xs
xsm
sm
md
lg

คสช.คลอดบอร์ดสรรหาสปช. ตัวเต็งมากันครบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ประยุทธ์"นั่งหัวโต๊ะประชุม คสช. โชว์ตัวเลขครึ่งปีหลัง จีดีพีพุ่งร้อยละ 4 ทำภาพรวมทั้งปีโตถึงร้อยละ 2 เผยเตรียมดันงบปี 58 และกฎหมายจำเป็น "พรเพชร"นัดประชุม สนช.รอบสอง 15 ส.ค. ถกระเบียบการประชุม คาดเลือกนายกฯ สัปดาห์หน้า "กรณ์"จี้ "บิ๊กตู่" นำทีมแจงบัญชีทรัพย์สิน ล่าสุดคสช. สั่งทำคลอดกรรมการสรรหา สปช.แล้ว ตั้ง "บิ๊กป้อม" คุมการเมือง "อนุพงศ์" ปกครองท้องถิ่น "วิษณุ" บริหารแผ่นดิน "ณรงค์ชัย" เศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เป็นประธานการประชุม คสช.คณะใหญ่ ครั้งที่ 10/2557 ซึ่งได้เลื่อนมาจากวันอังคารที่ 12 ส.ค. ที่เป็นวันหยุด โดยมีผู้แทนหัวหน้ากลุ่มงานทุกด้าน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ในการประชุม หัวหน้าคสช.ได้กล่าวขอบคุณ คณะกรรมการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม รวมถึงทุกส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่ได้ร่วมจัดงานระหว่างวันที่ 9-12 สิงหาคม ให้ผ่านไปได้ด้วยความเรียบร้อย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงแข็งแรงขึ้น และมีพระชนมมายุยิ่งยืนนาน พร้อมขอให้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไปปรับใช้ในการทำงาน

สำหรับการปฏิบัติงานของสนช. จากนี้ไป จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 และกฎหมายที่มีความเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ คาดว่า ช่วงหลังของปีงบประมาณปี 2557 จะเติบโตได้ร้อยละ 4 ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีรวมตลอดปี ขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2 อันมาจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวล เรื่องของสถานการณ์เศรษฐกิจภายนอกประเทศจากการสู้รบ ความไม่สงบเรียบร้อยของหลายประเทศในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม หัวหน้า คสช. ได้ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปหาวิธีการทำให้เรื่องของความมั่นคงกับการท่องเที่ยวเดินหน้าไปด้วยกันได้ แม้จะยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น รวมถึงอาจมีการออกมาตรการประกันความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และได้รับบาดเจ็บ สูญเสียจากสถานการณ์ความมั่นคง

นอกจากนี้ ในการใช้จ่ายงบประมาณ หัวหน้าคสช. ได้ให้นโยบายขอให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสแรกให้ได้โดยเร็ว โดยให้สำนักงบประมาณไปดำเนินการจัดกลุ่มโครงการที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วน โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็ก ขนาดย่อย ใช้งบประมาณไม่เกิน 100 ล้าน ที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม เพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ซึ่งทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องมีผลสัมฤทธิ์รายไตรมาสออกมาให้เห็นและรายงานต่อคสช.

***สั่งการ-อนุมัติโครงการอีกเพียบ

น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไปจัดลำดับความสำคัญของการวางระบบโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำระหว่างประเทศ และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจพิจารณาว่าจะดำเนินการในเส้นทางใดก่อนหลังจาก 3 เส้นทาง เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการให้บริการระบบอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบให้ใช้พื้นที่ถ.ราชดำเนินและบริเวณต่อเนื่อง จัดลานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , อนุมัติงบก่อสร้างถนน , การสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลสวัสดิการของตำรวจชั้นผู้น้อย , การเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้กับอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และจ่ายเงินตอบแทนพิเศษพนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และการจัดกิจกรรมวันดินโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเวทีนานาชาติ

** เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำ

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำของประเทศ โดยให้เตรียมการอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ การทำแก้มลิง ขุดลอกคลองเพื่อกักเก็บน้ำในพื้นที่ใต้เขื่อน และได้มอบหมาย คณะกรรมการบริการจัดการน้ำ เร่งรัด และดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว โดยเฉพาะจัดทำแก้มลิงในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่องรองรับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันการทำฝนหลวงถือว่า ประสบผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ตามที่วางแผนไว้ นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี, อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ, ยโสธร, มุกดาหาร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

