รายงานพิเศษ
การแแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในด้านพลังงาน ซึ่งประกอบด้วย ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล, นายการุณ กิตติสถาพร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายบรรพต หงษ์ทอง อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายพละ สุขเวช, นายวิเศษ จูภิบาล ซึ่ง 3 คนหลังนี้เป็นอดีตผู้บริหารสูงสุดของปตท. ก็ต้องบอกว่า ไม่น่าจะมีอะไรใหม่ในการปฏิรูปพลังงานอย่างที่ประชาชนคาดหวัง เพราะเชื่อว่าการคัดสรร "คณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน" เข้ามาทำหน้าที่คงไม่หนีไปจากคนหน้าเดิมๆ ที่บริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศมาก่อนหน้านี้
หากจะอธิบายความเพิ่มเติมจากประกาศดังกล่าว ก็ต้องบอกว่า งานนี้แต่ละสายส่งตัวแทนเข้ามาอย่างพร้อมเพรียง กล่าวคือ สาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา คสช. พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ก็มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นเสมือนผู้แทน เป็น ซ.ค.หรือเซนต์คาเบรียลคอนเนกชัน ส่วนชินวัตรคอนเนกชันก็ส่งอดีตผู้บริหาร ปตท. คือ นายพละ สุขเวช, นายวิเศษ จูภิบาล, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เข้ามา และอาจนับรวมนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เข้าไปด้วยเพราะอดีตแทคโนแครตจากสภาพัฒน์คนนี้ก็รุ่งเรืองในยุคทักษิณไม่น้อย ขณะที่ฟากพระสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ก็ชัดเจนว่า ส่งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่เข้าไปยึดหัวหาดในตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. ก่อนหน้านี้แล้ว
ชื่อเสียงเรียงนามข้างต้น ยังชวนให้จับตาว่าจะเป็นการส่งสัญญาณต่อสังคมหรือไม่ว่า งานนี้ ปตท.อาจจะมีสิทธิ์แปลงกายเป็นเอกชนเต็มตัว ดูจากแผนการแยกท่อก๊าซฯ จากปตท.ออกมาตั้งบริษัทใหม่ที่เพิ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. นั่งเป็นประธาน ไปหมาดๆ และอาจลามเลยไปถึงรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงานที่ชื่อ นายวิเศษ จูภิบาล เคยปลุกปล้ำจะแปรรูปเอา กฟผ. เข้าตลาดหุ้นมาแล้วในยุครัฐบาลทักษิณ 2 มาแล้ว เดชะบุญที่แผนการต้องล้มเลิก เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับการกระจายหุ้น กฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตาม ต้องขอย้ำอีกครั้งคือ ไม่ได้บอกว่าพวกเขามีอำนาจที่จะทำให้เป็น เช่นนั้นโดยตรง เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มบุคคลที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหา มีแนวคิด มีประสบการณ์ ทำอะไรกันมาก่อน และมีคอนเนกชันกับสายอำนาจไหนบ้าง ซึ่งเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกมองว่าเมื่อพวกเขาจะต้องเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปพลังงาน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เลือกคนที่มีแนวคิดเฉกเช่นเดียวกัน
คณะกรรมการสรรหาฯ ที่ คสช. ตั้งขึ้นครั้งนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ผู้ที่ได้ชื่อว่าอยู่ในกลุ่มก๊วน “ชินวัตรคอนเนกชัน” มีสัดส่วนสูง คือ 3-4 คน ในจำนวนทั้งหมด 7 คน อีกต่างหาก
หากไล่เรียงที่มาที่ไปของคณะกรรมการสรรหาฯ ดังกล่าวข้างต้น ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาโดยเฉพาะในแวดวงพลังงานแล้ว 4 ใน 7 คน คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร, นายวิเศษ, นายประเสริฐ และนายพละ ก็ล้วนแต่เป็นผู้ทรงอิทธิพลและมีอำนาจบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ และอีกคน คือนายจักรมณฑ์ ก็เคยเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดปตท.มาแล้วในสมัยที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
กล่าวสำหรับ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล (หม่อมอุ๋ย) อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรมว.คลัง เคยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีในตำแหน่งประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในยุครัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเวลานั้น นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งเป็นรมว.กระทรวงพลังงาน และรัฐประหารครั้งล่าสุด "หม่อมอุ๋ย" ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. และนายปิยสวัสดิ์ ก็ได้รับเลือกให้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการ บมจ.ปตท.
