xs
xsm
sm
md
lg

ปมทวงคืนสมบัติชาติ คสช.ก้าวข้ามไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายการเมือง

การเดินขบวนชุมนุมของ “เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานภาคใต้” ที่เริ่มเคลื่อนไหวกันตั้งแต่ วันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นกลุ่มมวลชนที่หยิบเรื่องใหญ่ของประเทศไทยขึ้นมาเพื่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมว่ามีแนวทางอย่างไร

แต่ดูเหมือน “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ที่นำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีป้ายแดง จะไม่ค่อยอินรู้สึกรู้สากับประเด็น “สมบัติชาติ” ที่หลายฝ่ายพยายามเรียกร้อง

และอยากให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปเฉยๆ

แต่การที่ คสช.งัดไม้แข็งจับควบคุมตัวบรรดาแกนนำเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานภาคใต้ โดยระบุข้อหาว่าขัดขืน “กฎอัยการศึก” ที่ห้ามการชุมนุมเอาไว้โดยเด็ดขาด

กลับเป็นแรงส่งที่ช่วยตีปิ๊บขยายความเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ล่าสุด “วีระ สมความคิด” แกนนำเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมพวกรวม 7 คน ก็ถูกตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจับกุม ขณะที่ร่วมเดินรณรงค์กับกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปพลังงานที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

กลับกลายเป็นว่า คสช.หันมาเอาจริงเอาจังกับการชุมนุมของทุกกลุ่ม-ทุกสี โดยไม่แยกแยะว่าการชุมนุมประเด็นไหนที่สร้างสรรค์และทำให้สังคมไทยดีขึ้น ซึ่งตรงนี้ คสช.ควรที่จะรับฟังเอาไว้บ้าง

เพราะบางเรื่องเป็นผลประโยชน์สำคัญของชาติ คนมาดีต่างจากคนมาร้าย

เว้นแต่ คสช.ตีความเจตนาการชุมนุมผิดไป หรือตั้งใจตีความให้ผิดจริงๆ

อย่าลืมว่าเรื่องการปฏิรูปพลังงานไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีผลประโยชน์ที่สลับทับซ้อนกันอยู่ของกลุ่มคนบางกลุ่ม หลายครั้งมีข่าว “บิ๊กทหาร” เกี่ยวพันจนชุลมุนชุลเกไปหมด

เมื่อเป็นที่จับตาของคนในสังคม คนที่คิดจะถือผลประโยชน์ใน “ปตท.” ต้องคิดให้ซ่อนเงื่อนมากยิ่งขึ้น

ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สั่งการให้ ปตท.ต้องดำเนินการแยกท่อก๊าซฯ ออกจากกิจการของ ปตท.โดยให้ตั้งเป็นบริษัท

เบื้องต้น ปตท.ถือหุ้น 100% แล้วให้ “กระทรวงการคลัง” มาถือหุ้นบริษัทดังกล่าว 20-25% ในระยะต่อไป โดยให้ดำเนินการแยกเป็นบริษัทจำกัดให้เสร็จภายในกลางปี 2558 ซึ่งทาง ปตท.จะเร่งดำเนินการ

โดย “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท ปตท.ระบุว่า การโอนทรัพย์สินไปยังบริษัทท่อส่งก๊าซใหม่ จะเป็นการโอนทรัพย์สินในส่วนที่ ปตท.เป็นเจ้าของในปัจจุบัน แต่ทรัพย์สินในส่วนที่รัฐเป็นเจ้าของ กระทรวงการคลังก็ยังคงสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของเช่นเดิม

“อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเคารพคำสั่งศาล ไม่ควรก้าวล่วง ซึ่งที่ผ่านมาศาลมีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว หากยังตีความกันเองต่อไป จะไม่มีข้อยุติอะไรเลย”

ทว่า หลายฝ่ายก็ออกมาจับผิด “ไพรินทร์” ว่าไม่ได้พูดความจริงทั้งหมด แล้วมาอ้างคำสั่ง “ศาล” ถือเป็นที่สุดแล้ว

โดยเฉพาะ “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา แบบสรรหา ออกมาระบุว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ระบุไว้ในหน้า 73 คำสั่ง 1 ใน 3 ข้อที่ผู้บริหาร ปตท.ไม่พูดถึงคือคำสั่งที่ให้ ปตท.คืน “ทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน”

“ทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ศาลฯ ระบุชัดเจนในคำบรรยายว่า “รวมทั้งทรัพย์สินในระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งรวมถึงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติตามที่ ปตท. (สมัยที่ยังไม่แปรรูป) มีอยู่แต่เดิม”

