ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภารกิจเร่งด่วนที่สุดของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) หลังรัฐประหารยึดอำนาจที่เปรียบเสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวคือ การเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาที่รัฐบาลค้างมาเกือบครึ่งปีรวมเม็ดเงินเกือบแสนล้านให้หมดภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รับเสียงปรบมือแซ่ซ้องสรรเสริญมอบดอกไม้ทั่วทุกสารทิศแล้ว ยังสยบแรงกระเพื่อมจากฐานเสียงมวลชนรากหญ้าของพรรคเพื่อไทยได้อย่างชะงัด
ไม่เพียงเท่านั้น คสช. ยังปล่อยหมัดตามมาด้วยการเปิดบัญชีเช็กบิลโครงการรับจำนำข้าวที่ปรากฏว่ามีตัวเลขขาดทุนบักโกรก 5 แสนล้านบาท แถมยังมีข้าวสารหายไปอีก 3 ล้านตัน เรียกว่า พอน้ำลดก็เห็นตอผุด เปิดทางให้คณะกรรมการป.ป.ช.เร่งมือเตรียมลงดาบเอาผิดคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่หัวยันหาง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้นโยบายหลังประชุมกับปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2557 ว่าปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขให้เร็วที่สุดคือการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้กับชาวนา ซึ่งต่อมา พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะรองโฆษก คสช. แถลงว่า ปัญหาในโครงการรับจำนำข้าวที่ค้างจ่ายชาวนาประมาณ 8 แสนกว่าราย วงเงินกว่า 9.2 หมื่นล้านนั้น ทาง คสช.จะกู้เงินสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จำนวนกว่า 4 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5 หมื่นล้านบาท จะกู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 1 เดือน จะจ่ายเงินให้ครบทุกราย
ส่วนขั้นตอนการจ่ายเงินจะจ่ายผ่าน ธ.ก.ส. โดยจะให้หน่วยทหารของกองทัพบกที่อยู่ในพื้นที่ไปช่วยอำนวยความสะดวก เช่น ตรวจความถูกต้องของเอกสารเพื่อความโปร่งใส ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกใช้กับชาวนาจะเปิดจุดจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาตามหน่วยงานของทหารในพื้นที่ต่างๆ หากในพื้นที่ใดไม่มีหน่วยงานทหาร จะมีการประสานงานกับ ธ.ก.ส.จัดรถโมบายเคลื่อนที่โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารช่วยอำนวยความสะดวกเช่นกัน
ในการจ่ายเงินในงวดจำนวนกว่า 4 หมื่นล้านบาท จะเฉลี่ยให้ทั่วภูมิภาคเพื่อให้ครอบคลุม ชาวนาคนไหนที่จะได้รับเงินก่อนหลัง ทาง ธ.ก.ส.มีบัญชีรายชื่ออยู่แล้ว และในส่วนของชาวนาก็มีลำดับใบประทวน ทั้งนี้ที่ผ่านมาการกู้เงินกับธนาคารมีข้อติดขัดเพราะรัฐบาลรักษาการมีข้อจำกัดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3) ที่ระบุว่ารัฐบาลรักษาการไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ได้ แต่เมื่อ คสช.ขึ้นมาบริหารประเทศจึงเป็นการปลดล็อกข้อกฎหมายที่มีปัญหา ธนาคารต่างก็พร้อมให้การสนับสนุน ขณะที่ทางกระทรวงการคลัง ได้สรุปยอดหนี้และมีการคำนวณการระบายข้าวออกประมาณ 5-8 พันล้านบาทต่อเดือน คาดว่าจะสามารถทยอยจ่ายเงินปลดหนี้ให้กับธนาคารได้ประมาณ ภายใน 15 เดือน
นอกจากนั้น พ.อ.ณัฐวัฒน์ ยังระบุว่า ทางหัวหน้าคสช.ได้ให้กระทรวงพาณิชย์ไปตรวจสอบโกดังข้าว ว่าจริงๆ แล้วมีปริมาณข้าวอยู่เท่าไหร่ เป็นสต๊อกลมเท่าไหร่ และข้าวที่เน่าเสียหายไป ก่อนที่จะมีการระบายข้าว ซึ่งทาง คสช.จะตั้งทีมตรวจสอบร่วมกับทางกระทรวงพาณิชย์แต่จะให้กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ
ทันทีที่ คสช. มีนโยบายออกมาชัดเจน นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ก็ออกมาบอกว่า ธนาคารฯ อนุมัติวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายหนี้จำนำข้าวให้ชาวนาแล้ว โดยรัฐบาลจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. ในอัตราเงินฝากประจำสำหรับ 4 ธนาคารใหญ่ ร้อยละ 2.4
สำหรับการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนานั้น นายลักษณ์ การันตีว่า ธ.ก.ส.พร้อมจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่รอเงินรับจำนำข้าวกว่า 800,000 ราย วงเงินกว่า 90,000 ล้านบาท โดยจะทยอยจ่ายเงินดังกล่าวตามคิวใบประทวนที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วตามลำดับก่อนหลังอย่างเคร่งครัดโปร่งใสและคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือนนับจากนี้หรือสิ้นเดือนมิ.ย.ทุกอย่างจะเรียบร้อย ซึ่งเงินที่จะนำมาใช้หมุนเวียนจะมาจากเงินกองทุนช่วยเหลือชาวนา และเงินกู้ยืมที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้ในวงเงินไม่เกิน 92,431 ล้านบาท ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอการกู้เงิน ธ.ก.ส.จะสำรองจ่ายไปก่อนในวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท เพื่อให้เงินถึงมือเกษตรกรอย่างรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้ค้ำประกันและรับผิดชอบชำระคืนต้นเงินรวมดอกเบี้ยตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นรวมทั้งผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานทั้งหมด