ตัวอย่างผลงานสำคัญด้านพลังงานที่ต้องบันทึกไว้ ขณะที่ "หม่อมอุ๋ย" นั่งประธาน กพช. เช่น มติ กพช.ครั้งที่ 4/2549 (ครั้งที่ 107) เมื่อวันจันทร์ที่ 6 พ.ย. 2549 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล มีมติให้มีการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี (กระทรวงพลังงาน) องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปิโตรเลียม รวมทั้งขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติและอนุญาตเกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น "เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม"
อีกหนึ่งผลงาน ก็คือ การมีมติกพช.ครั้งที่ 2/2550 (ครั้งที่ 111) เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2550 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เรื่อง การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ โดยเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมการศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ เป็นมตินำร่อง
หลังจากนั้น มีการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว กระทั่งบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2010) ของกฟผ. ที่วางแผนสร้าง 5 โรง จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ โดยแห่งแรกจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 ส่วนโรงที่ 2, 3, 4 และ 5 จะผลิตไฟเข้าสู่ระบบในปี พ.ศ. 2564, 2567, 2568 และ 2571 ตามลำดับ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ญี่ปุ่นระเบิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้ กฟผ.ต้องพับแผนนี้ไปก่อน
สำหรับอีก 3 คน คือ นายประเสริฐ เป็นอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท., นายพละ อดีตผู้ว่าการปตท. และนายวิเศษ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน (นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) และรมว.กระทรวงพลังงาน ยุครัฐบาลทักษิณ 2 ก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน
โฟกัสไปที่นายวิเศษ จูภิบาล ก่อนใครอื่น เขาผู้นี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในรัฐบาลทักษิณ กล่าวคือ ขณะที่นั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ก็เป็นคีย์แมนคนสำคัญในการแปรรูป ปตท. จนสำเร็จ และเมื่อลุกจาก ปตท. ก็เข้ามาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ก.พ. 2546 - ม.ค. 2548) ก็สร้างผลงานชิ้นเอกอุต่อเนื่องก็คือ สานฝันรัฐบาลพรรคไทยรักไทยแปรรูป กฟผ. จนเกือบสำเร็จ หากไม่เจอคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเสียก่อน ป่านฉะนี้ กฟผ.ก็คงเข้าตลาดหุ้นเรียบร้อยโรงเรียนชินวัตรไปแล้ว
นายวิเศษ ได้ชื่อว่าเป็นกุนซือคนสำคัญของ นพ.พรหมินทร์ เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว รัฐบาลทักษิณนั้น หาได้มีความเชี่ยวชาญช่ำชองในกิจการพลังงานมาตั้งแต่ต้นด้วยว่าเติบโตมาจากธุรกิจโทรคมนาคมเป็นหลัก กระทั่งมาเจอเพชรเม็ดงามที่ชื่อ "วิเศษ จูภิบาล" นี่แหละที่ทำให้รัฐบาลทักษิณ สามารถทะลุทะลวงเข้าสู่ใจกลางธุรกิจด้านพลังงาน กิจการสาธารณูปโภคที่เป็นเส้นเลือดสำคัญของประเทศ และเมื่อนพ.พรหมินทร์ ลุกจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปรับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ก็ส่งมอบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (11 มี.ค. 2548 - 19 ก.ย. 2549) ในรัฐบาลทักษิณ 2 ให้กับนายวิเศษ คนนี้นี่เอง
"กรุงเทพธุรกิจบิสวีค" เคยบรรยายฝีไม้ลายมือขั้นเทพของนายวิเศษ เอาไว้ว่า นอกจากจะเป็นพี่เลี้ยงข้างกายนพ.พรหมินทร์ แล้ว เขายังอยู่เบื้องหลัง "กุศลโลบาย" ในการ "กล่อมแกมบังคับ" ให้พนักงาน กฟผ. กว่า 26,000 คน ยอมอ่อนให้ข้อกับนโยบายแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) เพื่อเร่งรัดเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือน พ.ค. 2548 เร็วกว่ากำหนดเดิมถึง 2 เดือน นอกเหนือจากเงื่อนไขการขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน กฟผ. 15% ยืนยันไม่ปลดพนักงานก่อนเกษียณ และข้อเสนอของ กฟผ. ที่ต้องการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าสัดส่วน 50% ของความต้องการใช้ในประเทศ และต้องการเป็นผู้ซื้อไฟแต่เพียงผู้เดียว
