xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เอ็กซเรย์ “สนช.-สปช.” “คสช.” รับประกันคุณภาพครับท่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ

เนื่องด้วยคณะทำงานที่แต่งตั้งโดย คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)นั้นมีมากมายหลายคณะ ทำให้หลายคนสับสนว่าคณะไหนเป็นคณะไหน แต่ละคณะทำหน้าที่อะไร โดยเฉพาะ สนช.(สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และ สปช.(สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ที่บางคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคณะเดียวกัน ทั้งนี้หากพิจารณาถึงภาระหน้าที่ของกรรมการทั้งสองคณะจะพบว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

โดย สนช.จะมีหน้าที่ในการตรากฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมและปรับปรุงกฎหมาย ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตราพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และกฎหมายอื่นๆ มีจำนวนทั้งสิ้น 200คน โดยจะทำหน้าที่แทนรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเดิม) โดยให้มีประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 1 คน และ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 2 คน และมีข้อกำหนดในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ขณะที่ สปช. ซึ่งจะมาจากการคัดสรรของคณะกรรมการสรรหานั้นจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเข้าไปทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านต่างๆในสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 250 คน ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา คสช.ได้มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา สปช. โดยที่มาจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ มาจากการแต่งตั้งจากแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และมาจากการแต่งตั้งของ คสช. 77 คน

แต่ทั้งนี้ สนช. และคณะกรรมการสรรหา สปช.กลับมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงเกี่ยวพันกลุ่มที่กุมอำนาจบ้านเมืองอยู่ในปัจจุบัน เพราะหากพิจารณาประวัติความเป็นมาของแต่ละคนแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งสมาชิก สนช. และคณะกรรมการสรรหา สปช. ส่วนใหญ่นั้นล้วนมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับที่กับบิ๊กกองทัพและมือกฎหมายใน คสช.แทบทั้งสิ้น

ในส่วนของ สนช. ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 200 คน โดยล่าสุดมีการแต่งตั้งไปแล้ว 197 คนนั้น หากแบ่งตามสายสัมพันธ์ ก็น่าจะมีอยู่ 3 สายด้วยกัน ได้แก่ สายของ 'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา คสช. พี่ใหญ่แห่งค่ายบูรพาพยัคฆ์ ซึ่งสามารถนำเพื่อนพ้องน้องพี่เข้ามาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติได้จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะพี่น้องในกองทัพ ทั้งที่ยังอยู่ในราชการ-และเกษียณอายุราชการไปแล้ว ตลอดจนบรรดาคณะกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่มี 'บิ๊กป้อม' เป็นประธานด้วย

อาทิ 'บิ๊กกี่' พล.อ.นำดล อินทปัญญา ที่ปรึกษาคสช. 'บิ๊กหมู'พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำของ 'บิ๊กป้อม' สมัยเป็นรมว.กลาโหม 'บิ๊กหมู' พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 และเป็นทหารสาย 'บูรพาพยัคฆ์' เหมือนกัน พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ อดีต ส.ว.สรรหา และเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6 พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ อดีตสนช.ปี 49พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4

นอกจากนั้นยังหอบหิ้วน้องชายร่วมสายเลือดอีก2 คน คือ 'บิ๊กป๊อด' พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีต ส.ว.สรรหา เข้ามาเป็น สนช.ด้วย

สายที่ 2 คือ บรรดาอดีต ส.ว. โดยกลุ่มนี้มีจำนวนเสียงอยู่ในระดับหลักสิบขึ้นไป นำโดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่รองประธาน สนช.คนที่ 1 , นายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธาน สนช.คนที่ 2 , พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีต ส.ว.สรรหา , พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา , นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อดีต ส.ว.สรรหา นายสมชาย แสวงการ อดีต ส.ว.สรรหา , นายตวง อันทะไชย อดีต ส.ว.สรรหา , นายมณเฑียร บุญตัน อดีต ส.ว.สรรหา , นายสม จาตุศรีพิทักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา , นายบุญชัย โชควัฒนา อดีต ส.ว.สรรหา , นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ อดีต ส.ว.สรรหา , พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ อดีต ส.ว.ชุมพร และนางนิพัทรา อมรรัตนเมธา อดีต ส.ว.ปทุมธานี

และสายที่ 3 คือ เครือข่ายคนสนิทของนายวิษณุ เครืองาม และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน สนช.ปี 49 ที่แม้จะไม่ได้เข้ามาเป็น สนช.ในครั้งนี้ด้วยแต่ก็ส่งพวกพ้องมือกฎหมายเข้ามานั่งในสภาได้ไม่ใช่น้อย อาทิ นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นศิษย์ก้นกุฏิ เคยเป็นหน้าห้องของนายมีชัย , คุณหญิงพรทิพย์ จาละ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสนิทกับนายมีชัย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นบุตรชายของนายสมภพ โหตระกิตย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นอาจารย์ของนายมีชัย , นางสุวิมล ภูมิสิงหราช อดีตเลขาธิการวุฒิสภา สมัยนายมีชัยเป็นประธานวุฒิสภา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย อดีต ส.ว.รุ่นเดียวกับนายมีชัย

ขณะที่เครือข่ายของนายวิษณุนั้นประกอบด้วย นายศักดิ์ชัย ธนบุญชัย อดีตผู้บริหาร บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) , นายชัชวาล อภิบาลศรี อดีต สนช.ปี 49 , นายปรีชา วัชราภัย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และ นายสีมา สีมานันท์ อดีตเลขาธิการ ก.พ.

ส่วนคณะกรรการสรรหา สปช. ก็ไม่น้อยหน้า จากข้อมูลพบว่าคณะกรรมการ 77 รายชื่อ ที่ คสช.แต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่ประธานและคณะกรรมการสรรหาสมาชิก สปช. ทั้ง 11ด้าน นั้นส่วนใหญ่ล้วนมีสายสัมพันธ์กับ คสช.แทบทั้งสิ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำถึง เครือข่ายอำนาจ คสช.ว่าได้เข้าไปมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศอย่างชัดเจน เพราะงานนี้บรรดาที่ปรึกษา คสช.ทั้ง 10 คน ได้เข้ามานั่งคุมเองหมดทุกคณะ และแต่ละคณะยังเลือกเอาคนสนิทของตัวเองเข้ามาเป็นกรรมการอีกด้วย

เริ่มตั้งแต่ 1) ด้านการเมือง ซึ่งมี 'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา คสช.กุมบังเหียน นั้น คณะกรรมการกลุ่มนี้ถือว่าอยู่ในเครือข่าย 'ธรรมศาสตร์คอนเนกชั่น' อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรักษาการประธานวุฒิสภา ก็เป็นมือกฎหมายจากค่ายลูกแม่โดมเช่นกัน นอกจากนั้นยังมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติ สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาเสริมทีมด้วย

2) ด้านบริหารราชการแผ่นดิน มี 'นายวิษณุ เครืองาม' ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คสช. เป็นผู้ดูแล ก็หอบหิ้วบรรดามือกฎหมายที่มีความใกล้ชิดกับตนเองและนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อาทิ นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ อดีตเลขาธิการครม. , นายสีมา สีมานันท์ อดีตเลขาธิการสำนักงานข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)

3) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ว่าที่ประธาน สนช.นำทีม ก็หนีบเอาคนสนิทในแวดวงเผู้พิพากษามาช่วยงาน เช่น นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งเคยเป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์ เป็นต้น

4) ด้านพลังงาน ซึ่งมี 'หม่อมอุ๋ย' ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ที่ปรึกษา คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้ดูแล ก็เล่นเอาคนไทยที่วาดหวังจะให้มีการปฏิรูปพลังงาน ลดการผูกขาดจากกลุ่มทุน ผิดหวังไปตามๆกัน เพราะกลุ่มนี้มีอดีตบิ๊ก ปตท.ถึง 3 คนเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ ได้แก่ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , นายพละ สุขเวช อดีตผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และนายวิเศษ จูภิบาล อดีตผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีต รมว.พลังงาน สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

5) ด้านเศรษฐกิจ มี นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ คสช.เป็นหัวหน้าทีมในการสรรหาคณะกรรมการปฏิรูปในด้านนี้

6) ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น มีบุรพาพยัคฆ์รุ่นลายครามอย่าง 'บิ๊กป็อก' พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ปรึกษา คสช. เป็นแกนนำของคณะกรรมการสรรหา โดยดึงอดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทยหลายคนเข้ามาช่วยงาน เช่น นายจาดุร อภิชาตบุตร อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย , นายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

7) ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มี พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ปรึกษา คสช. ซึ่งนั่งควบสมาชิกสภานิติบัญญัติ(สนช.) เข้ามาดูแลการสรรหา

8) ด้านสื่อสารมวลชน ก็มี พล.อ.นภดล อินทปัญญา ที่ปรึกษา คสช. ซึ่งอดีตเคยเป็นเลขานุการของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เมื่อครั้งที่ 'บิ๊กป้อม' ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม เป็นตัวแทนเข้ามาควบคุมการสรรหา

9) ด้านสังคม มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ คสช.เป็นผู้ดูแล

10) ด้านการศึกษา มี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ คสช. และอดีต รวม.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้ดูแลการสรรหา

และ 11) ด้านอื่นๆ มี 'บิ๊กหนุ่ย' พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรอง ผบ.ทบ.หนึ่งในที่ปรึกษา คสช. เข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหา สปช.ในอีกด้วย

งานนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเพียงแค่ตั้งบุคคลมาเป็นคัดกรองสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ก็ทำให้เห็นเค้าลางของ สปช.จำนวน 173 คนที่ 77 อรหันต์จะเลือกเข้ามาทำหน้าที่ว่าคงหนีไม่พ้นเครือสายสัมพันธ์ของบรรดาคณะบุคคลซึ่งกุมอำนาจอยู่ในขณะนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ทั้ง สนช. และ สปช. ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาจึงต้องระมัดระวังการทำงานให้จงหนัก เพราะหากมีอะไรไม่ชอบมาพากลขึ้นมา คสช.คงปฏิเสธความรับผิดชอบลำบาก อีกทั้งหากพิจารณาอัตราค่าตอบแทนของ คสช. , สนช. และ สปช. ที่แน่นอนว่าล้วนมาจากเงินภาษีประชาชนก็ถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยทีเดียว

โดยรายงานของสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ระบุว่า จากการตรวจสอบบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พบว่ามีการกำหนดต่อเดือนไว้ดังนี้

ตำแหน่งหัวหน้าคสช. กำหนดเงินประจำตำแหน่งไว้ที่ 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาท เทียบเท่ากับประธาน สนช.

ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใน คสช. และประธาน สปช. กำหนดเงินประจำตำแหน่งไว้ที่ 74,420 บาท เงินเพิ่ม 45,000 บาท รวม 119,920 บาท

รองประธาน สนช. และรองประธาน สปช. กำหนดเงินประจำตำแหน่งไว้ที่ 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 115,740 บาท

สนช. , สปช. กำหนดเงินประจำตำแหน่งไว้ที่ 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 รวม 113,560 บาท

ดังนั้น นับจากนี้ผู้ที่อาสามาทำหน้าเพื่อบ้านเมืองแต่ละท่านก็คงต้องวางบรรทัดฐานการทำงานให้อยู่มาตรฐานที่ประชาชนคาดหวัง เพราะมิเช่นนั้น 'ดอกไม้' ที่ท่านได้รับจากประชาชนอยู่ในขณะนี้ก็อาจแปรเปลี่ยนไป


กำลังโหลดความคิดเห็น