ส่วนผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ณ วันที่ 23 พ.ค. 2557 มียอดใบประทวนรวมทั้งสิ้น 1,671,720 ราย ข้าวเปลือก 11.64 ล้านตัน จำนวนเงิน 192,950 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. ได้ทยอยจ่ายเงินไปแล้ว ณ ปัจจุบันจำนวน 833,182 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 6.29 ล้านตัน จำนวนเงิน 103,019 ล้านบาท จากยอดจัดสรรทั้งหมด 105,500 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณและเงินจากการระบายข้าว ของกระทรวงพาณิชย์ 75,000 ล้านบาท เงินกองทุนช่วยเหลือชาวนา 10,500 ล้านบาท และงบกลางที่รัฐบาลได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีก 20,000 ล้านบาท
นอกเหนือจากการเร่งรัดจ่ายเงินให้กับชาวนาอย่างเร่งด่วนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. เป็นต้นมา แล้ว ยังมีรายงานว่า ในการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลังและผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. นั่งหัวโต๊ะ ทางคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้รายงานผลการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิต 2554/2555, 2555/2556, 2556/2557 พบว่ามีผลขาดทุนสูงขึ้นกว่าเท่าตัว หรือขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาขายต่ำกว่าราคาต้นทุน
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้คำนวณต้นทุนข้าวเปลือกที่แปรสภาพเป็นข้าวสารไว้เฉลี่ยที่ราคา 2.3 หมื่นบาทต่อตัน แต่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้ในราคา 1.2-1.4 หมื่นบาทต่อตัน และช่วงรัฐบาลรักษาการสามารถขายข้าวได้เพียงตันละ 8 พันบาทเท่านั้น ทำให้มีส่วนต่างราคาขายกับราคาต้นทุนสูงขึ้นจึงขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังพบว่าข้าวสารหายไปจากสต๊อกอีกราว 2.8 ล้านตัน เนื่องจากในสต๊อกไม่ได้มีข้าวอยู่จริง เป็นแค่ตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น และยังพบว่ามีข้าวเสื่อมคุณภาพอีกจำนวนมากที่ยังรอให้เซอร์เวเยอร์ตีราคา ซึ่งหากตีราคาแล้วคาดว่าจะผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวจะเพิ่มมากกว่า 5 แสนล้านบาท
กระแสข่าวการขาดทุนบักโกรกโครงการรับจำนำข้าวแถมมีข้าวล่องหนอีก กระตุ้นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาแถลงความคืบหน้าในการตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญากรณีกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวโดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามที่มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนว่า การปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ของกระทรวงการคลัง ในครั้งที่ 3 มีผลขาดทุนเป็นจำนวนสูงถึง 3.3 แสนล้านบาท และยังมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณข้าวจำนวน 2.98 ล้านตัน ที่ไม่สามารถนำเข้ามาสู่กระบวนการปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีดังกล่าวได้ เนื่องจากยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำนวนข้าวดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่
นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนกรณีผลการประชุมของ คสช. กับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง ปรากฏว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้ตรวจสอบผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว พบว่ามีผลขาดทุนสูงขึ้นกว่าเท่าตัว หรือขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาทและมีข้าวสารหายไปจากสต็อกอีกราว 2.8 ล้านตัน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในประเด็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยในชั้นนี้ให้ไต่สวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน 2.นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง 3.นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และ 4.ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ผู้แทน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังเห็นควรให้ขยายผลในเรื่องดังกล่าว โดยจะดำเนินการตรวจสอบรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
