โดยสินีรัตน์ สิริอิทธิวงศ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
“ดอกเบี้ยนโยบาย” มักเป็นประเด็นที่ถูกนำมากล่าวถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะอยู่ในช่วงซบเซาหรือร้อนแรงก็ตาม โดยล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.25% เหลือ 2% เมื่อวันพุธที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อ ขณะที่เงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นด้วยการลดดอกเบี้ยน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปได้ อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลต่อราคาและผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้อีกด้วย ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้างนั้น เราลองมาติดตามกันค่ะ
ดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Policy Rate คือดอกเบี้ยอ้างอิงของประเทศและถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับดูแลนโยบายการเงิน ซึ่งจะถูกกำหนดขึ้นโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบาย โดย กนง.ของไทยมีกำหนดการประชุมตามวาระปกติปีละ 8 ครั้ง ทั้งนี้ ดอกเบี้ยนโยบายจะมีอัตราที่แตกต่างกันไปตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละช่วงเวลา โดยปัจจุบัน กนง.กำหนดให้ดอกเบี้ยของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร 1 วัน (R/P 1 Day) เป็นดอกเบี้ยนโยบายของประเทศ ซึ่งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของ R/P 1 Day จะมีผลทำให้ดอกเบี้ยประเภทต่างๆ ในตลาดการเงินของไทย เช่นดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยในทิศทางเดียวกัน
เช่นเดียวกับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ (Yield) ที่จะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับดอกเบี้ยนโยบายหรือ R/P 1 Day อยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก R/P 1 Day คือดอกเบี้ยสำหรับธุรกรรมซื้อคืนระยะสั้น (1 วัน) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของ R/P 1 Day จึงส่งผลต่อ Yield ของตราสารหนี้ระยะสั้นมากกว่า Yield ของตราสารหนี้ระยะยาว โดยการลดลงของ R/P 1 Day จะมีผลทำให้ Yield ของตราสารหนี้ปรับตัวลดลง และเนื่องจาก Yield และราคาของตราสารหนี้จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกัน ดังนั้นการลดลงของ R/P 1 Day จึงมีผลทำให้ราคาของตราสารหนี้ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
ดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับให้สูงขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดย กนง.จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการลด R/P 1 Day เมื่อเห็นว่าเศรษฐกิจจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น หรือในทางตรงกันข้าม กนง.จะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดด้วยการปรับ R/P 1 Day ให้สูงขึ้นหากเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะร้อนแรงจนต้องมีการควบคุม ดังนั้น ในช่วงก่อนที่จะมีการประชุม กนง.ครั้งล่าสุด (12 มี.ค.) ตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลายตัวส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจนจนทำให้นักลงทุนคาดว่า กนง.น่าจะต้องลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การคาดการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดแรงซื้อเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากว่าหาก กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายตามที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้จะมีผลทำให้ราคาของตราสารหนี้ในอนาคตปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อมีแรงซื้อเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้มากขึ้น (Demand มากขึ้น) ขณะที่ปริมาณของตราสารหนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก (Supply เท่าเดิม) จึงมีผลทำให้ราคาตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้น หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ แรงซื้อตามการคาดการณ์ถึงทิศทางดอกเบี้ยในอนาคตนั้นมีผลทำให้ Yield ของตราสารหนี้ในปัจจุบันปรับตัวลดลงตามไปด้วยนั่นเองค่ะ
และจากการติดตามตัวเลขดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าในทุกๆ ครั้งก่อนที่จะมีการประชุม กนง. นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้จะมีการคาดการณ์ถึงทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายไว้ล่วงหน้าเสมอ และการคาดการณ์ดังกล่าวจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของ Yield ในช่วง 1 เดือนก่อนการประชุม ซึ่งหากนักลงทุนคาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จะมีผลทำให้ Yield ของตราสารหนี้ระยะสั้นในช่วง 1 เดือนก่อนการประชุมลดลงประมาณ 0.15% ขณะที่ Yield ของตราสารหนี้ระยะยาวจะลดลงประมาณ 0.10% การเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ควรให้ความสนใจ เพราะจะช่วยให้สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสมในช่วงที่มีการคาดการณ์ถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย และยังช่วยให้ไม่เสียโอกาสที่จะขายเพื่อทำกำไร หรือไม่พลาดการซื้อเพิ่มเพื่อลงทุนในช่วงที่ตลาดมีการปรับตัวด้วยค่ะ