้ว
นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตส.ว.สรรหา ได้โพสเฟซบุ๊ก ให้ความเห็นว่า ประเด็นที่น่าจะง่ายที่สุดและมีข้อขัดแย้งน้อยที่สุดของการปฏิรูปพลังงานคือเรื่องการคืนท่อส่งก๊าซทั้งหมดให้กลับมาเป็นของรัฐ 100 เปอร์เซนต์ ทั้งท่อบนบก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อในทะเลในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของประเทศไทยที่เป็นสาระสำคัญของระบบ จะไปเถียงกันให้เปล่าประโยชน์ทำไมว่าใช้เงินของรัฐหรือเงินของปตท.เนื่องจากมันก็ค่าเท่ากัน เพราะเป็นการลงทุนก่อนแปรรูปในสมัยที่ปตท.เป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์
“และก็อย่ามาเถียงแบบแถในกันประเด็นข้อกฎหมายจากคำพิพากษาศาลปกครองว่าด้วย 'การใช้อำนาจมหาชนไปรอนสิทธิที่ดินเอกชน' นั้นหมายถึงเฉพาะท่อบนบกเท่านั้น ส่วนท่อในทะเลใน EEZ ไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนไปรอนสิทธิที่ดินเอกชน เพราะเป็นการวางท่อเฉย ๆ บนพื้นดินใต้ทะเลที่ไม่ได้มีเอกชนรายใดเป็นเจ้าของ ก็เลยไม่ต้องคืน เพราะถือว่าอยู่นอกคำพิพากษาศาลปกครอง
“ไม่อายบ้างกันบ้างเลยหรือที่เถียงแบบแถเช่นนี้
“ก็ท่อส่งก๊าซที่วางบนพื้นทะเลในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยน่ะ ถ้าไม่ใช่รัฐไทยหรือใช้อำนาจรัฐไทยจะทำได้หรือ แม้ว่าจะไม่ใช่ประเด็นการใช้อำนาจมหาชนไปรอนสิทธิเอกชนรายใดเหมือนการวางท่อก๊าซบนบกก็ตาม แต่มันก็เป็นการกระทำโดยอาศัยความเป็นรัฐเหมือนกัน
“ที่จริงมันไม่ควรจะเป็นปัญหาด้วยซ้ำ หากแยกคืนรัฐเสียให้หมดก่อนแปรรูปปตท. นี่ต้องรอให้ประชาชนอย่างกลุ่มคุณรสนา โตสิตระกูลเขาฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนการแปรรูปถึงค่อยเป็นประเด็นขึ้นมา แล้วก็ยังมายึกยักยันกันอีกหลายปี
“คสช.และรัฐบาลคสช.ตัดสินใจได้ไม่ยากเลยครับประเด็นนี้ เพราะรัฐก็ยังถือหุ้นในปตท.อยู่ 51 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นนโยบายของรัฐ ก็ให้ปตท.มีมติคืนเสียให้หมดครบทั้งระบบทั้งท่อบนบกและท่อในทะเลในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย แล้วจะมาบริหารอย่างไรก็สุดแท้แต่ แต่ต้องอยู่บนหลักการเป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีการแปรรูปอีกเด็ดขาด ตัดสินใจได้อย่างนี้ก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี ก่อนจะสู่ประเด็นอื่นในการปฏิรูปพลังงานที่ยากกว่านี้หลายร้อยหลายพันเท่า โดยเฉพาะประเด็นหัวใจ เปลี่ยนระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิต!” อดีตส.ว.คำนูณแสดงทัศนะเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา