รายงานตัว สนช. วันแรกตบเท้า 34 คน จาก 200 คน ช่วงบ่ายคึกคัก บิ๊กทหารรายงานตัว “เสธ.ยอด” เปรยให้มาช่วยด้านกีฬา “สุรชัย” มาช่วงบ่าย ถ่อมตัวเก้าอี้ประธาน สนช. คนอื่นดีกว่า แต่ถ้าโหวตให้ก็พร้อมทำหน้าที่ ปัดออกความเห็นถอดถอนนักการเมือง “อำพน” ชี้ตรวจสอบคุณสมบัติ สนช. เป็นหน้าที่ของรัฐสภา ถ้าขัดก็ไปเคลียร์ตัวเอง
วันนี้ (1 ส.ค.) ที่รัฐสภา บรรยากาศการรายงานตัวของสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ซึ่งเปิดตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีบุคคลเดินทางเข้ามารายงานตัวจำนวนทั้งสิ้น 34 คน โดยในเวลา 10.00 น. นายตวง อันทะไชย อดีต ส.ว. สรรหา สมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. เข้ารายงานเป็นคนแรก และให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยติดต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาก่อน เพราะหลังจากสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง ส.ว. สรรหา ก็ได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่ต่างจังหวัด ดังนั้น จึงทราบว่าตนเองได้รับตำแหน่ง หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
นายตวง กล่าวอีกว่า สำหรับภารกิจของ สนช. ในอนาคตต้องเน้นหนักเรื่องการปฏิรูปประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้อำนาจ สนช. ในการพิจารณากฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เสนอมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
เมื่อถามว่า การที่มีทหารเข้ามาใน สนช. จำนวนมาก จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ สนช. หรือไม่ นายตวง กล่าวว่า ทหารจะเข้ามามากหรือน้อยไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นในเวลานี้คือการทำงานเพื่อบ้านเมืองให้เดินหน้าสู่การปฏิรูปได้ จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำงาน เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่จุดดังกล่าวให้ได้
เมื่อถามว่า สนช. จะมีอำนาจถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองได้หรือไม่ นายตวง กล่าวอีกว่า กรณีถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองนั้น คงจะต้องคุยกันในที่ประชุม สนช. เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า หากมีประเด็นใดที่เป็นปัญหาทางกฎหมายจะต้องให้ที่ประชุม สนช. วินิจฉัย อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2549 สนช. เคยมีมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาแล้ว ประกอบกับปัจจุบันสถานะทางกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยังมีผลอยู่
นอกจากนี้ ในช่วงเช้ายังมีบุคคลที่น่าสนใจเข้ารายงาน อาทิ นายศิระชัย โชติรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ นายประมุท สูตะบุตร อดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น
สำหรับช่วงบ่ายบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก บุคคลทยอยเข้ารายงานตัว เช่น พล.ท.สุชาติ หนองบัว ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายกำลังพล, พล.อ.สกล ชื่นตะกูล ที่ปรึกษาพิเศษทหารบก, นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา อดีต ส.ว.ปทุมธานี, พล.อ.อ.ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก, นายมณเฑียร บุญตัน อดีตส.ว.สรรหา เป็นต้น
ต่อมา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) เดินทางเข้ารายงานตัว และเปิดเผยว่า คาดว่ากฎหมายที่มีความสำคัญที่จะทำการพิจารณาเมื่อเปิดประชุม สนช. ได้แก่ กฎหมายจาก ป.ป.ช. ว่าด้วยคดีทุจริตไม่มีอายุความ และกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันการละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีปัญหามากในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา
ด้าน พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย รักษาการนายกสมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเข้ามาทำงานตรงนี้ เชื่อว่า คสช. ต้องการให้เข้ามาทำงานอย่างจริงจังในด้านกีฬา รวมถึงด้านการปกครองด้วย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของชาติ ซึ่งตนมีเป้าหมายที่จะทำงานเพื่อช่วยเสริมการทำงานของ คสช. ให้ คสช. มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่ง สนช. จะทำในแง่การออกกฎหมายในด้านต่างๆ ทั้งการปกครอง สาธารณสุข การศึกษา กีฬา เป็นต้น ซึ่งเราจะต้องเร่งที่จะคลอดกฎหมายออกมาเพื่อประชาชนโดยเร็ว เพื่อให้ประเทศชาติรุ่งเรือง
จากนั้นเวลา 14.00 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เดินทางเข้ารายงานตัวเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) พร้อมให้สัมภาษณ์กรณีที่ตนเองมีรายชื่อเป็นแคนดิเดทประธาน สนช. ว่า บุคคลอื่นมีความสามารถมากกว่าตน แต่ถ้าหากเพื่อนสมาชิกลงคะแนนให้ก็พร้อมทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม กรณี สนช. จะถอดถอนนักการเมือง ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดแล้วหรือไม่นั้น ตนไม่ขอแสดงความคิดเห็น และอยากให้สมาชิก สนช. ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมก่อน
ทั้งนี้ เวลา 16.20 น. นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล อดีต ส.ว.ปัตตานี เดินทางมารายงานตัวเป็นคนสุดท้าย
อีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะสมาชิก สนช. กล่าวถึงกรณี พล.อ.ธวัชชัย สุมทรสาคร สมาชิก สนช. ถูกระบุขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 8 (1) กรณีเคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองในระยะเวลา 3 ปีก่อนได้รับแต่งตั้งว่า ได้เห็นจากข่าวที่มีการนำเสนอแล้ว การตรวจสอบรับรองคุณสมบัติผู้มาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. เป็นหน้าที่ของทางรัฐสภาที่จะดำเนินการตามขั้นตอน
โดยในส่วนของตนเองมีหน้าที่นำความกราบบังคมทูลเกล้าทูลกระหม่อมรายชื่อที่ได้รับมา ซึ่งจะไม่ได้มีการตรวจสอบหรือรับรองคุณสมบัติในรายชื่อจะนวน 200 คนดังกล่าว เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ระบุไว้ให้ต้องเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ซึ่งต่างจากคณะรัฐมนตรี ที่ สลค. จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติ โดยทาง สลค. จะมีเอกสารให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แจ้งคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ดังนั้น สนช. ทั้งหมดจะต้องไปเคลียร์คุณสมบัติตัวเองในชั้นการรายงานตัวต่อรัฐสภา ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทางรัฐสภา ไม่ใช่ สลค.