การประชุมวุฒิสภานอกรอบไร้เงา “สุรชัย” เผยไปเข้าพบผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ยันสถานะวุฒิสภายังอยู่เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกฉีก วิจารณ์กฎอัยการศึกมิชอบ ล้าสมัย ละเมิดสิทธิ “คำนูณ” ชี้มีข้อโต้แย้ง เหตุแค่ไหนถึงเรียกว่าจลาจล เชื่อทำเพื่อความมั่นคงมากกว่าการเมือง ด้าน “วีรวิท” เผยเคยมีการเสนอให้แก้ไขหลายครั้งแต่สภาฯ เมิน
วันนี้ (20 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.30 น. พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะทำงานประสานข้อมูลองค์กร ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมวุฒิสภานอกรอบแทนนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทั้งนี้ พล.อ.อ.วีรวิทได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าเดิมทีนายสุรชัยจะเข้ามาทำหน้าที่ประธานการประชุมด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากติดภารกิจที่ต้องไปพบกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเป็นการเร่งด่วนทำให้ไม่สามารถมาทำหน้าที่ประธานการประชุมในครั้งนี้ได้
ต่อมา ส.ว.หลายคนได้สอบถามถึงสถานะของวุฒิสภา ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประกาศใช้กฎอัยการศึก โดย พล.อ.อ.วีรวิทชี้แจงว่า เนื่องจากการกระทำของกองทัพไม่ใช่การรัฐประหาร จึงไม่มีการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้สถานะของวุฒิสภาและการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองยังสามารถดำเนินการไปตามได้ปกติ เพียงแต่อยากขอความร่วมมือจาก ส.ว.ให้ระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นที่จะต้องไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งด้วย
อย่างไรก็ตาม สมาชิกหลายคนยังได้แสดงความเห็นกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การประกาศกฎอัยการศึกมีปัญหามิชอบหลายมาตรา เช่น บางเรื่องขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นกฎหมายที่ล้าสมัย (out of date) เพราะปกติหากมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ จะมีการเขียนอารัมภบทยกเว้นบางมาตรา ซึ่งตนไม่ทราบว่าตอนนี้ก็หมายฉบับนี้เป็นคุณหรือโทษ ซึ่งในเรื่องนี้เรามีอยู่ในกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงที่ผ่านสภาแล้ว แต่กฎอัยการศึกไม่ได้ผ่านจากสภา
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เวลานี้เกิดข้อโต้แย้งในประเด็นทางกฎหมายมากมายว่า ผู้บัญชาการทหารบกสามารถดำเนินการประกาศใช้กฎอัยการศึกได้หรือไม่ เพราะมีหลายบทบัญญัติที่ไปขัดต่อสิทธิและเสรีภาพของการชุมนุม ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่ส่วนตัวมองว่าสามารถกระทำได้เพราะผู้บัญชาการทหารบกได้ใช้อำนาจตามมาตรา 4 พ.ร.บ.อัยการศึก และรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ก็กำหนดให้การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสามารถกระทำได้ภายใต้กฎอัยการศึกซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการควบคุมสถานการณ์
นายคำนูณกล่าวว่า เรื่องนี้มีข้อโต้แย้งแน่นอน กฎนี้มีมาร้อยปีก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่เท่าที่หารือผู้มีความรู้ทางกฎหมายได้ชี้ให้เห็นว่าเป็นความจำเป็นของกฎหมายจะเอาสถานการณ์ปกติไปวัดกับการใช้อัยการศึกไม่ได้ เพราะจะใช้เมื่อมีสงครามหรือจลาจล หากจะบอกว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญข้อต่างๆ ก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็คงไม่ทันการ ดังนั้นกฎอัยการศึกจึงให้อำนาจทหารไว้ แต่ก็อาจมีข้อโต้แย้งว่าขนาดไหนจึงเรียกว่าเป็นการจลาจลหรือสงคราม ตนเข้าใจว่าเริ่มมีคนแสดงความเห็นแตกต่างกันมากขึ้น
“เวลานี้ทหารถือว่ามีอำนาจอย่างกว้างขว้างเหนือกว่าทุกฝ่าย โดยคิดว่าขณะนี้เป็นการดำเนินการเพื่อความมั่นคงมากกว่าเรื่องทางการเมือง เพราะยังไม่เห็นว่าทางกองทัพจะมีท่าทีต่อการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นคนกลางแต่อย่างใด” นายคำนูณกล่าว
ด้าน พล.อ.อ.วีรวิทกล่าวว่า เคยมีความพยายามเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กฎอัยการศึกมานานแล้ว แต่ไม่มีสภาสมัยไหนที่จะสนใจแก้ไข เมื่อสภาไม่แก้ก็ต้องใช้ต่อไปแม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากก็ตาม จากนั้นนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ได้เสนอให้เป็นการประชุมลับเพื่อโอกาสให้ ส.ว.ที่เข้ามาร่วมประชุมได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่