xs
xsm
sm
md
lg

เผย 3 แนวทางประชุม ส.ว.หาทางออกประเทศ เปิดให้ “สุเทพ” เข้าสภาฯ แจงแนวทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.ว. ถกนอกรอบร่วมทางออกประเทศ เสนอ 3 แนวทาง ทูลเกล้าฯ นายกมาตรา 7 - เดินสายถกผู้นำองค์กร และเดินหน้าเลือกตั้ง เปิดโอกาส “สุเทพ” เข้าร่วมชี้แจงแนวทางปฏิรูปประเทศ “คำนูณ” หวั่นครหาสองมาตรฐาน เสนอต้องให้มาตรฐานแกนนำมวลชนกลุ่มอื่นด้วย ส.ว. ลำพูน เสนอประชุมลับแต่ไม่ผ่าน ชี้ประชุมหาทางออกประเทศเหมารวมเป็นของ ส.ว. ไม่ได้

วันนี้ (12 พ.ค.) ที่รัฐสภา การหารือในที่ประชุมนอกรอบของวุฒิสภา สมาชิกส่วนใหญ่ที่ลุกขึ้นแสดงความเห็นล้วนเป็นกลุ่ม 40 ส.ว. โดยประเด็นในการประชุมครั้งนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ มีทั้งฝ่ายเสนอให้ประธานวุฒิสภาเดินหน้านำรายชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ตามมาตรา 7 เพื่อเป็นคนกลางในการหาทางออกให้กับประเทศ อีกฝ่ายเห็นควรให้ประธานวุฒิสภาเดินสายหารือกับผู้นำองค์กรต่างๆ ให้ตกผลึกเป็นรูปธรรมก่อน ถึงจะเสนอชื่อนายกฯ มาตรา 7 ขณะที่สมาชิกไม่กี่คนที่อภิปรายสนับสนุนให้เดินหน้าเลือกตั้งต่อไป โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

นายตรี ด่านไพบูลย์ ส.ว. ลำพูน ได้เสนอให้มีการประชุมลับ เนื่องจากเห็นว่าปัญหาของบ้านเมือง ถือเป็นการต่อสู้และแย่งชิงทางการเมือง ซึ่งมีความละเอียดอ่อนต่อการแก้ปัญหา ทั้งนี้ กังวลว่าการเปิดเผยต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง อาจจะเป็นประเด็นที่พาวุฒิสภาไปสู่ความเสี่ยงต่อการไม่ได้รับการยอมรับ ดังนั้น ควรจะให้วุฒิสภาหารือให้ได้จุดลงตัวก่อน อย่างไรก็ตาม การเสนอความเห็นของนายสุรชัย แม้จะเป็นเจตนาดีถือเป็นความเห็นของคนเพียงคนเดียว ดังนั้นหากพิจารณาด้วยความมีอคติอาจทำให้บ้านเมืองมีจุดอับ และเจอความวิบัติได้ แต่ที่ประชุมได้มีมติให้สมาชิกอภิปรายได้อย่างเปิดเผย

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งหลั่งรากลึก เราแก้ได้เท่าที่กรอบจะทำได้ สังคมไม่ได้หวังให้เรามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของสังคม แต่รัฐบาลบริหารงานไมได้พิกลพิการ ประชาชนจึงเรียกร้องว่าเมื่อตำแหน่งนากรัฐมนตรีว่างลงปล่อยว่างไมได้ ต้องมีคนใหม่ทันที แต่บังเอิญไม่มีสภา เลยเรียกร้ององค์กรที่มีความคล้ายที่สุดคือ ส.ว. พิจารณาหาทางช่วยแหลือหาทางออกในเรื่องตำแหน่งนายกฯ ปกติประธานสภาฯ เป็นผู้นำชื่อขึ้นโปรดเกล้าฯ เมื่อไม่มีประธานสภาฯ อยากให้ประธานวุฒิฯ ทำหน้าที่แทน โดยใช้มาตรา 7 ประชาชนรอให้ประธานวุฒิฯ หาทางออกให้ประชาชน ตั้งนายกฯ ใหม่ที่เหมาะสม

“แม้มีบางฝ่ายบอกว่าท่านไม่สามารถทำได้ หรือทำไปอาจจะมีปัญหา ผมจะร่วมรับผิดชอบกับท่าน โดยจะทำหนังสือถึงประธานขอให้พิจารณาดำเนินการเสนอชื่อบุคคลเพื่อแก้วิกฤตไม่มีนายกฯบริหารราชการแผ่นดิน จำเป็นให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ใครเห็นด้วยก็มาร่วมเซ็นชื่อกัน ประเทศชาติต้องการผู้กล้ารักชาติ โดยเฉพาะต่อกษัตริย์ คนที่โดยสุจริตเพื่อประโยชน์ต่อชาติย่อมได้รับการคุ้มครอง” นายไพบูลย์ กล่าว

