วงถก ส.ว. กับ 12 องค์กร เห็นตรงกันต้องมีรัฐบาลเฉพาะกิจให้ ส.ว. เป็นองค์กรหลักแก้วิกฤตชาติ หลังประเมินตรงกันเลือกตั้งส่อลากยาวเป็นปี ขณะที่ กกต. ไม่แน่ใจอำนาจ “นิวัฒน์ธำรง” ทูลเกล้าฯ จ่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ลั่นหากเสียงส่วนใหญ่ในสังคมให้ ส.ว. เสนอชื่อนายกฯ ใหม่ พร้อมทำหน้าที่ มั่นใจสรุปแนวทางได้ศุกร์นี้ เตือน “ธาริต” ไม่เลิกขู่ ส.ว. เจอดำเนินคดีอาญา
วันนี้ (14 พ.ค.) ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น ได้มีการหารือร่วมกับ 12 องค์กร ร่วม 6 ชั่วโมง นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา พร้อมด้วยคณะทำงานได้แถลงว่า ในเบื้องต้นทุกองค์กรให้กำลังใจการทำหน้าที่ของวุฒิสภา หลังจากที่หลายฝ่ายพยายามทำแต่ล้มเหลว จึงหวังว่าวุฒิสภาจะเป็นหลักในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ทุกองค์กรพร้อมสนับสนุนการทำหน้าที่ของวุฒิสภาอย่างเต็มความสามารถ และพร้อมให้ข้อมูลที่เคยทำมาแล้วเพื่อประกอบการทำงานของวุฒิสภาด้วย
“เสียงเกือบส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจะปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมืองเดินไปอย่างนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ควรมีรัฐบาลอำนาจเต็มบริหารราชการโดยเร็ว แต่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจตามที่มีการกำหนด คือ การปฏิรูป จัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยในเวลาจำกัดภายใน 6-12 เดือน เพราะกระบวนการให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจต้องใช้เวลา 6-10 เดือน หรืออาจจะ 1 ปี จึงจะนำเรื่องนี้หารือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งรัฐบาลด้วย โดย นายสุรชัย มีนัดหมายกับอีกหลายภาคส่วน ซึ่งวุฒิสภาจะเป็นเจ้าภาพหาความลงตัว หากเห็นพ้องต้องกันว่าให้วุฒิสภาดำเนินการก็จะเดินไปสู่เป้าหมายนั้น แต่ถ้ามีอุปสรรคก็จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และ ส.ว. ไม่ได้ตั้งธงว่าจะต้องเสนอนายกฯ มาตรา 7 แต่จะแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ” นายวันชัย กล่าว
ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคระกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ข้อมูลว่าการเจรจาระหว่าง กกต. กับรัฐบาลรักษากา รมีข้อติดขัดในทางกฎหมายสองประเด็นคือ กกต. ไม่มั่นใจในสถานภาพของรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯว่าเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาแทนนายกฯหรือไม่ ทำให้มีคำถามว่ามีอำนาจนำพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ทูลเกล้าฯ และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาฉบับเก่าหรือไม่ แม้รองนายกฯจะยืนยันความเห็นเลขากฤษฎีกาว่ามีอำนาจ แต่ กกต. เห็นว่าไม่น่าเชื่อถือมากพอ จึงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ ดังนั้น หากยังไม่มีความชัดเจนก็จะไม่มีการหารือเกี่ยวกับเนื้อหาร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่
นอกจากนี้ กกต. ต้องการให้บรรจุเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ว่า กรณีมีความเสียหายอันตรายร้ายแรงให้ กกต. เสนอความเห็นไปยังนายกฯ เพื่อเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ แต่กฤษฎีกาไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม กกต. ยังยืนยันในประเด็นนี้ และยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหากไม่สามารถได้ข้อสรุปเกี่ยวกับอำนาจของรองนายกฯว่าปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯได้หรือไม่ ทำให้เห็นชัดเจนว่าการเลือกตั้งที่จะทำให้ได้นายกฯนั้นจะต้องใช้เวลา
“การหารือนอกรอบของเราไมได้มีการตั้งธงว่าจะต้องตั้งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น นั่นเป็นเพียงทางหนึ่งที่มีผู้เสนอมาย่อมต้องมีความเห็นแตกต่างออกไป เวลานี้เรากำลังอยู่บนลู่สองลู่ เพราะมี ครม. รักษาการ แต่ต้องมีนายกฯใหม่ในขณะที่ไม่มีสภา และอยู่ในระหว่างยุบสภา ต้องมีการเลือกตั้งแต่ก็ไม่มีแนวโน้มเลยว่าการเลือกตั้งใหม่จะกำหนดได้เมื่อไหร่ เพราะยังมีข้อถกเถียงว่ารองนายกฯที่ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯมีอำนาจะเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ. หรือไม่ หากที่ประชุมใหญ่กรรมการกฤษฎีกาจะหารือกันก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร” นายคำนูณ กล่าว