ไพ่ใบสุดท้ายที่ทำให้ กฟผ. ต้องผงะ คือ แผนการที่กระทรวงพลังงานระบุว่า ต่อจากนี้ไป กฟผ. จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเดียวที่ผูกขาดการผลิตไฟฟ้าอีกต่อไป เมื่อกระทรวงพลังงานมีนโยบายชัดเจนที่จะผุดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาดเล็กขนาด 20-30 เมกะวัตต์ กระจายตามแนวการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติมากถึง 400 โครงการ แทนการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนสูง
ตัวละครที่เข้ามาในจังหวะที่พอเหมาะคือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ เพราะ นพ.พรหมินทร์ ใช้ ปตท. เป็นเครื่องมือกดดัน กฟผ. ด้วยประโยคทองที่ว่า ปตท. จะเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กตามแนวท่อส่งก๊าซแบบไม่ง้อ กฟผ. และขู่อีกว่า..."รัฐบาลมีนโยบายชัดเจน โดยกระทรวงการคลังจะตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งขึ้นมาถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ และดูแลการบริหารจัดการ หากรัฐวิสาหกิจใดไม่ปรับตัวก็เลือกอีกแหล่งมาดำเนินการแทนได้ ทำให้ประเทศมีทางเลือกสูงขึ้น"
วงใน ระบุว่า ข้างหลังท่วงทำนองอันแยบยลของกระทรวงพลังงานในการผลักดันให้พนักงาน กฟผ. ยอมรับการแปรรูป มีชื่อของ "วิเศษ จูภิบาล" อยู่ด้วยโดยไม่มีข้อสงสัย โดยเฉพาะในหมากที่มี ปตท. เป็นตัวเดินเกม เพราะเขาคืออดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ซึ่งลงจากตำแหน่งแล้วส่งไม้ต่อให้กับ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนต่อมา
นอกจากนั้นแล้ว นายวิเศษ ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาค มูลค่าหลายแสนล้านบาท รวมทั้งโครงการปิโตรเคมี ระยะที่สาม ที่มีมูลค่า 4 แสนล้านบาท ที่ ปตท. เป็นแกนนำสำคัญ
โดยโครงการนี้ทำคลอดกันแบบพิกลพิการในยุครัฐบาลทักษิณ 1 ถึงรัฐบาลทักษิณ 2 และต่อเนื่องมาสำเร็จในยุครัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ปัจจุบัน นายวิเศษ จูภิบาล เป็นกรรมการบริษัทที่ยังเปิดดำเนินการ 5 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด บริษัท เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 2.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ถือหุ้นใหญ่ 3.บริษัท ซียูอีแอล จำกัด การออกแบบ จัดซื้อ และติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท เชฟรอน อี แอนด์ ซี โฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มเชฟรอน) บริษัท ยูไนเต็ด ไทย ชิปปิ้ง จำกัด ถือหุ้น 4.บริษัท บางปะอิน กอล์ฟ จำกัด กลุ่มนายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ ถือหุ้นใหญ่ 5. บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) กลุ่ม บริษัทโงวฮก จำกัด ของนาย สุเมธ ตันธุวนิตย์ ถือหุ้นใหญ่
บริษัทที่นายวิเศษ ยังเป็นกรรมการอยู่นั้น ที่น่าสนใจนอกจากกลุ่มเชฟรอนแล้ว ก็คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่มีนายสารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลกำลังผลิตไฟฟ้าเอกชน 5,000 เมกะวัตต์ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (GAS) เป็นเชื้อเพลิงทั้งหมด โดยกัลฟ์และกฟผ. มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แบบเร่งด่วนในปลายเดือนธ.ค. 2556 ซึ่งเป็นการลงนามหลังจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 หลังจากนั้นก็มีการแพร่ภาพชายหน้าคล้ายนายสารัชถ์ ไปพบกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่สิงคโปร์ ผ่านทางโชเชียลเน็ตเวิร์คให้เป็นที่ฮือฮากัน
สำหรับนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. สองสมัย "บิ๊กไฝ" คนนี้ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน อีกทั้งยังถูกมองว่ามีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ "ชินวัตร" แม้ว่าเขาจะออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขันก็ตาม