ด้าน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. สรรหา กล่าวว่า ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง เพราะขณะนี้องค์กรอื่นๆ เขาโยนเผือกร้อนหนีหมดแล้ว ไม่ว่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ปล่อยละเลยปัญหาวิกฤตหนักข้อยิ่งขึ้น เหลือแต่วุฒิสภา เวลานี้เรามีสมาชิกทั้งเลือกตั้งและสรรหาครบแล้วและเป็นองค์กรที่มีน้ำหนักใกล้เคียงในการแก้ปัญหาประเทศมากที่สุด หากทุกคนโดยเฉพาะประธานถ้าวางเฉยธุระไม่ใช่ไม่เกี่ยวกับพวกเรา ที่สุดเชื่อว่าประชาชนจะถามว่ามีพวกท่านกินเงินเดือนไปทำไม ทำอะไรให้กับแผ่นดินนี้ ไม่รู้จะเปิดสภาได้เมื่อไหร่ กินเงินเดือนเป็นแสนๆ เป็นโอกาสดีแล้วที่ประธานเป็นเจ้าภาพ นายวันชัย กล่าวว่า หากปล่อยให้มีการเลือกตั้งในสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ คาดว่าจะใช้เวลาถึง 14 เดือน แต่ถ้าเลือกไม่ได้มีปัญหาแม้แต่เขตเดียว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโมฆะทั้งประเทศ เราจะสูญเสียทั้งเวลา เสียเงินหลายพันล้าน สิ่งที่เสียหายคือเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีแนวโน้มที่จะรุนแรง ถึงขั้นเสียเลือดเนื้อ

“ดังนั้น ท่านต้องเป็นตัวแทนของประชาชนไปหาความลงตัวพอดี และความเห็นพ้องต้องกันทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศเดินได้ อยากให้เป็นผู้นำเชิญองค์กรอิสระที่มีอำนาจมาตอบ เมื่อเขาไม่กล้าทำท่านต้องกล้ารับเผือกร้อนมาอยู่ในมือ หวังว่าสถานการณ์แบบนี้ท่านน่าจะเป็นคนกลางที่องอาจในนาม ส.ว. เข้าไปดำเนินการ ถ้าไม่ทำพวกเราก็หมดความหมาย ไร้ค่าไร้ราคาไม่รู้จะมีหน้าอยู่บนแผ่นดินนี้ได้” นายวันชัย กล่าว

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตน เห็นด้วยที่ประธานต้องเป็นตัวกลางในการดำเนินการพูดคุยกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องโดยด่วน อาจใช้เวลา 2-3 วัน ต้องทำงานทุกวันตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป สังคมไทยมีความขัดแย้งระดับเลือดนองแผ่นดินมาหลายหน แต่บ้านเมืองกลับคืนสู่สันติสุขด้วยองค์ประมุข แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ที่สืบทอดมาสิบปี หากจะหวังว่าจะคลี่คลายลักษณะเดิมนั้นคงยาก และเป็นประวัติศาสร์การเมืองไทยที่มีความขัดแย้งโดยสองฝ่ายมีมวลชนจำนวนมาก แต่ไม่ว่าฝ่ายใดจะถูกผิด แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นพสกนิกรของราชอาณาจักรไทยการ การแก้ปัญหาจึงต้องระมัดระวังรอบคอบอย่างยิ่ง

นายคำนูณ กล่าวว่า เวลานี้บ้านเมืองเรากำลังมีสองลู่ทาง คือ หนึ่งหากจะมีการเลือกตั้งใหม่ ยังมีปัญหาข้อกฎหมายว่ารักษาการนายกฯ มีอำนาจหน้าที่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเริ่มมีความชัดเจนขึ้นเมื่อมีการหารือระหว่าง กกต. กับรักษาการนายกรัฐมนตรี แต่ผลการหารือจะเป็นตัวกำหนดว่าหนทางเลือกตั้งจะมีความจำเป็นและชอบธรรมหรือไม่อย่างไร หรือที่สุดจะนำไปสู่การเลือกตั้งจะกลับไปสู่ความสงบได้หรือไม่ ขณะที่ในส่วนของการเสนอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีระยะเวลาถึงวันที่ 6 มิ.ย. เชื่อว่าเวลาจะช่วยตอบคำถามได้ระดับหนึ่ง หรือหากจะให้เร่งรัดเร็วขึ้น ประธานควรเชิญบรรดาองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกกต. หารือให้ชัดเจนว่าถ้าจะให้มีการเลือกตั้งจะมีความชัดเจนเรื่องอำนาจหน้าที่แค่ไหน หรือถ้าไปสู่การเลือกตั้งจะกลับไปสู่จุดเดิมเหมือน 2 ก.พ. หรือไม่

