“คลัง” ดึงเอกชนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ และมีกำไรในการร่วมทุน คาดดีเดย์เมกะโปรเจกต์ล็อตแรกได้ภายในปีนี้ พร้อมต้องเดินหน้าสนับสนุนการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนโครงการขนาดใหญ่
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “การสร้างความเข้าใจกับ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556” โดยระบุว่า หลังจาก คสช.อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานวงเงินลงทุน 2.4 ล้านล้านบาท โครงการลงทุนอีกด้านต้องการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน โดยกระทรวงการคลังต้องเร่งเสนอ คสช.พิจารณาออกกฎหมายลูกอีก 8 ฉบับ เพื่อดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ และมีกำไรในการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า การออกกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับบ ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน PPP เพื่อวางข้อกำหนดในการประเมินโครงการลงทุน การออกกฎหมายลูกมีทั้งการประเมินมูลค่าโครงการ การกำหนดสัญญามาตรฐาน โดยคณะกรรมการกำกับนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกรรมการมาจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มีอำนาจในการออกประกาศกฎหมายลูกดังกล่าว โดยต่างไม่เสนอ สนช. คาดว่าจะออกกฎหมายได้ทั้งหมดทันภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังมีเป้าหมายดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับโครงการของรัฐร้อยละ 20 ของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 2.4 ล้านล้านบาท เพื่อไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐมาลงทุนทั้งหมด เมื่อกฎหมายลูกออกมาได้แล้ว โครงการลงทุนขนาดใหญ่จะเริ่มเดินหน้าลงทุนได้
นอกจากนี้ ยังต้องเดินหน้าสนับสนุนการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยจะนำร่องกลับมาฟื้นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของ กฟผ. ซึ่งได้ชะงักลงทุนในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งเตรียมขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนทั่วไปลงเงิน 16,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือเฟส 1 มีกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ มีรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาท/ปี และได้ตั้งอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.725 นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้รัฐวิหสากิจรายอื่นระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วย เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศ บริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย เพราะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การสร้างท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มเติม
นายเสรี นนทสูติ รองกรรมการผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) กล่าวว่า เพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโครงการของรัฐ และโครงการขนาดใหญ่เดินหน้าต่อไปได้ ต้องออกกฎหมายลูกมาบังคับใช้ เช่น แนวทางการประเมินโครงการมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ทั้งการนำทรัพย์สิน สินค้าและบริการในโครงการ เพราะที่ผ่านมามักจะพยายามทำให้มูลค่าโครงการไม่ให้เกินพันล้านเพื่อไม่ให้ต้องเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน PPP ฉบับปัจจุบันได้กำหนดมาตรา 72 ด้วยการกำหนดให้กลับไปทบทวนสัญญาการลงทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีโครงการที่อาจจะเข้าข่ายหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนเดิม เพราะมีแรงจูงใจให้กลับมาลงทุนภายใต้กฎหมายใหม่ที่เอื้ออำนวยการลงทุน ในส่วนของโครงการลงทุนมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เช่น การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ตรวจเอ็มอาร์ไอ ควรเปิดทางให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อติดตั้งเครื่องดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างปีต่อปี เพราะไม่จูงใจ ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลของรัฐมีเครื่องมือดังกล่าวมากขึ้น แต่ในการตรวจสอบนั้นจะอยู่ที่องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. เพื่อเป็นองค์กรในการตรวจสอบดูแล