xs
xsm
sm
md
lg

โคตรโกงจำนำข้าว ต้องฟันทั้งอาญา-แพ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลขาดทุนจำนำข้าวในตัวเลขกว่า 5 แสนล้านบาท ที่อ้างรายงานจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
แม้ว่าจะไม่ใช่ตัวเลขที่เกินความคาดหมาย เพราะมีการประเมินมานานแล้วว่า การขาดทุนจะสูงปีละประมาณ 2.6 แสนล้าน ดำเนินการไปแล้ว 2 ปีก็จะสร้างความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 5.2 แสนล้านบาท ซึ่งตรงกับตัวเลขล่าสุด ที่มีการอ้างอิงผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ
ตัวเลขกว่า 5 แสนล้านบาท แม้จะไม่ได้ทำให้คนที่ติดตามความหายนะจากโครงการจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้นรู้สึกตื่นเต้น แต่น่าจะทำให้คนในตระกูลชินวัตร และบรรดาขี้ข้าทั้งหลายเกิดอาการตื่นตูมจนขวัญหนีดีฝ่อได้ เพราะในยามที่มีอำนาจพยายามที่จะปกปิด ตกแต่งตัวเลขขาดทุนมาโดยตลอด ไม่ยอมรับว่าทำฉิบหายไว้ถึง 1ใน 4 ของงบประมาณแผ่นดินทั้งปี
**ถึงขนาดมีการเปลี่ยนแปลงตัวประธานอนุกรรมการปิดบัญชีฯ จาก สุภา ปิยะจิตติ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันไปดำรงตำแหน่งป.ป.ช. มาเป็นคนที่คิดว่าจะบงการได้คือ กุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการการกระทรวงการคลัง แต่ที่ไหนได้ ทันทีที่อำนาจหมดก็ไม่มีอะไรมาคุ้มกะลาหัว ความจริงจึงถูกเปิดโปงออกมาประจานความเลวระยำของพวกกินเมือง
สิ่งที่ คสช.ต้องเร่งดำเนินการคือ สร้างความโปร่งใสให้เกิดการตรวจสอบอย่างจริงจังในโครงการจำนำข้าว ที่มีความผิดในเกือบทุกขั้นตอนออกมาแจกแจงให้ประชาชนได้เห็น ดังนี้
1 . ครม.มีมติอนุมัตเงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจำนำข้าว โดยหวังว่าจะเป็นเงินหมุนเวียนตลอดโครงการ แต่ปรากฏว่าทำได้แค่ปีเดียวก็ใช้เงินเกินไปกว่าแสนล้านบาท ซึ่งปรากฏในผลการตรวจสอบของอนุกรรมการปิดบัญชีชุดที่ สุภา เป็นประธาน ระบุการใช้เงินในโครงการนี้จนถึง พ.ค.56 สูงถึง 6.5 แสนล้าน เกินกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ถึง 1.5 แสนล้านบาท
สิ่งที่ต้องทำให้เกิดความกระจ่างคือ จำนวนเงินที่ใช้ในโครงการนี้ทั้งหมด เป็นวงเงินเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏน่าจะเป็นตัวเลขที่สูงกว่า 7 แสนล้านบาท ใครต้องรับผิดชอบกับการกระทำละเมิดมติครม. ที่ใช้เงินเกินกว่าที่กำหนด โดยไม่มีการทบทวนความเสียหายของโครงการที่เกิดขึ้น
2. ความเสียหายที่ทำให้เกิดผลขาดทุนสูงกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น เกิดจากปัจจัยใดบ้าง นอกเหนือไปจากการรับจำนำสูงกว่าราคาตลาด มีการรั่วไหลในขั้นตอนการจัดเก็บ การระบายข้าว อย่างไร และใครต้องรับผิดชอบ
3. การที่ครม.รักษาการของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขายข้าวในราคาเพียงตันละ 8 พันบาท ทำให้เกิดผลขาดทุนถึง 1.5 หมื่นบาทต่อตันนั้น มียอดความเสียหายจากการเร่งระบายข้าวในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการเท่าไหร่ และการระบายข้าวช่วงก่อนการยุบสภารัฐบาลยิ่งลักษณ์จำหน่ายข้าวในราคาใด เพราะไม่เคยมีการเปิดเผย โดยอ้างว่าเป็นความลับมาโดยตลอด
**4. การระบายข้าวในราคาเพียงแค่ 8 พันบาทต่อตันนั้น เคยมีการเปิดข้อมูลจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า มีการสมคบคิดกับเอกชนที่ใกล้ชิดรัฐบาลซื้อข้าวในราคาต่ำไปจำหน่ายในราคาสูง และยังเป็นการกดราคาตลาดให้ตกต่ำ จนทำให้ชาวนาขายข้าวได้เพียงตันละ 5 พันบาทเท่านั้น เป็นเรื่องที่ คสช. ควรจะทำให้เกิดความกระจ่างด้านข้อมูล เพื่อให้เห็นถึงความผิดพลาดที่พันกันเป็นงูกินหางของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่การเร่งระบายข้าวจนไปกดราคาตลาดซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวนา แถมยังระยำ หาแดกในระหว่างที่ชาวนาอดอยากอีกด้วย
5. ปัญหาข้าวสารที่หายจากสต๊อกประมาณ 2.8 ล้านตัน ซึ่งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ชุดปัจจุบันระบุว่า เป็นตัวเลขลม ไม่มีข้าวอยู่จริง มีแต่การลงไว้ในบัญชีเท่านั้น เป็นอีกหนึ่งปมที่ต้องคลายออกมาให้ประชาชนเห็น เพราะเรื่องนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งแต่หัวยันหาง โกหกประชาชนมาโดยตลอด