ขณะที่ พล.อ.อ.วีรวิทย์ คงศักดิ์ หัวหน้าคณะทำงานวุฒิสภา กล่าวว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการบริหารของรัฐบาลมีข้อจำกัด จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีอำนาจเพียงพอในการบริหารประเทศ ในขณะนี้กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯคนใหม่จากการเลือกตั้งจะมีความล่าช้า ทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการพัฒนาประเทศ ส่วนการปฏิรูปต้องสมเหตุสมผลอธิบายสาธารณชนได้ และน่าจะมีการทำประชามติ สำหรับกำหนดการพรุ่งนี้ (15 พ.ค.) เวลา 10 นาฬิกา รับฟังความ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่นิด้า 14.30 น. หารือร่วมกับ ปลัดกระทรวง ผู้นำเหล่าทัพ ที่อาคารรัฐสภาสอง 15.30 น. รับฟังความเห็นสื่อมวลชน องค์กรเอกชน อาคารรัฐสภาสอง
“ยังไม่ระบุแนวทางจะเป็นอย่างไร แต่ที่คิดไว้ว่ากระบวนการน่าจะมี 2 ขั้นตอน คือ แนวทางการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้เหมาะสมเสียก่อน ส่วนกระบวนการเสนอชื่ออาจจะเป็นอีกระยะหนึ่ง หลังกระบวนการด้านกฎหมายเรียบร้อยแล้ว อย่ามองว่าออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร แต่กระบวนการทั้งหมดจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดหรือเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญกำหนดในเรื่องการเสนอชื่อตัวบุคคล” พล.อ.อ.วีรวิทย์ กล่าว
นอกจากนี้ นายวันชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมดีเอสไอ จะดำเนินคดีกับ ส.ว. ฐานสนับสนุนการกบฏว่า พวกตนไม่สนใจข้อกล่าวหา ไม่จำเป็นต้องทำตามใคร เพราะเป็นการทำหน้าที่ของ ส.ว. ซึ่งผิดกับ ศอ.รส. ที่ทำตามบัญชาใต้อาณัติของคนบางกลุ่ม ไม่เป็นหน่วยราชการที่ปฏิบัติตามกฎหมายและละเมิดกฎหมาย ข่มขู่คุกคามวุฒิสภาที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย จึงขอเรียกร้องให้นายธาริต หยุดการกระทำการในลักษณะข่มขู่ คุกคามสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสงบสุข และหาทางออกให้ประชาชนชาวไทย อย่ารับใช้โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง หากไม่หยุดการกระทำดังกล่าว ถ้าเห็นว่าผิดกฎหมายอาญาละเมิดสิทธิเสรีภาพของวุฒิสภาอาจต้องดำเนินคดีอาญากับอธิบดีดีเอสไอต่อไป
ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะถอนตัวจากการเป็นคณะทำงาน ยืนยันว่าไม่ถอนตัวจากการเป็นคณะทำงานและไม่เคยเสนอเรื่องนายกฯ มาตรา 7 เพียงแต่เห็นว่ารัฐบาลเหมือนผีหัวขาดไม่มีอำนาจเต็มมีปัญหาในการบริหารประเทศ ไม่เคยน้อยใจที่ที่ประชุมเห็นแตกต่างไปจากตัวเอง พร้อมปฏิบัติตามที่ประชุม เพราะไม่ใช่ไผ่นอกกอ
นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวภายหลังการหารือกับประธานวุฒิสภา ว่า การให้ประธานวุฒิสภานำชื่อนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 คือวิธีที่ดีที่สุด เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามประเพณี เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะกึ่งรัฐล้มเหลว และมีลักษณะเป็นอนาธิปไตย มีมวลชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันว่า จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมือง ดังนั้นวุฒิสภาที่มีสถานะเทียบเคียงกับฝ่ายนิติบัญญัติ จึงสามารถแก้วิกฤติได้ โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับผิดชอบด้วยการรับสนองฯ แต่อย่างไรก็ตามทางวุฒิสภายังต้องไปหารือกับ นายนิวัฒน์ธำรง ว่าจะเสียสละเพื่อประเทศได้หรือไม่ และเมื่อมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วก็ต้องสร้างความชอบธรรมกับประชาชนผ่านการทำประชามติว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะเลือกปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูปอีกครั้งหนึ่ง