สำนักข่าวอิศรา รายงานเอาไว้ในช่วงเดือนก.พ. 2557 ขณะที่ กปปส. ชุมนุมและมีการพาดพิงถึงนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กับ "ชินวัตร" เอาไว้ว่า "นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นกรรมการเครือ ปตท. 2 แห่ง คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และกรรมการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด และยังเป็นกรรมการ บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) เพื่อการลงทุน บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจ ทั้งสองบริษัท มีกลุ่มบริษัท เซ็นทรัล เดพอสิทอรี่ จำกัด จากสิงคโปร์ และตระกูล มหากิจศิริ ร่วมกันถือหุ้นใหญ่
“ทั้งนี้ นายประยุทธ มหากิจศิริ เคยเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่พรรคไทยรักไทย นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ บุตรชายเป็นรองโฆษกรัฐบาล และเป็นหุ้นส่วนธุรกิจฮาวคัมของนายพานทองแท้ ชินวัตร"
ถึงแม้นายประเสริฐ จะปฏิเสธว่า ชินคอร์ปอเรชั่น หรือ "อินทัช" ในเวลานี้ มีกองทุนเทมาเส็กแห่งสิงคโปร์ถือหุ้น ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับตระกูลชินวัตรแล้ว แต่ก็ยังมีสายใยชินวัตรคอนเนกชันที่เชื่อมผ่านบริษัทที่นายประยุทธ มหากิจศิริ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ให้เป็นที่สงสัยของสังคม
ส่วนนายพละ สุขเวช นี่ก็เส้นทางเดียวกัน เขาเป็นอดีตผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการบอร์ด ปตท., ไทยออยล์ รวมทั้งบริษัทลูกของ ปตท.อีกนับไม่ถ้วน และที่น่าสังเกตก็คือเขานี่แหละที่มีบทบาทในการฟื้นฟูกิจการบริษัททีพีไอ และนำไปสู่การการฮุบกิจการของทีพีไอ ให้เข้ามาอยู่ในเครือ ปตท. ในยุครัฐบาลทักษิณ 1 ในที่สุด เรียกได้ว่า เขาเป็นคีย์แมนคนสำคัญที่รัฐบาลทักษิณ เลือกใช้เมื่อต้องการจะยึดทีพีไออย่างเด็ดขาด ซึ่งเวลานั้น “กรุงเทพธุรกิจบิสวีค” รายงานว่า “ค่าจ้างเฉลี่ยจากทุกเก้าอี้ของ “พละ สุขเวช" ตกปีละ 25.5 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ และยังได้ค่าตอบแทนในรูปของ "หุ้น" อีกมูลค่ากว่า 43.6 ล้านบาท”
ปัจจุบันนี้ นอกจากนายพละ จะเป็นเจ้าของธุรกิจเหมืองแร่ ชื่อ บริษัท พี.เอส. รีซอร์สเซส จำกัด แล้ว สำนักข่าวอิศรา ยังรายงานว่า นายพละ ยังเป็นกรรมการบริษัทที่เปิดดำเนินการ 4 แห่ง คือ 1.บริษัท เอ็มไพร์ เอเซีย เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป จำกัด ที่ปรึกษาด้านพลังงาน กลุ่มนายไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์ศานต์ 2.บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจพลังงาน กลุ่มนายประชา มาลีนนท์ เป็นเจ้าของ มี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนางศิริเพ็ญ สีตสุวรรณ ร่วมเป็นกรรมการ 3.บริษัท ยูเนี่ยน ปิโตรเคมีคอล จำกัด (มหาชน) นำเข้าและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ นางกาญจนา สุวรรณนภาศรี ถือหุ้นใหญ่ 4.บริษัท สุทศมิตร จำกัด ให้เช่ารถยนต์และพัฒนาโปรแกรม มีนาย สิทธิพร รัตโนภาส เป็นเจ้าของ
ส่วน นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช หลังดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ ครบเทอมเมื่อปี 2547 รัฐบาลทักษิณ ก็แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเข้าไปนั่งอยู่ในบอร์ดปตท. และ TOP “กรุงเทพธุรกิจบิสวีค” รายงานว่า สองบริษัทนี้ให้ค่าตอบแทนแก่กรรมการในอัตราที่สูงมาก และมักมีการ "แจกหุ้น" อย่างสม่ำเสมอ เป็นผลที่ทำให้ นายจักรมณฑ์ ได้เงินค่าจ้างเฉลี่ยขั้นต่ำไปถึงปีละ 6.7 ล้านบาท กับหุ้นในพอร์ตอีกมูลค่ากว่า 25 ล้านบาท (ช่วงปี 2549)
ช่วงเวลาที่นายจักรมณฑ์ รุ่งเรืองในตำแหน่งหน้าที่ราชการและถ่างขาควบตำแหน่งกรรมการบริษัทเอกชนในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น มีโครงการลงทุนสำคัญที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อน ก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2547 - 2561) มูลค่า 4 แสนล้านบาท นโยบายที่ใช้ก๊าซฯ ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตามเป้าหมาย “เพิ่มมูลค่าก๊าซธรรมชาติ” เป็นการสร้างโอกาสแสวงหารายได้และกำไรอย่างงดงามให้กับปตท. ซึ่งผูกขาดธุรกิจก๊าซฯแต่เพียงผู้เดียว
นี่คือโฉมหน้าของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปพลังงานของชาติที่คสช.แต่งตั้งขึ้นมา ซึ่งเมื่อเห็นรายชื่อ ผลงาน รวมทั้งสายสัมพันธ์ หลายคนคงมีคำตอบล่วงหน้าแล้วว่าปฏิรูปพลังงานรอบนี้จะออกมาเป็นเช่นใด?