รายงานพิเศษ
ชัดเจนแล้วว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ไฟเขียวให้กระทรวงการคลัง ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อย แถมด้วยการคืนภาษีให้ประชาชนผู้มีรายได้ต่ำ เป็นนโยบายเชิงรุกรอบใหม่ที่ส่งตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย ซื้อใจมวลมหาประชาชนให้ส่ง แรงเชียร์คสช.ที่กำลังแปลงร่างเข้ามาบริหารประเทศชาติภายใต้ “คณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 1” ตามผลโพลทุกสำนักที่หนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นจังหวะก้าวที่เริ่มมาเป็นระยะๆ ของ คสช.นับตั้งแต่การจ่ายเงินหนี้จำนำข้าวให้ชาวนา ดูบอลโลกฟรี คุมราคาสลากกินแบ่ง ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ราคาน้ำมันดีเซล ต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรี พร้อมกับสั่งเลิกรีดส่วยวินมอเตอร์ไซต์ แท็กซี่ ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ก็ตามไปเขย่าประชานิยมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่หว่านเงินไปทั่วทุกหัวระแหงอย่างสะเปะสะปะกว่าจะถึงเป้าหมายก็เหลือแต่ไม้ไอติมเพราะถูกดูด ละเลง ละลายหายไประหว่างทางจนเกือบหมด โดยสั่งเลิกกองทุนเอสเอ็มแอล และกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในชุมชน โดยให้โอนงบไปกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ส่วนกองทุนพัฒนาเมืองในภูมิภาคก็ให้ยุติการดำเนินงาน ขณะที่กองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้ชะลอและโอนงบไปกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เช่นเดียวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ให้โอนย้ายไปสังกัดกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาเกษตรกร ที่ไปขึ้นกับกระทรวงเกษตรฯ
นับเป็นการล้างคราบไคลประชานิยมของพรรคการเมือง เพื่อสร้างแนวนโยบายใหม่ที่ยิงตรงเป้าเข้าถึงประชาชนเป็นรายบุคคลเข้ามาแทนที่ และสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด ซับซ้อนน้อยที่สุด ได้ผลมากที่สุด ก็คือ การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยเริ่มจากข้าราชการชั้นผู้น้อยก่อนเป็นหลัก พร้อมกับปรับค่าครองชีพให้เพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นฐานรากกลุ่มใหญ่ที่สุดก็จะใช้วิธีคืนภาษีให้เป็นรายบุคคลเช่นกัน
สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนนั้น ตามแผนดำเนินการจะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งหมดในระบบ โดยเบื้องต้นจะปรับขึ้นให้กับข้าราชการที่มีรายได้น้อยหรือต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือน เป็นหลัก เนื่องจากเงินเดือนที่ได้รับไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและอัตราค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะใช้เงินงบประมาณทั้งหมดประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท พอๆ กับตอนที่มีการปรับเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีขึ้นมาอยู่ 15,000 บาท ซึ่งใช้งบประมาณราว 2.6 หมื่นล้านบาทเช่นกัน
เรื่องดังกล่าว ขณะนี้ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมบัญชีกลางคำนวณตัวเลขเกี่ยวกับการปรับขึ้นบัญชีเงินเดือนข้าราชการที่ระดับ 8% ตามนโยบายของ คสช. และยังให้พิจารณาปรับเงินค่าครองชีพจาก 1,500 บาท เป็น 2,000 บาท ซึ่งอาจรวมถึงเงินเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ด้วย โดยคาดว่า กระบวนการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนจะดำเนินการแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ภายในเดือนเม.ย. 2558 ล่าช้าจากแผนการเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนต.ค. 2557 นี้
“สาเหตุที่ล่าช้าออกไปจากคาดการณ์เดิมนั้น เพราะต้องจัดทำรายละเอียดและกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย ส่วนวงเงินที่จะใช้รองรับในส่วนนี้นั้น อาจปรับเปลี่ยน หรือโยกงบประมาณจากโครงการต่างๆ ที่อยู่ในแผนของงบประมาณปี 2558 ที่เหลือมาใส่ในส่วนนี้แทน ซึ่งไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะการพิจารณางบประมาณปี 2558 นั้นยังอยู่ในช่วงแปรญัตติ จึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม” นายรังสรรค์ กล่าว
การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ยังหวังผลถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการว่า การขึ้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างประจำ 8% จะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีงบประมาณ 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.06% และส่งผลให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.68% ซึ่งอยู่ในกรอบเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ไม่เกิน 3% นอกจากนี้ ยังจะส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2558 มีเม็ดเงินเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านรายจ่ายประจำของภาครัฐ จำนวน 1.16 หมื่นล้านบาทต่อปี
ข้อมูลของกรมบัญชีกลาง ระบุว่า วงเงินในการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานราชการ อยู่ที่ 5.81 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น เงินเดือนข้าราชการ 5.2 แสนล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 4.34 หมื่นล้านบาท, ค่าจ้างประจำ 3.24 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 2.7 พันล้านบาท, ค่าจ้างชั่วคราว 600 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 50 ล้านบาท และค่าตอบแทน (พนักงานราชการ) 2.76 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 2.3 พันล้านบาท
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ที่ผ่านมาข้าราชการจะได้ปรับเงินเดือนทุกปี ปีละไม่เกิน 6% ซึ่งก็ไม่ทันกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีข้าราชการประมาณ 1.77 ล้านคน ลูกจ้างประจำ 1.5 แสนคน ปีงบประมาณ 2557 มีค่าใช้จ่ายเงินเดือนค่าจ้างทั้งหมดประมาณ 6 แสนล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท
อธิบดีกรมบัญชีกลาง ยังให้ข้อมูลว่า กลุ่มข้าราชการทั่วไป กลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย และผู้ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ หากมีการปรับเพิ่มทุกกลุ่มในอัตราร้อยละ 8 จะเป็นภาระงบประมาณจำนวนมากถึง 40,000 ล้านบาทต่อปี และผูกพันเป็นภาระในอนาคตเมื่อข้าราชการเกษียณอายุ ภาครัฐจะต้องจ่ายบำนาญในอัตราที่สูงตามเงินเดือนที่ปรับขึ้น แต่ถ้าหากจะปรับเพิ่มเงินเดือนเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย จะต้องจำกัดความร่วมกันว่าจะเป็นกลุ่มใดบ้างที่ควรจะได้รับสิทธิ์ดังกล่าว โดยในส่วนของข้าราชการบำนาญนั้นเพิ่งมีการปรับขึ้นบำนาญสำหรับผู้ที่ได้รับบำนาญต่ำกว่า 9,000 บาท ให้ได้รับ 9,000 บาทไปเมื่อไม่นานมานี้
ไม่ใช่แต่กลุ่มข้าราชการเท่านั้นที่จะปรับขึ้นเงินเดือน ในส่วนของรัฐวิสาหกิจก็มีสิทธิ์ได้ปรับขึ้นเช่นกัน โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า แม้เงินเดือน ค่าจ้าง ของพนักงานรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าข้าราชการพลเรือนทั่วไป แต่ก็จะมีพนักงานรัฐวิสาหกิจบางส่วนที่มีรายได้อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ก็จะต้องมาพิจารณาดูว่า หากพนักงานข้าราชการได้ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้าง ใน ส่วนของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้น้อยจะต้องปรับเพิ่มด้วยหรือไม่
สอดรับกับการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการจริง ก็ต้องปรับขึ้นทั้งระบบคือทั้งข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องหารือกับคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กันต่อไป
นอกเหนือจากพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบอุดมศึกษา คือ พนักงานมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.3 แสนกว่าคน จากจำนวนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด 1.7 แสนคน กลุ่มนี้ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา เรียกร้องให้คสช.พิจารณาปรับเงินเดือนให้พนักงานมหาวิทยาลัยไปพร้อมกันด้วย เพราะปัญหานี้เรื้อรังมานานกว่า 15 ปีแล้ว ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ โดย ครม. มีมติให้ได้รับเงินเดือนในอัตรา 1.5 - 1.7 เท่าของฐานราชการปัจจุบัน เพื่อทดแทนสิทธิ์ราชการเดิมที่สูญเสียไปทั้งหมด
ทั้งนี้ มติในปี 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าข้าราชการเพื่อชดเชยสิทธิ์ที่ต้องเสียไป คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับสายอาจารย์ และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับสายสนับสนุน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) รวมระยะเวลา 15 ปีแล้ว จำนวนข้าราชการลดลงและพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทดแทน แต่เงินเดือนกลับไม่เป็นตามที่กำหนด โดยล่าสุดส่วนใหญ่ได้ในรับในอัตราต่ำกว่า 1.5 แต่เป็นฐาน 1.5 ของฐานเงินเดือนเก่าของปี 2555
“การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการถือเป็นสิ่งที่สมควรทำ แต่ต้องไม่ลืมทั้งระบบที่ผูกพันระบบราชการเดิมอยู่ โดยพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นกลุ่มที่ถูกลืมเป็นอันดับแรก และเป็นปัญหาเดิม ซ้ำซาก ที่ศูนย์ประสานงานฯต้องตามเรียกร้องขอให้แก้ไขมาโดยตลอด จึงอยากถือโอกาสนี้ให้ฝ่ายกิจการพิเศษของ คสช. ศึกษาข้อมูลและแก้ไขปัญหานี้ไปพร้อมกัน ทั้งนี้ หากยังได้รับการเพิกเฉย ศูนย์ประสานงานฯ จะส่งตัวแทนขอเข้าพบ คสช. เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงให้ทราบ เป็นการดำเนินการตามสิทธิ์ที่ผูกพันไว้เท่านั้น ไม่ใช่การเรียกร้องเกินกรอบแต่อย่างไร” รศ.ดร.วีรชัย กล่าว
นอกจากนั้น ที่ประชุม คสช.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2557 เห็นชอบอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากรการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแก่ข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรมโดยใช้งบกลาง ปี 2557 จำนวน 390 ล้านบาท จากการปรับแผนการใช้งบประมาณประจำปี และอีก 200 ล้านบาทจากงบกลางปี 2557 โดยบุคลากรที่ได้รับต้องเป็นผู้พิพากษา ชั้น 3 ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 6,800 บาทต่อเดือน ผู้พิพากษา ชั้น 4 ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 7,300 บาทต่อเดือน ผู้พิพากษาชั้น 5 ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 12,500 บาทต่อเดือน และผู้พิพากษาอาวุโสจะได้รับตามตำแหน่ง โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557 นี้เป็นต้นไป
อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นฐานเสียงรากหญ้ากลุ่มใหญ่ที่สุด คือ คนจนที่มีเงินได้ตั้งแต่ 1-70,000 บาทต่อปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 18 ล้านคน หรือ 27.5% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังชงเรื่องเสนอ คสช. พิจารณาเห็นชอบให้มีการจ่ายคืนภาษีโดยหวังว่ามาตรการนี้จะกระตุ้นให้คนไทยขยันทำงาน แก้ปัญหาความยากจนและกระจายรายได้ตรงเป้าที่สุด
เรื่องนี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้สัมภาษณ์ว่า สศค.อยู่ระหว่างศึกษาการจ่ายเงินภาษีให้คนจนเพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ควรได้รับเงินโอนจากรัฐ หรือการจ่ายเงินคืนภาษีให้คนรายได้น้อย ซึ่งหลักการจ่ายคืนภาษี ต้องเป็นคนทำงานที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์และอยู่ในระบบภาษี ซึ่งเดิมกรมกำหนดให้ผู้มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี ต้องยื่นแบบภาษี จะปรับแก้ให้มีรายได้ตั้งแต่ 1 บาทแรกก็ต้องยื่นแบบเสียภาษี เพื่อได้ใช้สิทธิได้โอนเงินจากรัฐ
ในเบื้องต้น ได้กำหนดให้ผู้ที่ได้รับโอนเงินภาษีจากรัฐต้องมีอายุ 15 - 60 ปี โดยรายได้ตั้งแต่ 1 บาทแรก ไปจนถึง 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้เงินโอนภาษีจากรัฐ 20%ของรายได้ที่ได้รับ รายได้มากกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีขึ้นไปได้รับโอนเงินภาษีลดลง 12% ของส่วนที่เกิน 3 หมื่นบาทไปจนถึงรายได้ 8 หมื่นบาท จะไม่ได้รับเงินโอนภาษีจากรัฐ เพราะถือว่ามีรายได้มากพอแล้ว ซึ่งเป็นการเทียบเคียงกับการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน
เงื่อนไขดังกล่าว จะทำให้ผู้มีรายได้ 1 หมื่นบาทต่อปีได้โอนเงินภาษี 2 พันบาท, รายได้ 2 หมื่นบาทต่อปีได้โอนเงินภาษี 4 พันบาท, รายได้ 3 หมื่นบาทต่อปีได้โอนเงินภาษี 6 พันบาท, รายได้ 4 หมื่นบาทต่อปี ได้โอนเงินภาษี 4.8 พันบาท, รายได้ 5 หมื่นบาทต่อปีได้โอนเงินภาษี 3.6 พันบาท, รายได้ 6 หมื่นบาทต่อปีได้โอนเงินภาษี 2.4 พันบาท, รายได้ 7 หมื่นบาทต่อปีได้โอนเงินภาษี 1.2 พันบาท โดย สศค.ประเมินว่าภาระที่ต้องโอนเงินภาษีคืนคนมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์จะต้องใช้เงินประมาณ 5.56 หมื่นล้านบาทต่อปี มีผู้ที่ได้รับเงินโอนทั้งหมดประมาณ 18 ล้านคน หรือ 27.5% ของประชากรทั้งหมด
“สศค.เห็นว่าเป็นมาตรการช่วยลดหรือเลิกโครงการประชานิยม และเป็นมาตรการทางการคลังที่ช่วยลดความยากจน แก้ปัญหาการกระจายรายได้ของประเทศ และจูงใจให้คนจนขยันทำงานมากขึ้น รวมทั้งดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี” นายกฤษฎา กล่าว
มาตรการนี้จะเป็นแรงจูงใจให้แรงงานทำงานมากขึ้น เพราะหากตัดสินใจไม่ทำงานเลย ก็จะไม่ได้รับโอนเงิน แต่หากตัดสินใจทำงานแล้ว เงินทุกๆ บาทที่หามาได้ก็จะเพิ่มขึ้น และจะได้รับเงินโอนจากรัฐบาลเข้ามาสมทบ โดยเฉพาะผู้ที่มีเงินได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี จะมีแรงจูงใจทำงานมากขึ้น รวมทั้งจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการกระจายรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะนอกจากทำให้บุคคลตัดสินใจทำงานแล้ว ยังช่วยให้รายได้รัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการโอนเงินให้ผู้ที่มีรายได้น้อยจะเกิดการจับจ่ายใช้สอย ทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีจากฐานการบริโภค โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น และไม่เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งต่างกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้โดยวิธีอื่นๆ เช่น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการอุดหนุนสินค้าเกษตร เป็นต้น
การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและการคืนภาษีให้ผู้มีรายได้ต่ำ ด้านหนึ่งถือเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นคือ การปรับขึ้นราคาสินค้า ค่าครองชีพ ที่ขึ้นไปรออยู่ก่อนแล้ว และอีกด้านหนึ่งก็เป็นแรงกดดันให้ภาคเอกชนต้องปรับอัตราเงินเดือนขึ้นตามไปด้วยทุกครั้ง ดังที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนกำลังติดตามเรื่องนี้ ซึ่งสิ่งที่น่าห่วงมากที่สุด คือ ราคาสินค้าอาจปรับไปก่อนที่จะปรับเงินเดือนอย่างเป็นทางการ จนอาจกระทบค่าครองชีพ รวมทั้งเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นได้ ดังนั้น อยากให้พิจารณาอย่างเหมาะสม หรืออาจมีมาตรการดูแลกลุ่มผู้ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าไปล่วงหน้าแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ คสช. มีคำสั่งชัดมาก่อนการปรับเงินเดือน-ค่าครองชีพ ข้าราชการชั้นผู้น้อย คือ ห้ามปรับราคาสินค้า โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นเวลา 6 เดือน (พ.ค. - ต.ค. 2557) ไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาโดยไม่ได้รับอนุญาต และขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหารปรุงสำเร็จในห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด ให้ตรึงราคาอาหารไว้ที่ราคาเดิมเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งมีผลเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. 2557 เป็นต้นไป รวมถึงการกำหนดให้มีราคาอาหารแนะนำ 10 เมนูที่มีผลต่อเนื่องไปพร้อมกันด้วย
ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า การรุกคืบของ คสช. จะได้ใจข้าราชการ มวลชนรากหญ้า และฟื้นเศรษฐกิจไหวไหม?