กระทรวงการคลัง เสนอกรอบงบปี 2558 รายจ่าย 2.6 ล้านล้าน ขาดดุล 200,000 ล้านบาท เตรียมนัดถกทุกส่วนราชการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน หลังไม่กล้าเดินหน้าช่วงรัฐบาลชุดก่อน
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเบิกงบประมาณปี 2557 ณ วันที่ 16 พฤษภาคม มียอดเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 1.33 ล้านล้านบาท จากยอดทั้งหมด 2.096 ล้านล้านบาท รายจ่ายงบลงทุนเบิกจ่ายไปแล้ว 181,940 ล้านบาท จากยอดทั้งหมด 428,386 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 9 จึงเป็นห่วงมาก เพราะหลายโครงการแม้จะได้ผู้รับเหมาแล้ว แต่ยังไม่กล้าลงนามสัญญา เพราะไม่มั่นใจการตัดสินใจของ ครม.ชุดที่ผ่านมาในการรักษาการ
นายรังสรรค์ กล่าวว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้ว การบริหารงานโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถตัดสินใจการลงทุนได้ ดังนั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังให้มีเงินลงทุนออกสู่ระบบเร็วขึ้น สำนักงบประมาณจึงเตรียมเชิญส่วนราชการประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือแผนการลงทุนใน 20 โครงการหลักที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อหารือร่วมกัน หากเป็นโครงการที่จำเป็นเร่งด่วน คสช.ให้นโยบายมาแล้วว่าจะไปเสนอให้พิจารณาเดินหน้าการลงทุนได้ รวมถึงโครงการลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท มีจำนวนมากที่ยังไม่ได้ลงทุนต้องมาพิจารณาดูว่าจะเดินหน้าลงทุนอย่างไร เพื่อเสนอให้ คสช.พิจารณา
ส่วนการจัดทำงบประมาณปี 2558 เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง เพราะ คสช.มีอำนาจเต็มในการพิจารณาแล้ว ดังนั้น 4 หน่วยงานหลักในการจัดทำงบประมาณจึงต้องหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ในส่วนของกระทรวงการคลัง เสนอกรอบงบประมาณรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท รายจ่าย 2.6 ล้านล้านบาท จึงเป็นการจัดดุลไม่เกิน 200,000 ล้านบาท หากได้ข้อสรุปทั้งหมดจะเสนอต่อ คสช.พิจารณา และเริ่มใช้ได้วันที่ 1 ตุลาคมนี้
ดังนั้น เมื่อ คสช.ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านเศรษฐกิจออกมาแล้ว สัปดาห์หน้าการเดินหน้าโครงการลงทุนภาครัฐ การออกธรรมนูญการปกครอง การตั้งรัฐบาล และสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูป เมื่อประกาศออกไปชัดเจนจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่น มองเห็นว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารหลังจากได้แก้ไขในหลายเรื่องแล้ว เมื่อเงินงบประมาณออกได้ตามปกติ คาดว่าเศรษฐกิจปี 2558 จะขยายตัวได้สูงกว่าปี 2557 ที่มองกันว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5
สำหรับการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เร่งสรุปตัวเลขให้เสร็จเร็วๆ นี้ แต่ยอมรับว่ายอดการขาดดุลจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่คงไม่ถึง 500,000 ล้านบาท โดย คสช.ไม่สนใจเรื่องผลการขาดทุนของโครงการจำนำข้าว แต่ขณะนี้ต้องการเร่งหาเงินจำนำข้าวจ่ายให้ชาวนาที่ค้างใบประทวน ส่วนกรณีมีปริมาณข้าวหายนั้น องค์การคลังสินค้า (อคส.) ดูแลปริมาณข้าว หากหายไปจริงต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นคดีอาญา สำหรับการดูแลเกษตรกร และผู้ประกอบการนั้น ได้ให้หลายหน่วยงานแสนอแผนเข้ามาในเที่ยงวันนี้ จากนั้นจะเสนอต่อคณะ คสช.พิจารณาพร้อมกับกระทรวงด้านเศรษฐกิจหลายแห่ง หวังเร่งนำไปแก้ปัญหาในหลายด้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