“จะตรวจสอบความเสียหายในช่วงระหว่างที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช ดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ว่าเป็นอย่างไร หากพบว่าบุคคลทั้งสองเกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้น มีเหตุอันควรสงสัยก็สามารถตั้งอนุกรรมการไต่สวนในคดีอาญาเพิ่มได้ โดย ป.ป.ช.จะนำความเสียหายทั้งหมดมาดูว่ามีใครบ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่อย่างไร”
แม้ว่าการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรีจะเป็นการทำหน้าที่ปกติของ ป.ป.ช. แต่กรณีของนายนิวัฒน์ธำรง และนายยรรยง ถือเป็นกรณีที่ไม่ปกติ ซึ่งนายสรรเสริญ ให้รายละเอียดว่า กรณีที่ไม่ปกติ ป.ป.ช. สามารถที่จะตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินได้เหมือนกัน โดยจะดูข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงิน เป็นการทำงานในเชิงรุก ถือเป็นมิติใหม่ตอนนี้เราได้เริ่มแล้ว ซึ่งการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ไม่ได้กำหนดว่าจะตรวจสอบรัฐมนตรีคนใดบ้าง แต่ตรวจสอบในทุกโครงการของรัฐบาลหลังจากพ้นตำแหน่งไป ไม่ใช่เฉพาะเรื่องข้าวเท่านั้น หากพบว่าในโครงการใดมีการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินในทางที่ไม่ชอบมาพากล ป.ป.ช.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ โดยสามารถตรวจสอบย้อนได้ตั้งแต่ ครม.ยิ่งลักษณ์ 1 เป็นต้น
ขณะเดียวกัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งติดตามตรวจสอบโครงการจำนำข้าวมาอย่างต่อเนื่อง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับผลการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวและข้าวสารที่หายไปจากสต็อก
“คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้ตรวจสอบผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปีกว่า (2554/2555, 2555/2556, 2556/2557) พบว่ามีผลขาดทุนสูงขึ้นกว่าเท่าตัว หรือขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับการปิดบัญชีวันที่ 11 ม.ค. 2556 มียอดขาดทุน 2.2 แสนล้าน และเมื่อปิดบัญชีวันที่ 31 พ.ค. 2556 ยอดขาดทุนเพิ่มเป็น 3.3แสนล้านบาท และล่าสุดกลายเป็น 5 แสนล้าน
นอกจากนี้ยังพบว่าข้าวสารหายไปจากสต๊อกอีกราว 2.8 ล้านตันนั้น ปรากฏว่าในสต๊อกไม่ได้มีข้าวอยู่จริง เป็นแค่ตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น เรื่องข้าวหายมีปัญหามาตั้งแต่ตอนปิดบัญชีเมื่อ 11 ม.ค. 2556 พบมีข้าวหาย 2.5 ล้านตัน และปิดบัญชี 31 พ.ค. 2556 ตัวเลขข้าวหายเพิ่มเป็น 2.98 ล้านตัน
“วันที่ 23 เม.ย. 2556 คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โพสต์เฟซบุ๊กและมอบหมายให้นายยรรยง พวงราช ไปท้าทาย ป.ป.ช.ตรวจโกดังข้าวว่าข้าวไม่ได้หายไปไหน โดยท้า ป.ป.ช.ไปตรวจ แต่กลายเป็นว่าเมื่ออนุกรรมการปิดบัญชีตรวจกลับพบว่าข้าวที่ว่านั้นมีแต่ตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น แต่ไม่มีข้าวอยู่จริง แสดงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์และนายยรรยงลักไก่มาตลอดครับ”
ต่อมา นพ.วรงค์ ได้โพสต์ซ้ำอีกว่า “เชิญชวนร่วมสนับสนุน คสช.ตามหาข้าวหาย” “ผมว่าเชิญชวนสนับสนุน คสช.ตามหาข้าวหาย 3 ล้านตัน สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็น่าจะโอเคครับ ส่วนเรื่องอื่นก็ให้ ป.ป.ช.เขาทำตามขั้นตอนเขาเพราะตอนคุณสุภา ปิยะจิตติ ปิดบัญชีวันที่ 11 ม.ค. 2556 ก็มีสัญญาณว่าข้าวสารหาย 2.5 ล้านตัน ต่อมาวันที่ 31 พ.ค. 2556 หายเพิ่มเป็น 2.977 ล้านตัน เหตุผลที่อ้างคือลืมลงบัญชี ถ้าจำได้วันที่ 23 เม.ย. 2557 ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โพสต์เฟสบุ๊คว่า ข้าวครบ โดยให้นายยรรยงไปท้า ป.ป.ช.ตรวจโกดัง หรือแม้แต่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ในขณะนั้นก็ไปยื่นเอกสารเพิ่มเติมที่ ป.ป.ช.วันที่ 24 เม.ย. ยืนยันว่าข้าวอยู่ครบ แต่ล่าสุด
รายงานข่าวของอนุปิดบัญชีชุดใหม่นำโดยคุณกุลิศ สมบัติศิริ ก็ตรวจพบว่า ข้าวครบแต่ทางบัญชี แต่ของจริงๆ ไม่ครบ จึงเชิญชวนสนับสนุน คสช.ตามหาข้าวหายครับ ข้าวสารพวกเราหายไปไหนร่วม 3 ล้านตัน”
เมื่อน้ำลดตอผุด อำนาจผลัดเปลี่ยนมือ ประชาชนคนไทยก็ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า คสช.และ ป.ป.ช. จะสามารถโชว์ฝีมือตามล้างตามเช็ดโครงการรับจำนำข้าวสาวไปถึงผู้บงการหรือไม่?