“แต่ถ้าจะมาตัดสินว่าวุฒิสภาต้องตั้งนายกรัฐมนตรีตอนนี้ ผมเห็นว่าอาจจะเร็วเกินไป เพราะต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะความขัดแย้งครั้งนี้มาจากฝ่ายที่มีความเห็นกันโดยมีมวลชนมหาศาล กระบวนการแต่งตั้งนายกฯ โดยวุฒิสภาจะใช้มาตรา 7 ที่สุดไม่ได้จบลงที่วุฒิฯ เชื่อว่าประธานทราบดีว่าการจะไปถึงจุดนั้นต้องมีความมั่นใจอย่างยิ่งประการใด โดยต้องแสวงหาความเห็นชอบจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรราชการ องค์กรอิสระ หรือผู้ที่อยู่แถวหน้าในเวลามีการเข้าเฝ้าฯ แม้จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงขององค์กรเหล่านั้น แต่หน้าที่เบื้องต้นของคนไทยทั้งมวลแม้รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ แต่ต้องส่งมอบประเทศไทยที่ไม่สูญสิ้นไปสู่รู่นต่อไป ถือเป็นภาระหนักอึ้งของประธานวุมิสภา เมื่อสมาชิกมอบความไว้วางใจให้ก็ต้องให้ความร่วมมือทุกอย่างที่จะร่วมกันทำงานตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ทำให้สุดความสามารถ จะใช้เวลากี่วันก็แล้วแต่ หารือกับทุกภาคส่วน ทางออกบางอย่างจะเกิดขึ้นมาเอง แต่ที่สำคัญเราต้องทำโดยคำนึงถึงสิ่งที่เราเคารพสูงสุดอย่างแท้จริง เราจะมีนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ได้หรือไม่ คิดว่าภายใน 2-3 วันนี้น่าจะได้คำตอบ” นายคำนูณ กล่าว

ทั้งนี้ นายสุรชัย กล่าวว่า อยากให้สมาชิกช่วยเสนอความเห็นในประเด็นนายกฯ เรื่องมาตรา 7 และวิเคราะห์ว่าปัญหาที่มีขณะนี้เส้นทางเดินของปัญหาคืออะไร แล้วแต่ละเส้นทางเดินไปได้หรือไม่ มีกี่เส้นทาง เพื่อช่วยหาคำตอบว่า ที่สุดถ้าเราจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจแทนประเทศ จะเลือกเส้นทางไหน ต้องเอาเป้าหมายประเทศเป็นที่ตั้ง สิ่งที่เราเพื่อหยุดยั้งความสูญเสียไม่ใช้กำลัง ต้องสร้างความเป็นอิสระในตัวให้ได้ หลายท่านอาจจะผูกพันกับพรรคการเมืองในอดีต วันนี้เป็น ส.ว. ต้องสละไปให้หมด เดินหน้าเพื่อประชาชน ทุกอย่างที่เสนอมา ตนจะรับไป แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่ายที่จะไปหารือด้วยว่าจะรับหรือไม่ เพราะเรื่องความกล้าหาญบังคับกันไม่ได้

นายประภาส นวนสำลี ส.ว.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นสมาชิกเพียงคนเดียวที่แสดงความเห็นว่าควรจะเดินหน้าให้มีการเลือกตั้ง โดยระบุว่า เวลานี้เกิดปัญหาความขัดแย้งสองฝ่าย โดยมวลชนเสื้อแดงต้องการการเลือกตั้ง ขณะที่มวลชนอีกซีกไม่ต้องการ จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ความขัดแย้งดีขึ้น การหาทางออกอยากให้คิดถึงความรู้สึกของชาวบ้านด้วย ในฐานะที่ตนเป็นตัวแทนคนอีกสานอยากสะท้อนความรู้สึกว่าคนอีสานต้องการการเลือกตั้งมากที่สุด

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ขณะนี้ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองกำลังมีปัญหาวิกฤต ส.ว. เป็นขอนไม้ที่ลอยมาพอดี ถ้าเราไม่ทำ แล้วกินเงินเดือนภาษีประชาชนอยู่เฉยๆ เหมือนปลัดกระทรวงทั้งหลาย ทำนายได้ว่าจะต่อสู้กันไปอีก 3-4 ปี ประเทศจะค่อยเสื่อมถอย เศรษฐกิจล่มสลาย ประธานควรเชิญ กกต. มาหารือ ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่ของนายนิวัฒน์ธำรงว่ามีอยู่หรือไม่ เป็นปัญหาที่ต้องถามกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาลถือเป็นองค์ธิปัตย์หนึ่งในอำนาจตุลาการ ดังนั้นควรมีการพบกับประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ไม่จำเป็นต้องหารือแบบเปิดเผยก็ได้ รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ หน่วยงานความมั่นคง ผู้นำเหล่าทัพ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อดีตผู้นำนายกรัฐมนตรี หรืออดีตประธานสภาผู้แทนราษฏร