“สมมติว่าคำสั่งเป็นว่าให้คืนทรัพย์สินที่เป็นรถยนต์ของหลวงที่มีการฉ้อโกงไป เขาส่งคืนเป็นล้อรถมาให้ 2 ล้อ แล้วพากันมาใช้ทีวีของรัฐชี้แจงต่างๆ นานาว่าได้คืนทรัพย์สินของแผ่นดินครบแล้ว วิญญูชนลองพิจารณาดูว่าเขาคืนทรัพย์สินของแผ่นดินครบแล้วจริงหรือไม่”

ข้อสังเกตที่ “รสนา” ตั้งขึ้น กระทบต่อการบริหารงานใน ปตท.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากแยกท่อก๊าซออกจาก ปตท.ไปจัดตั้งบริษัท ก็ควรทำให้ถูกต้องทั้งหมดตามขั้นตอน

ทว่าผลเสียจะตกอยู่กับประโยชน์ของชาติทันที เพราะหากแยกท่อก๊าซออกจาก ปตท.โดยให้จัดตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารจัดการแทน ราคาของก๊าซจะพุ่งสูงขึ้นโดยปริยาย ผลกำไรทั้งหมดก็จะตกกับบริษัทใหม่ที่สัดส่วนของภาครัฐน้อยลง กลายเป็นของเอกชนไปโดยปริยาย

ขึ้นชื่อว่า “เอกชน” ย่อมไขว่คว้าหาผลประโยชน์รอเขมือบอยู่

ไม่เท่านั้นยังมีเสียงท้วงอีกมาว่า “คำสั่งศาล” ได้ให้ ปตท.ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการแยกท่อก๊าซออกจาก ปตท.ไปยังกระทรวงการคลัฃในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

ทว่า ปตท.กลับชี้แจงด้วย “เศษกระดาษ” ลงลายมือเขียนขึ้นเองว่ามีการส่งมอบถูกต้องเท่านั้น ไม่มีการจัดทำเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ และไม่มีข้อมูลอรรถาธิบายแต่ประการใด

ทำให้หลายฝ่ายตีความเจตนาของ ปตท.ว่าคงไม่ต้องการทำอะไรให้เป็นหลักฐานมัดตัวในอนาคต เพราะหากมีความผิดจริงจะอาจทำให้ติดคุกหัวโตได้

การชี้แจงที่เป็นเอกสารทำในนาม ปตท.เป็นหลักฐานมัดตัวหนาแน่น ระดับผู้บริหาร ปตท. รู้เรื่องนี้ดี จึงไม่มีใครกล้าออกเป็นเอกสารทางการ

แค่นี้ก็บ่งบอกแล้วว่ายังมีความซับซ้อนให้เห็น สะท้อนว่า ปตท.ยุคนี้ก็ไม่ต่างกับยุคที่นักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์

ชื่อของ “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ที่เพิ่งเข้ามานั่งเก้าอี้ “ประธานบอร์ด ปตท.” ภายหลังที่คสช.ยึดอำนาจ กลับมาถูกโฟกัสอีกครั้ง

เพราะอันที่จริงแม้ยี่ห้อ “ปิยสวัสดิ์” มีภาพกูรูพลังงาน แต่หากสแกนถึงข้างในหัวใจแล้วภาพลักษณ์อาจจะไม่ได้สวยหรูเหมือนชื่อเสียงวันเก่าๆ

โดยเฉพาะปมหมกเม็ดเเก้เอกสารเมื่อครั้งเป็น รมว.พลังงาน ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี 2551 จนความหมายของคำว่าสมบัติชาติ-ประโยชน์สาธารณะ ผิดเพี้ยนไปจากคำสั่งศาล ที่ “รสนา” ขุดคุ้ยมาแฉ

“บิ๊กตู่” ที่ชั่วโมงนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ถืออำนาจเต็ม อย่าลืมมองข้ามประเด็นที่ “กลุ่มปฏิรูปพลังงาน” เรียกร้อง อย่างน้อยก็ต้องเงี่ยหูฟังอย่าตีขลุมเหมารวมว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง

เพราะประเด็นกินเล็กกินน้อย แต่กินได้นานๆ อาจจะย้อนศรมาทำร้ายตัว “บิ๊กตู่” และ “คสช.” ทั้งคณะได้

หากไว้ใจ “ผู้บริหาร ปตท.” จนหน้ามืด สิ่งที่ปลุกปั้นมาจนเรตติ้งกระฉูด ก็อาจจะเสียของเอาง่ายๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น