xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แนะวุฒิสภาหาทางคุยรัฐบาลให้ยอมเสียสละ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มาร์ค” แนะวุฒิสภาต้องหาทางคุยกับรัฐบาลให้ยอมเสียสละเปิดทางให้ประเทศ ชี้อยากรักษาประชาธิปไตยต้องเลี่ยงเผชิญหน้า อย่าลากสถาบันมาเกี่ยวข้อง เลี่ยงการเปลี่ยนแปลงนอกระบบ ย้ำรัฐบาลแห่งชาติไม่ใช่ทางออก ตั้งนายกฯมาตรา 7 ต้องมีคำตอบให้สังคมอย่างรอบคอบ วอน ปชช. ให้ ส.ว. ทำงานอิสระ เลี่ยงข้อครหา ด้าน ส.ว. เตรียมลุยหารือ 9 องค์กร พรุ่งนี้ (14 พ.ค.)


วันนี้ (13 พ.ค.) เมื่อเวลา 18.50 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา และว่าที่ประธานวุฒิสภา ได้เรียกประชุมวุฒิสภาอีกครั้ง โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมหารือด้วย โดยได้ขอให้นายอภิสิทธิ์บอกเล่าถึงรากเหง้าปัญหาที่มาจนมาถึงวันนี้

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้ยืนยันว่าตนเองไม่ได้เป็นกลาง และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้ง ตนแทบไม่จำเป็นต้องบอกถึงปัญหาต่างๆ เพราะทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว วันนี้ถ้าเอาความต้องการทางการเมืองของแต่ละกลุ่มมองไม่เห็นว่าการได้ตามต้องการของฝ่ายใดจะนำไปสู่ความสงบสุขได้ ตนก็มีความต้องการจะเห็นบ้านเมืองเป็นอย่างไร แต่วันนี้ต้องอยู่กับความเป็นจริง รัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ต้องการจะเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะเป็นหนทางให้กลับมาสู่อำนาจอีกครั้ง โดยแนวคิดนี้ไม่อยู่บนความเป็นจริงที่ว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเกิดจากกระแสความไม่ไว้วางใจเชื่อมั่นนักการเมืองและพรรคการเมือง และการจะทำให้การเลือกตั้งท่ามกลางกระแสแบบนี้เป็นไปได้ยาก และต้องยอมรับว่าเวลานี้ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับอยู่แล้ว เดินหน้าเลือกตั้งก็ละเมิดกับประเด็นที่ว่าตำแหน่งนายกฯว่างลงต้องสรรหาคนใหม่ ในเงื่อนเวลา 30 วัน แต่ก็ติดเงือนไขที่ว่าไม่มีสภา หรือ ส.ส. ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งของนายกฯ ถ้าหยิบยกรัฐธรรมนูญมาตราใดวรรคใด เพื่อปฏิเสธทางเดินนี้ก็สามารถทำได้ทั้งนั้น แต่เราต้องทำโดยยึดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและบทบัญญัติเทียบเคียงมาใช้

“วันนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เดินไปสู่การปฏิรูปเพราะมวลชนได้เรียกร้องมายาวนาน เส้นทางที่จะเดินต้องผูกโยงเริ่มต้นจากเรื่องนี้ทันที แต่ต้องยอมรับความจริงว่าไม่สามารถสำเร็จได้ในเวลาอันสั้น และจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย อาจถึงขั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ แต่องค์ประกอบฝ่ายนิติบัญญัติยังไม่มี จนกว่าจะมีเลือกตั้งใหม่ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าหนีไม่พ้นเลือกตั้งไม่ช้าก็เร็วแต่ทำอย่างไรให้เรียบร้อยสุจริต และไม่ให้มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป วันนี้ที่ต่อต้านขัดขวางเพราะเพื่อเชื่อว่าไม่มีปฏิรูป เพราะไม่ไว้ใจนักการเมือง จึงเสนอให้ผ่านกระบวนการเริ่มต้นการปฏิรูปสร้างความชอบธรรม และหลักการว่าไม่ถูกขัดขวางจนล้มเหลว โดยจัดทำประชามติให้ประชาชนเห็นชอบ และมีมาตรการผูกมัดนักการเมืองต้องทำในอนาคต การจะเดินหน้าต้องรัฐมนตรีต้องลาออกทั้งคณะ คนที่จะเข้ามาก็ต้องยินยอมพร้อมใจ ทุกฝ่ายต้องยอมรับ แต่ไม่ใช่เอาคนที่เป็นปฏิปักษ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามา การได้บุคคลที่เป็นที่ยอมรับต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะเดินหน้าปฏิรูป และต้องมีรัฐบาลที่เข้ามาทำการปฏิรูปผ่านประชามติ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ต้องขอบคุณประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒสภา ที่แม้จะหารืออย่างไม่เป็นทางการ แต่ก็คือการแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ต้องชื่นชมว่าพยายามกระทำแม้จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่ภารกิจตามแนวคิดตน ต้องมีวีธีการที่หลากหลายมากกว่าการประชุม โดยต้องคุยกับผู้มีอำนาจคือรัฐบาล แต่ต้องยอมรับความจริงว่าจะเชิญมาตรงนี้นั้นเป็นไปได้ยาก ต้องคิดว่าจะมีวิธีการอย่างไรไปปรึกษาหารือกัน การเดินสายแลกเปลี่ยนความเห็นนั้นถูกต้องแล้ว แต่บุคคลที่จะเชิญมาไม่ใช่ให้มาทำในสิ่งที่เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ เพราะจะเป็นการดึงเอาฝ่ายต่างๆ มาเข้าสู้ความขัดแย้งมากขึ้น

