xs
xsm
sm
md
lg

วันนี้กำลังจะมีนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง นับแต่การเข้ามาควบคุมอำนาจของ คสช.ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือ วันนี้จะเป็นวันที่เราจะได้มี “นายกรัฐมนตรี” แล้ว

นับว่าเป็นการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะทหาร รอบที่มีนายกฯ ช้าที่สุด เพราะในตอนที่ รสช.ทำรัฐประหารนายกฯ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ตอนนั้นก็ใช้เวลาสัปดาห์เดียว ในวันที่ 2 มีนาคม 2534 ก็มีการแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ หรือครั้งล่าสุดในยุค คมช. ก็ใช้เวลาเพียง 10 กว่าวันเท่านั้น จากวันที่ 19 กันยายนถึง 1 ตุลาคม 2549

แต่ในรอบนี้ ใช้เวลาร่วม 3 เดือนขาดไปเพียงหนึ่งวันเท่านั้นก็ชน 3 เดือน รวมทั้งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวด้วย ที่ใช้เวลาตระเตรียมการนานกว่าครั้งไหนๆ จึงประกาศใช้บังคับ และก็ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาแปลกแตกต่างจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับไหนๆ ที่เคยมีมาก่อนด้วย

นั่นคือปกติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น จะเป็นลักษณะของการเขียนรัฐธรรมนูญแบบ “รีบๆ เสร็จๆ” เพื่อตั้งรัฐบาลรักษาการ ร่างรัฐธรรมนูญถาวร และมีการเลือกตั้งใหม่

ซึ่งก็ได้พบว่าการทำเช่นนั้นเป็นการเสียเปล่า อย่างในสมัยปี 2534 ก็ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ร่างขึ้นมา ก็เปิดช่องให้มีนายกฯ ที่ไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้ มีการตั้งพรรคขึ้นมาชูพลเอกสุจินดา คราประยูรหนึ่งในคณะ รสช.ในขณะนั้นเป็นนายกฯ โดยยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” และลุกลามไปสู่การต่อต้านของประชาชน เป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

หรือเมื่อคราวรัฐประหารโดยคณะ คมช.ครั้งล่าสุดปี 2549 ก็เรียกกันว่าเป็น “รัฐประหารที่เสียเปล่า” เพราะเหมือนรัฐประหารไปพอเสร็จๆ เอารัฐธรรมนูญ 2540 มาปะผุใหม่เป็นรัฐธรรมนูญ 2550 มีการเลือกตั้งใหม่ ได้นอมินีของกลุ่มอำนาจเดิมก่อนรัฐประหารนั่นแหละกลับมา

กลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มเติมมาถึง 7 ปี การนองเลือด เสียเลือดเสียเนื้อประชาชน ทหาร ตำรวจ 3-4 รอบอย่างที่ทุกคนได้ทราบไปแล้ว

เป็นบทเรียนให้คราวนี้ ฝ่ายทหารจึงต้องค่อยดำเนินการอย่างรอบคอบ วางแผน วางกรอบเวลาอย่างละเอียด ค่อยๆ ดำเนินการตามกระบวนการปฏิรูป

ไม่จำเป็นต้องเร่งตั้งรัฐบาลเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีรัฐบาลที่ไม่ใช่คณะรัฐประหารปกครองแล้วนะ

ก็เหมือนผ่าตัดใหญ่ ไม่ต้องไปเร่งคนไข้ให้หายเร็วๆ ลุกขึ้นเดินเล่นใน 3 วัน แล้วฟุบไปใหม่เป็นปี อย่างนั้นคงไม่ดี

รัฐธรรมนูญใหม่จึงใช้เวลานานในการคลอด และมีกติกามากมายที่แตกต่างออกไป รวมทั้งมีบทที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวไหนๆ ก็ไม่เคยมี คือบทให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการ “เสียเปล่า” ที่ไม่อาจจะทำให้ประเทศหลุดพ้นวงเวียนแห่งความขัดแย้งไปได้

ส่วนเรื่องโหวตนายกฯ วันนี้ เห็นกระแสข่าวว่า “แบเบอร์” แล้ว ท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาวินแน่