**คาดเลือกนายกฯ สัปดาห์หน้า

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ว่าที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการหารือนอกรอบกับว่าที่รองประธาน สนช. ทั้ง 2 คน ว่า ได้มีการนัดเปิดประชุม สนช. นัดที่ 2 ในวันที่ 15 ส.ค.นี้ เพื่อพิจาณา ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช. ปี 2557 ทั้งนี้ จะมีการประสานไปยัง คสช. ว่า พร้อมที่จะนำ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาในวันศุกร์นี้เลยหรือไม่

ส่วนการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ยังไม่มีการหารือแต่อย่างใด แต่คาดว่า จะสามารถเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างให้ทีมกฎหมายพิจารณาว่าจะใช้ข้อบังคับใดในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่หากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธาน และรองประธาน สนช. ภายในวันที่ 14 ส.ค.นี้ การประชุมนัดที่ 2 ก็จำเป็นต้องเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์หน้า

** จี้"ประยุทธ์"นำทีมแสดงบัญชีทรัพย์สิน

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เรียกร้องให้ คสช. ยื่นบัญชีทรัพย์สินเพื่อให้มีการตรวจสอบโดยสาธารณะว่า นายประมนต์ ไม่ควรถูกมองว่าเป็นการท้าทาย หรือลบหลู่ คสช. เพราะความโปร่งใส ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราต้องการจากเพียงคนที่เราไม่ไว้วางใจ แต่เป็นสิ่งที่เราควรคาดหวังได้จากผู้มีอำนาจทุกคน ในกรณี คสช. นั้นยิ่งสำคัญ เพราะผู้สนับสนุนคาดหวังให้ คสช. เข้ามาแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน ดังนั้น เพื่อความชอบธรรม คสช.ควรต้องทำตัวเองให้เป็นตัวอย่างที่ดี ที่สำคัญที่สุด คือ การต่อสู้คอร์รัปชันสำคัญมากที่ผู้รณรงค์ ต้องมีความน่าเชื่อถือว่าไม่โกง และการปฏิเสธที่จะให้ผู้อื่นตรวจสอบนั้น จะทำให้การยอมรับการทำงานของคสช. ทางด้านนี้ ลดลง

**ป.ป.ช.ยกเคสปี 49 ให้สนช.แจ้งบัญชีฯ

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีข้อถกเถียง สนช. ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. หรือไม่ว่า กรณีดังกล่าวต้องตีความข้อกฎหมาย เพราะปกติตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ระบุ ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ได้แก่ ส.ส. -ส.ว. และ ครม. แต่ สนช. เป็นตำแหน่งกรณีพิเศษที่ทำหน้าที่เหมือนส.ส. และส.ว. ซึ่งกฎหมายป.ป.ช.ไม่ได้ระบุว่าต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน คงต้องมีการนำมาเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 ซึ่งขณะนั้นกำหนดให้สนช. ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. หลังจากเข้ารับตำแหน่งภายใน 30 วัน ดังนั้น หากยึดถือตามธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนปี 2549 ที่ผ่านมา สนช.ก็มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เชื่อว่าที่ประชุมป.ป.ช. คงยึดถือตามแนวปฏิบัติเดิมที่เคยมีมา ซึ่งสนช.หลายคนเข้าใจดีว่า ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ส่วนเมื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้ว จะต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ เหมือนกรณี ส.ส.และส.ว.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นของที่ประชุม ป.ป.ช. ในวันที่ 14 ส.ค.นี้

***คลอดกรรมการสรรหา สปช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 121/2557 เรื่อง การแแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 คณะ ประกอบด้วยบุคคลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ปี 2547 และให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านต่างๆ ตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557

โดยด้านการเมือง ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายนรนิติ เศรษฐบุตร, นายภุมรัตน ทักษาติพงศ์, นายสุจิต บุญบงการ, นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, นายสุรพล นิติไกรพจน์

ด้านบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย นายวิษณุ เครืองาม, นายดิน ปรัชญพฤทธิ์, นายทศพร ศิริสัมพันธ์, นานนทิกร กาญจนะจิตรา, นายมีชัย ฤชุพันธุ์, นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ, นายสีมา สีมานันท์ม

ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย นายพรเพชร วิชิตพลชัย, นายประสพสุข บุญเดช, นายวิเชียร ชุบไธสง, พล.ต.วีระ โรจนวาศ, นายสมชัย วัฒนการุณ, นางสุวณา สุวรรณจูฑะ, พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล,