“ไม่จำเป็นต้องหารือครบทุกคน เอาเท่าที่เวลาเอื้ออำนวย โดยเริ่มตั้งแต่พรุ่งนี้ (13 พ.ค.) นำพวกผมและสื่อมวลชนไปพบกับผู้ใหญ่หลายส่วนเพื่อถามหาทางออก จากนั้นก็นัดประชุมเพื่อสรุปประเด็นที่เป็นรูปธรรม ประชาชนจะได้มีกำลังใจและเห็นว่าเชื่อท่านเอาจริงเอาจัง เราต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนว่าจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้งอย่างไร สุดท้ายค่อยมาหาว่าใครจะเป็นคนทำตรงนั้น” นายสมชาย กล่าว

หลังจากหารือมาถึงเวลา 17.30 น. นายสุรชัยได้หารือกับที่ประชุมว่าจะอนุญาตให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. มาร่วมหารือในที่ประชุมด้วยหรือไม่ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ อาทิ กลุ่ม 40 ส.ว. และส.ว. สายเลือกตั้งภาคใต้ ต่างเห็นด้วยให้นายสุเทพเข้ามาชี้แจงในห้องประชุม เนื่องจาก ส.ว. ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอยู่แล้ว ต่างเห็นด้วยที่จะให้นายสุเทพมาชี้แจงต่อที่ประชุม โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องเสียเวลาไปพบนายสุเทพอีก แต่นายคำนูณ แสดงความเห็นว่าการหารือนอกรอบไม่น่ามีปัญหา ถ้าประชุมวุฒิจะมีกฎเกณฑ์อีกอย่าง การหารือมาถึงตอนนี้น่าจะมีฉันทามติแล้วว่า ควรไปหารือกับองค์กรต่างๆ ในเร็วๆ วันนี้ หากจะให้นายสุเทพเข้ามาร่วมหารือ ต้องให้มาตรฐานผู้นำมวลชนอื่นๆ ด้วย เพราะเกรงจะเป็นที่ครหาว่าเพื่อมวลชนกลุ่มเดียวและมาอยู่หน้าสภา ดังนั้นสภาต้องมีมาตรฐานหากรับนายสุเทพ ก็ต้องรับผู้นำมวลชนกลุ่มอื่นที่ต้องการชี้แจงด้วย ถ้าถือแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี

นายสุรชัยกล่าวว่า เมื่อที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยก็จะอนุญาตให้นายสุเทพมาชี้แจง จากนั้นสั่งพักการประชุม 15 นาที เพื่อหารือถึงขั้นตอนการให้นายสุเทพเข้ามาชี้แจงต่อไป

หลังการพักการประชุม นายตรี ได้แถลงว่า การประชุม ส.ว. เพื่อหาทางออกประเทศครั้งนี้ ไม่สามารถนำไปเหมารวมได้ว่า เป็นความเห็นของ ส.ว. เพราะเป็นการหารือลักษณะไม่เป็นทางการ ไม่สามารถนำชื่อองค์กรไปเสี่ยงต่อความขัดแย้งได้ การหารือครั้งนี้ไม่สามารถทำในเชิงเปิดเผยได้ ควรประชุมเป็นการลับ เพราะ ส.ว. ส่วนหนึ่งอาจไม่กล้าพูด เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อมวลชน ดังนั้นผู้นำองค์กรไม่ควรเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากมีการนำผลหารือไปแอบอ้างว่าเป็นมติวุฒิสภา ถือเป็นความรับผิดชอบของประธานวุฒิสภา ทั้งนี้หากนายสุรชัย อนุญาตให้นายสุเทพ เข้าชี้แจงได้ ก็ควรอนุญาตให้คนอื่นๆ มาชี้แจงต่อวุฒิสภาได้เช่นกัน เพื่อความเป็นธรรม หากอนุญาตให้นายสุเทพเข้ามาคนเดียวจะทำให้ภาพลักษณ์ ส.ว. เสียหาย

จากนั้น เมื่อเวลา 18.30 น.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.พร้อม สาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายวิทยา แก้วภารดัย และร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม และสมบัติ ธํารงธัญวงศ์ ได้เข้ามาภายรัฐสภา เพื่อหารือทางออกประเทศกับ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเสิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา โดยไม่ให้สื่อมวลชนร่วมเข้าฟัง











กำลังโหลดความคิดเห็น