xs
xsm
sm
md
lg

คน ปตท.-มือไม้ ทักษิณ ปฏิรูปพลังงานความมั่นคงของชาติ!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน


เริ่มเดินหน้าโรดแมปขั้นที่สองแบบชัดเจนและเดินเครื่องกันจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะเป็นช่วงเริ่มออกเดิน ยังไม่ใช่แบบเร่งฝีเท้ากันเต็มกำลัง เนื่องจากองค์ประกอบยังไม่ครบถ้วน ยังมีแค่แกนหลักคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถัดมาก็มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แล้วก็มาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพียงแต่กำลังรอโปรดเกล้าฯประธานและรองประธาน สนช.เท่านั้น

ล่าสุดมีความคืบหน้าไปอีกขั้นนั่นคือการประกาศแต่งตั้ง คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ในระดับจังหวัด กันไปแล้ว แม้ว่าในทุกด้านถูกมองว่าอยู่ภายใต้กรอบทิศทางของ คสช.อย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีที่ปรึกษาของ คสช.ในแต่ละฝ่ายยืนอยู่หัวแถวในคณะกรรมการสรรหา สปช.ทั้งหมด เรียกว่าแบ่งงานกันคุมอย่างทั่วถึง โดยแยกคณะกรรมการสรรหา สปช.ด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านการเมือง นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ด้านบริหารราชการแผ่นดิน นำโดย วิษณุ เครืองาม

ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นำโดย พรเพชร วิชิตชลชัย

ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นนำโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ด้านการศึกษา นำโดย ยงยุทธ ยุทธวงศ์

ด้านเศรษฐกิจ นำโดย ณรงค์ชัย อัครเศรณี

ด้านพลังงาน นำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม นำโดย พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์

ด้านสื่อสารมวลชน นำโดย พล.อ.นพดล อินทปัญญา

ด้านสังคม นำโดย สม จาตุศรีพิทักษ์

ด้านอื่นๆ นำโดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ

แม้ว่าในบางด้านอาจมีคำถามในเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น ด้านการเมือง และการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็สามารถอธิบายได้ในเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ อีกทั้งยังมีกรรมการร่วมในคณะคนอื่นช่วยกันทำงาน ร่วมกันหารือและปฏิบัติงานจริง

แต่ที่ต้องมาสะดุดกึกก็เห็นจะเป็นคณะกรรมการสรรหา สปช.ด้านพลังงาน ที่นอกจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล การุณ กิตติสถาพร จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช บรรพต หงษ์ทองแล้วที่ต้องตั้งคำถามตัวโตๆ ก็คือทำไมต้องเป็นบุคคลทั้งสามคนนี้ คือ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ พละ สุขเวช และ วิเศษ จูภิบาล เข้ามาด้วย

แน่นอนว่าไม่มีปฏิเสธในเรื่องความรู้ความสามารถด้านพลังงานของทั้งสามคนดังกล่าว แต่คำถามและมีข้อสงสัยแบบไม่ไว้ใจในเรื่อง “แบ็กกราวนด์” ของพวกเขาต่างหาก คำถามต่อเนื่องไปก็คือต่อนี้ไปจะเป็นการปฏิรูป ปตท.หรือว่าปฏิรูปพลังงานเพื่อความมั่นคงของชาติกันแน่

เพราะหากไม่นับรวมเอา ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งไปเป็นประธานบอร์ด ปตท.มาไม่กี่สัปดาห์ รายชื่อทั้งสามคนดังกล่าวล้วนมีเส้นสายและเส้นทางเดียวกัน มีความเชื่อมโยงกับ ปตท.กันอย่างแนบแน่น บางคนเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวมาตั้งแต่ยุคการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจนกระทั่งมีการแบ่งขาย (แปรรูป) ให้เอกชนและยังเกี่ยวพันกับผลประโยชน์กับ ปตท.โดยตรง รวมไปถึงทัศนคติในเรื่องกำไรสูงสุดอีกด้วย

หากพิจารณาประวัติย้อนหลังแต่ละคน เริ่มมาจาก วิเศษ จูภิบาล อดีตเป็นผู้ว่าการปิโตเลียมแห่งประเทศไทย จนกระทั่งมีการแปรรูปเป็น บริษัท ปตท.(มหาชน) จำกัด ตามนโยบายของ ทักษิณ ชินวัตร โดยเขาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในปี 44-46 และต่อมาก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลทักษิณ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 48 ที่น่าสนใจก็คือ เขานี่แหละที่มีบทบาทสำคัญในการแปรรูป ปตท.รวมทั้งรับหน้าที่ผลักดันแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ถูกต่อต้านครั้งใหญ่จนในที่สุดศาลปกครองชี้ว่ามิชอบ ต้องล้มเลิกไป

ถัดมาก็คือ พละ สุขเวช นี่ก็เส้นทางเดียวกัน เป็นอดีตผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการบอร์ด ปตท. ไทยออยล์ รวมทั้งบริษัทลูกของ ปตท.อีกนับไม่ถ้วน และที่น่าสังเกตก็คือเขานี่แหละที่มีบทบาทในการฟื้นฟูกิจการบริษัททีพีไอ และนำไปสู่การการฮุบกิจการของ ปตท.ในที่สุด

ส่วนรายหลังสุดคือ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ รายนี้เชื่อว่าคงยังจำกันได้ไม่ต้องอธิบายกันมาก อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “สัญลักษณ์ของ ปตท.” ไปแล้วก็ได้

คนพวกนี้ล้วนเคยมีผลประโยชน์ใน ปตท.บางคนถือหุ้นใน ปตท. และยังเชื่อว่ายังมีอิทธิพลชี้นำในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานดังกล่าวอยู่ไม่น้อย และยังมีความเชื่อมโยงรับใช้ระบอบทักษิณ กันแบบแยกไม่ออก และแม้ว่าในทีมที่ปรึกษา คสช.อาจมีหลายคนเคยร่วมงานกับระบอบทักษิณมาก่อน แต่คนพวกนั้นก็ถอยห่างออกมา และที่สำคัญบทบาทของพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องในด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องในด้านความเป็นอยู่ของประชาชนและความมั่นคงของชาติโดยตรง

ขณะเดียวกัน ก็ต้องยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้สงสัยในเรื่องความรู้ความสามารถของบุคคลทั้งสามคนดังกล่าว เพียงแต่สงสัยและไม่ไว้วางใจกับทิศทางการปฏิรูปด้านพลังงานของชาติว่าจะไปทางไหน ปฏิรูปพลังงานเพื่อใคร หรือเพื่อ ปตท.กันแน่ เพราะพวกเขาล้วนมีทัศนคติในเรื่องกำไรสูงสุด ต้องการให้ราคาน้ำมันสะท้อนกลไกตลาดโดยไม่พูดถึงเรื่อง “ราคาที่เป็นธรรม” รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการแปรรูปมาตลอด

อย่างไรก็ดี คำถามเหล่านี้จะต้องมีคำตอบให้เห็นกันอย่างชัดเจนในอีกไม่นานข้างหน้าอย่างแน่นอน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น