ด้านการปกครองท้องถิ่น ประกอบด้วย พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา, นายจาดุร อภิชาตบุตร, นายธวัชชัย ฟักอังกูร, นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร, นายวสันต์ วรรณวโรทร, นายสมพร ใช้บางยาง, นายศิวะ แสงมณี

ด้านการศึกษา ประกอบด้วย นายยงยุทธ ยุทธวงศ์, นายกฤษณพงศ์ กีรติกร, คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา, นายพรชัย มาตังคสมบัติ, นายวราภรณ์ สามโกเศศ, นายสมชาย ไชยเวช, คุรหญิงสุมณฑา พรหมบุญ

ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายณรงค์ชัย อัครเศรณี, นายจีรเดช อู่สวัสดิ์, นายโชคชัย อักษรนันท์, นายนพพร เทพสิทธา, นายปราโมทย์ วิทยาสุข, นายวิศาล บุปผเวส, นางอภิรดี ตันตราภรณ์

ด้านพลังงาน ประกอบด้วย ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล, นายการุณ กิตติสถาพร, นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช, นายบรรพต หงษ์ทอง, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายพละ สุขเวช, นายวิเศษ จูภิบาล

ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์, นางกอบกุล รายะนาคร, นายเจตน์ ศิรธรานนท์, นางนิศากร โฆษิตรัตน์, นางเรณู เวชรัชต์พิมล, นายวิจารย์ สิมาฉายา, นายสมศักดิ์ ชุณหรัศมี

ด้านสื่อสารมวลชน ประกอบด้วย พล.อ.นพดล อินทปัญญา, นางจำนรรจ์ ศิริตัน, นายฐากร ตัณฑสิทธิ์, นางพิรงรอง รามสูต, นางวรรณี รัตนพล, นายสำเริง คำพะอุ, นายอรุณ งามดี

ด้านสังคม ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม, นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร, นายพรชัย ตระกูลวรานนท์, นายมงคล ณ สงขลา, นายสมพล เกียรติไพบูลย์, คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์

ด้านอื่นๆ ประกอบด้วย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, นางกอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒนวรางกูร, นายบรรยง สุวรรณผ่อง, ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล, นายวารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ, นายเศรษฐา ศิระฉายา, นายอณัส อมาตยกุล โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มอบหมายเจ้าหน้าที่เพื่อรับผิดชอบงานเลขานุการและงานธุรการของคณะกรรมการสรรหาด้านต่างๆ รวมทั้งจัดให้มีการประชุมเพื่อเลือกกรรมการสรรหาคนหนึ่งเป็นกรรมการสรรหา

**"ปนัดดา"เผยตรวจสอบข้าวใกล้จบ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ภารกิจและหน้าที่ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบปัญหาและอุปสรรคโดยภาพรวม ดังนี้ 1.การจัดทำบัญชีรับ-จ่าย ของโกดังข้าวไม่มีความพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ 2.โกดังหลายแห่งมีข้าวชนิดอื่นปลอมปน ไม่มีความสะอาดตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ มีเศษวัสดุ เศษข้าวที่ร่วงหล่น ซากสัตว์ ทั้งตัวมอด ตัวไร แมลงสาบ หนู อันเป็นผลมาจากการรมยาที่ขาดมาตรฐานและการเก็บไว้นาน 3.การจัดเรียงกองข้าวในหลายโกดังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ระยะห่างระหว่างกอง ระหว่างทางเดิน ระหว่างผนังกับริมกอง พบว่าส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 4.หลายกรณีการจัดทำสัญญา จากการตรวจสอบสัญญาระหว่าง องค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เจ้าของโกดังข้าวและเซอเวเยอร์ ไม่ตรงกัน จึงทำให้ไม่มีเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบ และ5.การรมยาฆ่าแมลง ในหลายกรณีเซอเวเยอร์ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและทรัพย์สินของทางราชการ

"การตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวได้มอบนโยบายการทำงาน โดยให้ทำงานเป็นทีม คณะทำงานทุกคนร่วมกันคิดร่วมกันทำและปฏิบัติงานร่วมกันโดยใช้มติที่ประชุมในการปฏิบัติงาน การดำเนินการยึดถือตรงไปตรงมา โปร่งใส ตรวจสอบได้ ในทุกกรณี รวมทั้งให้ความสำคัญกับหลักฐาน เอกสาร ภาพถ่าย และการบันทึกภาพเคลื่อนไหวเป็นสำคัญ คำนึงถึงคุณภาพ ความตรงต่อเวลา และให้คณะทำงานทุกคนยึดหลัก การครองตน ครองคน และครองงาน"ม.ล.ปนัดดากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น