“ประเด็นข้อกฎหมายคงเถียงกันไม่จบ ตนอยากเห็นผู้ใหญ่ทางฝ่ายกฎหมาย บรรดาประธานกรรมการกฤษฏีกาทั้งหลาย สมควรที่จะมีบทบาท ไม่ใช่แค่มาบอกว่าอะไรทำไม่ได้ แต่ควรบอกว่าถ้าอยากให้บ้านเมืองเดินอย่างนี้จะทำอย่างไรให้เป็นตามกฎหมาย ควรแสดงบทบาทตรงนี้มากกว่ามาถียงโต้แย้งกัน เพราะตอนนี้ใครเสนออะไรมีข้อโต้แย้งทั้งนั้น แต่คงไม่ง่ายที่จะสำเร็จ แต่ทุกวันนาทีที่ผ่านไปคือความเสียโอกาสของประเทศ ถ้าแนวทางนี้ไม่สำเร็จ สุดท้ายอย่างไรท่านต้องตัดสินใจ แต่จะตัดสินใจอย่างไรก็จะมีทั้งสิ่งที่เห็นและไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องเลือก ทางหนึ่งคือปล่อยให้เดินไปอย่างนี้ แต่ปล่อยไปก็เห็นว่าปลายทางเป็นอย่างไร วันนั้นการไม่ตัดสินใจของท่านจะเป็นความรับผิดชอบของท่าน ผมขอให้กำลังใจ ทำเถอะประเทศชาติบ้านเมืองประชาชนเดือดร้อนมามากพอแล้ว ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านฟันฝ่าต่อไป”

จากนั้นสมาชิกได้ซักถามความเห็นนายอภิสิทธิ์ประเด็นต่างๆ อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ถามว่า การตั้งนายกฯโดยวุฒิสภา ขณะที่ไม่มีสภาโดยอาศัยกฎหมายใกล้เคียงที่อยู่ในข้อเสนอ ตามแนวทางที่ให้นายกฯพร้อมใจนำ ครม. ออกทั้งคณะ แต่ปัญหาคือ ครม.ยังคงอยู่อย่างไรก็ไม่ลาออก หากวุฒิสภาดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกฯคนใหม่ ในฐานะอดีตนายกฯมองว่าทำได้หรือไม่และสมควรหรือไม่ กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ พอจะมีวิธีทางใดให้คำแนะนำได้บ้าง

ส่วน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา ถามว่าจากการเดินสายไปพบบรรดาบุคคลต่างๆ เช่น ผบ.เหล่าทัพ พรรคการเมือง สรุปว่ามีความคิดอย่างไร อยากให้บ้านเมืองออกไปในแบบไหน มีความเห็นสอดคล้องกับแนวทางที่เสนอหรือไม่ เพราะสิ่งที่ ส.ว. กำลังจะเดินตามแนวทางที่ใกล้เคียงกับที่ของนายอภิสิทธิ์ และในสถานการณ์อย่างนี้ ส.ว. ควรทำอะไรมากกว่าที่นายอภิสิทธิ์ทำ และสามารถตัดสินใจเสนอแต่งตั้งบุคคลขึ้นถึงขั้นเป็นนายกฯได้เลย หากฟังจากทุกภาคส่วนแล้วเห็นว่าต้องมีนายกฯคนใหม่ วุฒิฯควรจะกระทำ หรือทำได้หรือไม่ และถ้ามีคนประกาศว่าถ้ามีนายกฯโปรดเกล้าฯลงมาคิดว่าสถานการณ์การเมืองจะบรรเทาลงจากการปะทะที่จะเกิดขึ้น เหมือนที่บอกว่าเมื่อโปรดเกล้าฯแล้วทุกอย่างจะยุติหรือไม่ ถ้าไม่มีการทำอะไรเลยความรุนแรงถึงขั้นปะทะกันหรือไม่ และในฐานะที่อยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองมาเกือบ 10 ปี บอกได้หรือไม่ว่ารากเหง้าของปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหน ทำไมแก้ไม่ได้สักที

