xs
xsm
sm
md
lg

“วราเทพ” ย้อนศาล รธน.กู้ 2 ล้านล.ใช้ พ.ร.ก.แบบไทยเข้มแข็งได้หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวราเทพ รัตนากร รักษาการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ (ภาพจากแฟ้ม)
รมต.ประจำสำนักนายกฯ กังขาศาล รธน.ตีตก พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน เหน็บจะกู้ พ.ร.ก.แบบไทยเข้มแข็งได้หรือไม่ แถวิธีตรวจสอบเข้มงวดมากกว่า

วันนี้ (14 มี.ค.) นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตกไป เนื่องจากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง โดยมีข้อสังเกต 4 ประเด็นคือ 1.จากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลได้ว่าการกู้เงินจะดำเนินการได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเร่งด่วนหรือในรูปแบบของพระราชกำหนดที่ออกโดยฝ่ายบริหารเท่านั้น ดังนั้น กรณีนี้หากอยู่ในช่วงสถานการณ์ปกติ และฝ่ายบริหารมีความจำเป็นต้องกู้เงินมาเพื่อดำเนินการโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาประเทศที่ต้องใช้ระยะเวลานานและเงินลงทุนจำนวนมาก แต่มีความคุ้มค่าในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการสร้างทางรถไฟและรถไฟฟ้า หรือการสร้างสนามบิน ก็จะสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติกู้เงินในลักษณะนี้ได้ใช่หรือไม่ เพราะรัฐบาลในอดีตของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยทำมาแล้ว ที่ได้เคยเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. .... จำนวน 4 ล้านบาท ต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาในปี พ.ศ.2552

2.การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 2 ล้านล้านบาท ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง นั้น หากเป็นเช่นนั้นการกู้เงินของกระทรวงการคลังตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 20 เพื่อวัตถุประสงค์ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ หรือพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศนั้น อาจไม่สามารถกระทำได้ใช่หรือไม่

3.กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท กำหนดให้นำเงินกู้ไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้ โดยไม่ต้องส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และให้ ครม.รายงานการกู้เงิน ผลการดำเนินงาน และการประเมินผลตามแผนงานในแต่ละยุทธศาสตร์ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง นั้น กรณีนี้อาจมีผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศที่ผ่านมา เนื่องจากในกรณีเงินแผ่นดินที่เป็นเงินนอกงบประมาณหรือเงินรายได้ของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กองทุนต่างๆ หรือ กสทช.เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับบัญญัติให้สามารถนำเงินนั้นไปใช้จ่ายเพื่อการใดๆ ตามที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ต้องส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

ดังนั้นกรณีนี้ เงินดังกล่าวจะต้องถูกส่งกลับเข้าคลังทั้งหมดเพื่อจ่ายออกตามกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือไม่ ทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2552 ได้เคยวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 ตราขึ้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และพระราชกำหนดดังกล่าวก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ให้เงินที่ได้จากการกู้ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เช่นเดียวกับร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ฉบับนี้เช่นเดียวกัน

4.ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ได้กำหนดการควบคุมการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินไว้หลายประการ เช่น การกำหนดให้โครงการตามแผนงานที่จะได้รับจัดสรรเงินกู้ได้ต้องมีการเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและการจัดสรรเงินกู้ โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมาย หรือก่อนที่จะเสนอ ครม. ต้องเสนอโครงการต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อน, หรือกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานการเบิกจ่ายเงินกู้ของโครงการ และผลการดำเนินโครงการต่อกระทรวงเจ้าสังกัดอย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดโครงการ, หรือกำหนดให้กระทรวงเจ้าสังกัดของหน่วยงานเจ้าของโครงการจัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลโครงการและแผนงานที่มีการใช้เงินกู้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และกำหนดให้ ครม. รายงานการกู้เงินที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้ว ผลการดำเนินงานและการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานในแต่ละยุทธศาสตร์ ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ โดยอยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบจากภายนอกโดยองค์กรศาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับกรณีการใช้จ่ายเงินของรัฐหรือเงินกู้อื่น กรณีการตรวจสอบควบคุมดังกล่าวนี้ ค่อนข้างเข้มงวดมากหากเปรียบเทียบกับพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น