หรือบางคนบอกว่า ก็ยังไม่แน่ขนาดนั้น เพราะมีตัวเก็งถึง 3 ท่าน

ท่านแรก คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ท่านที่สอง คือ “บิ๊กตู่” ผู้บัญชาการทหารบก

และท่านสุดท้ายที่ก็มาแรงอาจจะแซงสองท่านแรกไปได้ คือ ท่านประธานบอร์ด BOI

เป็นการแซวเล่นแบบขำๆ ของคนในวงการสื่อและชาวโซเชียล แต่ก็เห็นได้ว่า ตัวเลือกนายกฯ ในตอนนี้ สังคมไทยยังไม่เห็นใครเหมาะเท่าท่านอีกแล้ว

และก็ไม่ผลิกโผอย่างไร เมื่อปรากฏว่า นายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นนายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเห็นชอบ 191 คน ไม่เห็นชอบ 0 คน งดออกเสียง 3 คน

จึงถือว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย และขั้นตอนจากนี้ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะนำชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมต่อไป

และนี่ก็ถือเป็นครั้งแรกในรอบนับ 40 ปี ที่หัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจ ตกลงนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง นับไปได้ครั้งก่อนนี้ ก็ต้องยุคจอมพลถนอม กิตติขจรปี 2514 นั่นเลย

ก็เป็นอันว่าหมดสงสัยไปเรื่องหนึ่งว่าใครจะเป็นนายกฯ แต่ภารกิจต่อไปของท่านประยุทธ์ คงจะต้องถือว่าเป็น “ของจริง” หรือต้องเป็นเรื่องจริงจังแล้ว

เพราะจะต้องนั่งบริหารประเทศในฐานะนายกฯ เต็มตัว ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล พร้อมกับยังมีหน้าที่ในการสอดส่องดูแลกระบวนการปฏิรูป ในฐานะหัวหน้า คสช. อีกตำแหน่งหนึ่ง

ในช่วงเวลาที่อาจจะถือว่า พ้นเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์แล้ว

และการเป็นนายกฯ อย่างจริงจัง คงจะต้องบอกให้ท่านทำใจยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่างๆ เพราะอันที่จริงแล้ว “นายกรัฐมนตรี” เป็นฝ่ายราชการการเมือง ไม่ใช่ราชการทหารที่มีลำดับบังคับบัญชา ไม่ใช่การใช้อำนาจของ คสช.ที่ผู้คนยอม “หยวน” ให้ว่า เป็นการใช้อำนาจชั่วคราวเพื่อขจัดปัดเป่าปัญหาเฉพาะหน้า

แต่การนั่งเก้าอี้นายกฯ นี้ถือเป็น “ของจริง” งานจริง และความรับผิดชอบในฐานะรัฐบาลจริงจัง และเมื่อเป็นตำแหน่งทาง “การเมือง” ก็คงหนีไม่พ้นความเห็นต่าง

ซึ่งบนเก้าอี้ตัวนี้ ท่านจะ “ทุบโต๊ะ” หรือ “พูดเสียงดัง” แบบเดิมๆ คงไม่เหมาะแล้ว

นี่คือสิ่งที่อยากให้ท่านต้องตระหนักระวัง แต่กระนั้น กระแสความนิยมชื่นชมของคนไทยที่มีต่อตัวท่าน ก็ยังถือว่ามากอยู่ จากบุคลิกที่ดูจริงใจ ถึงลูกถึงคน พูดจาซื่อๆ มีอารมณ์ขัน ด้วยภาษาชาวบ้าน ด้วยวิธีคิดแบบชาวบ้านที่ไม่มีมาดแบบข้าราชการหรือผู้บริหารมากเกินไป

แต่ทั้งหลายทั้งปวง นั่นคือ “ความชื่นชอบ” ในฐานะของหัวหน้า คสช.ผู้เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ชั่วคราว

ซึ่งต่างจากกรณีของนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องรับผิดชอบกิจการในการบริหารประเทศอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ขัดตาทัพให้ข้าราชการทำงานไป แต่จะต้องเป็นการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า และป้องกันการทุจริตในโครงการต่างๆ ที่จะมีต่อจากนี้ไปเพื่อการปฏิรูปประเทศด้วย

นี่คือการบ้านที่รอท่า ท่านนายกรัฐมนตรีคนที่ 29
กำลังโหลดความคิดเห็น