ด้าน นายอภิสิทธิ์ ตอบคำถามว่า จากการไปพบกับฝ่ายต่างๆ ต้องใช้เวลา ตนไม่สามารถเอาแนวคิดไปวางลงแล้วบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่สอบถามว่าสิ่งที่ตนคิดนั้นตรงกันหรือไม่ เช่น การทำปฏิรูป และประชามติ โดยเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปก็พบว่าตรงกัน ส่วน กกต. กับพรรคการเมืองก็ได้ข้อสรุปชัดว่าถ้าเลือกตั้งจะช้าไปหน่อย แล้วจะได้การเลือกตั้งที่เป็นธรรมเรียบร้อย ทุกฝ่ายก็เห็นด้วย ส่วน ผบ.สส. มีความห่วงใยเหมือนกับในใจเราทุกคนว่าถ้าไม่แก้ปัญหาจะเกิดหลายอย่างที่ไม่พึงประสงค์ แต่ก็ย้ำบทบาทกองทัพต้องเป็นตามรัฐธรรมนูญ ฝ่ายการเมืองต้องทำหน้าที่คลี่คลายให้มากที่สุด โดยกองทัพจะดูแลความสงบสุขของประชาชน หากจะเอื้อให้มีการตกลงกันได้ ก็อยากทำมากที่สุด

ส่วนประเด็นการเสนอนายกฯตาม ม.7 ทำได้หรือไม่ ในทัศนะของตนเห็นว่าถ้าจะทำให้ดีที่สุด คือ ทำให้ผู้มีอำนาจปัจจุบันต้องเปิดทาง และสำคัญต้องมีคำตอบว่าหากตั้งนายกฯคนใหม่อะไรจะเกิดตามมา เราต้องคิดให้ครบก่อนตัดสินใจ ยังเชื่อว่าถ้าได้ไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับรัฐบาล เขาไม่ปิดทางนี้ แต่เขาต้องการคำตอบว่าถ้ายอมลุกออกไปจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ จะตีความมาตรา 7 ไปถึงไหน ถ้าเขาไม่รู้เขาก็ไม่ยอม ถ้าทำอะไรโดยสังคมไม่รู้ปัญหาจะเกิด แม้แต่อีสานโพลซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญที่สุดของรัฐบาล บอกว่า ร้อยละ 70 ยอมรับนายกฯคนกลางได้ การที่เกรงว่าคนจะคัดค้านหรือไม่ต้องคิดว่าหลังจากตั้งไปแล้วฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต้องไม่อยู่เฉยแน่ ถ้าทำแล้วไม่มีคำตอบก็จะมีการปลุกระดมว่าเป็นรัฐประหาร แต่ถ้ามีคำตอบก็สามารถชี้แจงได้ ถ้าตัดสินใจทำแต่ไม่คิดต่อว่าแล้วอะไรจะเกิดขึ้นและ ถ้าคนเข้าใจอะไรไปแล้วเกิดอะไรขึ้นคนที่จะเข้ามาจะอยู่อย่างไร ก็ถกเถียงกันต่อ เป็นเรื่องสำคัญที่อย่างไรเสียต้องมีคณะทำงานไปพูดคุยกับฝ่ายมีอำนาจในปัจจุบัน