ยิ่งลักษณ์ เคยโพสต์เฟซบุ๊ก ยืนยันก่อนกระเด็นจากตำแหน่งไว้ว่า “อนุกรรมการปิดบัญชีฯ (หมายถึงชุด สุภา) ไม่ได้นำข้าวที่อยู่ในครอบครองขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตรกร (อ.ต.ก.) จำนวน 2.977 ล้านตันข้าวสาร มารวมคำนวณทางบัญชี โดยอ้างว่าสูญหายนั้น ความจริงแล้วมิได้สูญหาย จึงต้องนับว่าสต๊อกนั้นมีอยู่ การไม่นำมารวมคำนวณจึงเป็นการไม่ถูกต้อง และไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า ข้าวดังกล่าวสูญหาย ดังนั้นการตรวจสอบสต๊อกให้ถูกย่อมเป็นภารกิจที่สำคัญ”
**เมื่อการตรวจสอบของอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพิ่งเปลี่ยนแปลงตัวประธานมากับมือ สรุปแล้วว่า ตัวเลขข้าวดังกล่าวไม่มีจริง แต่เป็นการสร้างหลักฐานเท็จเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวในสต๊อก หวังตบตาตัวเลขขาดทุนในโครงการนี้ ก็ยิ่งมัดว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ใช้กลไกรัฐจัดทำเอกสารเท็จ
ประเด็นต่อเนื่องจากเรื่องนี้คือ ตัวเลขลมที่ปรากฏในบัญชีนั้น เป็นตัวเลขรวมที่มีการเทงบประมาณไปดำเนินโครงการนี้ด้วยหรือไม่ เพราะหากตัวเลขดังกล่าวไม่มีข้าว แต่ต้องจ่ายเงินไปก็เท่ากับว่ามีความเสียหายถึง 64,400 ล้านบาท หากคิดที่ตัวเลขข้าวสารในปริมาณ 2.8 ล้านตันตามที่อนุกรรมการปิดบัญชีฯระบุ
**จึงมีคำถามว่า เงิน 64,400 ล้านบาท จากตัวเลขลม ลอยไปอยู่ในกระเป๋าใคร ?
ผู้บริหาร อคส. และ อ.ต.ก. ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้จะต้องรับผิดชอบอย่างไร ผู้บริหารในระดับรัฐมนตรีไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ที่พยายามยืนยันข้าวในสต๊อกมาโดยตลอดว่ามีอยู่จริง จะต้องรับผิดชอบอย่างไร
ก่อนหน้านี้ ยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากยิ่งลักษณ์ ให้ชี้แจงเรื่องสต๊อกข้าว ได้ทำเอกสารถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อแก้ข้อกล่าวหากรณี ยิ่งลักษณ์ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในโครงการจำนำข้าว จนทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งป.ป.ช.ชี้มูลให้มีการถอดถอนจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ยังเหลือการพิจารณาในคดีอาญาที่ ป.ป.ช. กำลังสอบสวนต่อ โดยยรรยง กล่าวหาว่า รายงานของอนุกรรมการปิดบัญชีชุดที่ สุภา เป็นประธาน ไม่ได้นับข้าวในสต๊อกรัฐบาลกว่าสองล้านตันเข้าไปด้วย โดยอ้างว่าปริมาณข้าวที่ไม่ได้นับรวมนั้น มีสูงถึง 2.977 ล้านตัน
ที่มัดตัวเองมากขึ้นว่ารัฐบาลรู้เห็นเป็นใจกับการตกแต่งตัวเลขปริมาณข้าวในสต๊อก คือ ยรรยง ยังได้อ้างถึงคำสั่งยิ่งลักษณ์ ที่ให้ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปตรวจสอบสต๊อกข้าว โดยมีการรายงานกลับมาว่า มีข้าวในสต๊อกจริง และยังพันไปถึง นิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล อดีต รมว.พาณิชย์ ผ่านคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตาม ด้วยว่า มีการตรวจสอบสต๊อกข้าว ระหว่างวันที่ 17-28 มีนาคม 2557 พบว่า มีข้าวอยู่ครบ คือ 18.72 ล้านตัน
**ยรรยง ยังย้ำด้วยว่า"นายกฯเป็นผู้สั่งให้ตรวจสอบประเด็นนี้" แสดงให้เห็นว่า ยิ่งลักษณ์ ไม่เพียงรับรู้เกี่ยวกับตัวเลขสต๊อกลม แต่ยังมีเจตนาที่จะเสกลมให้กลายเป็นข้าว ด้วยการให้ข้อมูลเท็จกับประชาชน รวมถึงป.ป.ช. เพื่อหนีความผิดด้วย
คสช.ควรจะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ป.ป.ช.ไม่ได้รับความร่วมมือในยุคที่ ยิ่งลักษณ์ ยังมีอำนาจ ส่งมอบให้ป.ป.ช.โดยด่วน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินคดีอาญากับ ยิ่งลักษณ์ และควรมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการโกงข้าวครั้งนี้ ไล่ตั้งแต่ นิวัฒน์ธำรง ยรรยง ไปจนถึงผู้บริหารอคส. และ อ.ต.ก.ด้วย
**ที่สำคัญคือ ควรจะได้ยื่นฟ้องแทนคนไทยทั้งชาติ เรียกเงินกว่า 5 แสนล้านบาท จากยิ่งลักษณ์ และพวกมาคืนให้กับแผ่นดิน อย่าหยุดแค่การเอาผิดในคดีอาญาเท่านั้น

เสือกระดาษ
กำลังโหลดความคิดเห็น