กมธ.การเงิน ถกประเด็นภาวะเศรษฐกิจใต้ภาวะการเมือง ชี้แม้จะออก พ.ร.บ.งบประมาณปี 58 ไม่ทัน ใช้ของปี 57 ได้ แต่นายกฯ เป็นแค่รักษาการ ไม่สามารถอนุมัติงบประมาณผูกพันในอนาคต อดีต รมช.คลัง ชี้ส่อคล้ายวิกฤตชัตดาวน์สหรัฐฯ ไม่มีเงินเดือนจ่ายข้าราชการ ส่วน กกต. ออกความเห็นอนุมัติงบประมาณไม่ได้ สบน. คาดพิจารณาเสร็จ เม.ย. ปี 2558
วันนี้ (22 เม.ย.) การประชุมคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ที่มีนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ได้มีการประชุมกันในเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศภายใต้สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน โดยเชิญนักวิชาการและผู้แทนจากกระทรวงการคลัง มาชี้แจง ทั้งนี้ นายคำนูณ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีความน่าเป็นห่วงว่า รัฐบาลจะไม่สามารถออกพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ได้ทันในช่วงเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 166 จะบัญญัติให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อนได้ แต่จะมีรายละเอียดในทางปฏิบัติอีก คือ มาตรา 16 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ที่ระบุว่า ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการกำหนด โดยอนุมัตินายกรัฐมนตรี ทว่าปัจจุบัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีสถานะเป็นรักษาการ ทำให้จะเกิดการตีความจะมีอำนาจอนุมัติตามกฎหมายได้หรือไม่
“นายกรัฐมนตรีมีอำนาจจำกัดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) กำหนดให้รัฐบาลรักษาการต้องไม่อนุมัติอะไรที่มีผลผูกพันในอนาคต ซึ่งการอนุมัติงบประมาณย่อมมีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดใหม่อย่างแน่นอน แม้จะเป็นความจำเป็นของประเทศก็ตาม” นายคำนูณ กล่าว
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอดีต รมช.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยประสบกับสถานการณ์แบบนี้มาก่อน เพราะในอดีตเคยกรณีที่ออกกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน แต่จะอยู่ในภาวะที่ประเทศมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม แม้จะมีบางช่วงที่เป็นรัฐบาลจากการรัฐประหารก็ตาม สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันถือว่าอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจเต็ม ประกอบกับรัฐธรรมนูญอนุญาตให้รักษาการแต่ไม่สามารถดำเนินการกิจกรรมใดๆ ได้
“ในแง่ของรัฐธรรมนูญคงไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหานี้มาก่อนที่จะต้องมาตีความกัน ซึ่งถ้าเอาอย่างสุดโต่งเลย คือ ต้องแบบสหรัฐอเมริกาที่เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ต้องชัตดาวน์กันหมด เพราะว่าไม่มีอำนาจ และประธานาธิบดีโอบามาก็ไม่มีอำนาจจ่ายเงิน แต่ผมเชื่อว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมีความต้องการให้เกิดความคล่องตัว และละมุนละม่อม ที่ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐธรรมนูญสามารถให้ใช้เงินได้ เพราถ้าไม่ทำจะเกิดความเสียหาย เพราะไม่มีเงินจ่ายเป็นเงินเดือนข้าราชการ” นายพิสิฐ กล่าว
นายพิสิฐ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าวีธีเดียวที่รัฐบาลรักษาการจะแก้ไขได้ คือ การไปขออนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้อนุมัติงบประมาณ
นายคำนูณ กล่าวว่า กรณีนี้มีลักษณะเป็นเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) ที่ห้ามไม่ให้ดำเนินการอนุมัติใดๆ ที่จะมีผลผูกพันในอนาคต จึงคิดว่า กกต. ไม่น่าจะสามารถให้ความเห็นได้ เหมือนกับกรณีที่ กกต. ไม่ได้ตอบข้อหารือของรัฐบาลเมื่อครั้งจะดำเนินการกู้เงินเพื่อจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
“บางท่านก็ตำหนิผมว่าอย่าไปคิดให้มันมีปัญหา แต่ผมบอกว่าผมไม่ได้คิดแต่มันมีประเด็นอยู่แล้ว และผมถามว่านายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีตัวจริง ท่านจะกล้าเซ็นอนุมัติหรือ ถ้าท่านเซ็นอนุมัติมันจะมีหลักประกันได้อย่างไรว่า จะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งไปเอาความผิดกับท่าน แม้จะรู้ว่าเป็นความจำเป็นก็ตาม” นายคำนูณ กล่าว
นายสุวิชญ โรจนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีหารือกับสำนักงบประมาณ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่ามีแนวโน้มว่าอย่างเร็วที่สุดจะสามารถพิจารณางบประมาณปี 2558 จะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. ปี 2558 โดยช่วงใช้เงินงบประมาณจะอยู่ในช่วงเดือน มิ.ย. ไปจนถึง ก.ย. หรือประมาณ 5 เดือน ภายใต้สมมติฐานที่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เสร็จในช่วงเดือน พ.ย. 2557
“ภาครัฐจะใช้เงินงบประมาณของปีที่แล้วไปพลางก่อน หน่วยงานไหนเคยได้งบประมาณเท่าไหรก็ใช้ได้เท่ากับวงเงินที่เคยใช้เมื่อปีงบประมาณ 2557 เช่น สมมติว่า สบน. มีงบประมาณชำระหนี้ 1 แสนล้านบาท ก็จะต้องใช้อยู่ในกรอบดังกล่าวไปก่อน แต่ส่วนเกินอาจจะต้องหาเงินจากทางอื่น หรือ ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินจริงๆ คงต้องไปของบกลาง” นายสุวิชญ กล่าว