“ส่วนข้อกฎหมายรองรับหรือไม่ อย่างที่บอกจะเดินทางไหนมันมีปัญหาหมด อย่าเริ่มที่มาตรา 3 มาตรา 7 แต่ต้องเริ่มจากหลักการรัฐธรรมนูญที่บอกว่าต้องสรรหานายกฯภายใน 30 วัน บังเอิญเมื่อไม่มี ส.ส. เลย ก็มีเหตุสุดวิสัยที่จะได้นายกฯไม่เป็น ส.ส. ต้องคิดว่าสำคัญกว่าเรื่องคุณสมบัติหรือไม่ถ้าใช่ใครควรจะทำอย่างไร มันมีหลักอยู่แล้ว เช่น ส.ว. ที่เหลืออยู่เป็นอำนาจฝ่ายนิติ หรือในอดีตเคยมีประธานรัฐสภาทำมาแล้ว แต่ว่าต้องมีแนวทางให้ครบเพื่อเป็นคำตอบทุกฝ่ายได้ ส่วนจะถูกโจมตี วันนี้ไม่ว่าทำอะไรก็ถูกโจมตี แต่ถ้าไม่มีเลยคำตอบนั้นจะไม่ยั่งยืนเพราะจะมีอีกฝ่ายลุกขึ้นต่อต้าน การไม่ทำอะไรเลยก็จะเป็นความรับผิดชอบของท่าน บ้านเมืองอาจจะไปจบลงไม่พึงประสงค์เสียหาย แต่ก็เห็นใจเพราะเป็นการตัดสินใจยากมากวันนี้ท่านจะประสบความสำเร็จต้องทำให้เห็นว่าการตัดสินใจของท่านเป็นการตัดสินใจของท่านเอง สังคมก็จะยอมรับ แต่ถ้าคิดว่าทำตามคนนั้นคนนี้ก็จะไม่ยอมรับ อะไรที่แสดงว่าตัดสินใจเองมีเหตุผลเองว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุดต่อประเทศ ต้องพยายามพบกับทุกฝ่ายที่ทำได้ อยากวิงวอนไปถึงประชาชนว่าถ้าอยากให้ ส.ว. เป็นองค์กรที่แก้ปัญหา ต้องให้โอกาสได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ กลุ่มข้างนอกอาจจะไม่พอใจผม แต่ถ้าวุฒิสภาตัดสินใจเพราะต้องทำตามกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เสนอปัญหาจะไม่จบ ผมทราบดีมวลชนต่อสู้กันเหน็ดเหนื่อย แต่ต้องให้ที่นี่ทำงานอย่างอิสระ เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้ย้ำว่า รัฐบาลแห่งชาติไม่ใช่คำตอบของปัญหา เพราะประชาชนจะยิ่งมองว่าสรุปแล้วที่ขัดแย้งกันเพราะทุกคนอยากจะมีอำนาจใช่หรือไม่ ดังนั้นทุกคนต้องเสียสละยอมถอยออกไปครึ่งปี เพื่อให้ประเทศมีทางออก เพราะเวลานี้มีความพยายามที่จะหยิบเอาความขัดแย้งทางการเมืองมาจ้องโจมตีสถาบันกษัตริย์ด้วย ซึ่งถือเป็นความเลวร้ายในหลายปีที่ผ่านมา

“อยากฝากไปถึงรัฐบาลว่า พร้อมที่จะยอมเสียสละและเปิดทางหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีปัญหาระคายเคืองเบื้องพระบาท ถ้าอยากรักษาประชาธิปไตยต้องเลี่ยงการที่ประชาชนมาฆ่ากัน เลี่ยงดึงสถาบันที่อยู่เหนือกฎหมายลงมาเกี่ยวข้อง และเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงนอกเหนือรัฐธรรมนูญ ส่วน ส.ว.จะมีวิธีการสื่อสารกับรัฐบาลให้มาร่วมมือกันอย่างไร ก็ต้องช่วยกันคิด ส่วนที่ถามว่ารากเหง้าปัญหาอยู่ที่ไหน วันนี้ผมมาช่วยหาทางออกไม่อยากให้เสียบรรยากาศแต่คำตอบนี้ก็ตรงกับที่ท่านคิดนั่นแหละครับ”

จากนั้น นายสุรชัย ได้กล่าวขอบคุณนายอภิสิทธิ์ และยืนยันว่าการประชุมนอกรอบของวุฒิสภา ไม่ใช่เป็นการประชุมนอกกฎหมาย ทั้งนี้ วุฒิสภาห้วงเวลาที่เป็นวิกฤต วุฒิสภารอการแก้ปัญหากว่า 6-7 เดือนแต่ยังไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นวุฒิสภาไม่สามารถนิ่งดูดาย หากไม่แก้ไขปัญหาอาจถูกสังคมตั้งคำถามได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 14 พ.ค. วุฒิสภาจะจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงาน 9 องค์กร ได้แก่ เลขานุการศาลฎีกา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, หกอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่อาคารสุขประพฤติ

“ผมขอให้การทำงานวุฒิสภาเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาทางออกให้ได้ ต้องยอมเหนื่อย เพราะพี่น้องบนถนนเหนื่อยกว่าเราเยอะมาก ดังนั้นการหารือแบบหามรุ่งหามค่ำ ประมาณ 7 วัน เราสู้ได้และต้องทำให้ได้ด้วย” นายสุรชัย กล่าวก่อนจะปิดประชุม เมื่อเวลา 20.45 น.




กำลังโหลดความคิดเห็น