ในที่สุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็แถลงคดีจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีมติเอกฉันท์ 7 : 0 ให้มีความผิดตามมาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นำไปสู่การทุจริตจำนำข้าว
• ความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยว่า การที่รัฐบาลของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกโดยกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด เมื่อมีการระบายข้าวที่รับจำนำได้เกิดผลขาดทุนจำนวนมาก แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ระงับยับยั้งโครงการ โดยยังคงดำเนินโครงการต่อมาจนเกิดผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนั้น การกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือไม่
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 7 : 0 เสียง เห็นว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งได้กำหนดนโยบายการรับจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมีส่วนร่วม ในการบริหารโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ได้กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตามท้องตลาดเกินกว่าที่ควรคาดหมายได้ตามปกติ อันมีลักษณะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และในการดำเนินโครงการปรากฏว่าได้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน ทั้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การสวมสิทธิ์เกษตรกร โกงความชื้น โกงตาชั่ง นำข้าวมาเวียนเข้าโครงการ การลักลอบนำข้าวออกจากคลัง ในส่วนของการระบายข้าวที่รับจำนำ มีการใช้อิทธิพลทางการเมืองช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ข้าวจากโครงการไปจำหน่าย เกิดระบบนายหน้าค้าข้าว ไม่เปิดประมูลข้าวอย่างเปิดเผย
การทุจริตดังกล่าวได้ก่อให้เกิดภาระรายจ่ายของรัฐและภาวะขาดทุน เป็นจำนวนมากทั้งการอุดหนุนเกษตรกรและค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การสีแปรสภาพ การขนส่ง การเก็บรักษา และยังอาจมีปัญหาข้าวเสื่อมคุณภาพ ขายข้าวขาดทุน ข้าวสูญหายจากโกดัง รัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ ทำลายระบบการค้าข้าวโดยเสรี โรงสีและผู้ส่งออกนอกโครงการไม่สามารถจัดหาซื้อข้าวได้เพียงพอ โรงสีในโครงการและผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลข้าว จะมีการค้าขายที่มีข้อได้เปรียบโรงสีและผู้ส่งออกนอกโครงการ ตลอดจนราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียตลาดส่งออกที่สำคัญ การรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด โดยไม่จำกัดพื้นที่ผลิตและวงเงินของการรับจำนำ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายต่อโครงการอย่างยิ่ง จากการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ ตลอดจนปริมาณรับจำนำสูงเกินกว่าข้อเท็จจริง แต่คุณภาพข้าวต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ
ต่อมาเมื่อมีการระบายข้าวที่รับจำนำได้เกิดผลขาดทุนเป็นจำนวนมากและผู้ถูกกล่าวหาได้รับรู้รับทราบจากรายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล และยังรับทราบว่ามีการทุจริตในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนับล้านครอบครัวที่ยังไม่ได้รับเงินทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหลายรายถึงกับฆ่าตัวตาย
“ จึงเป็นกรณีจำเป็นที่ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณายับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบว่ามีการทุจริตในการดำเนินโครงการและความเสียหายต่าง ๆ จากการดำเนินโครงการ แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับยืนยันที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวมีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะต้องพิจารณายุติหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดการทุจริตและระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายจากการดำเนินโครงการมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นสภาพความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ”
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวมาจึงมีมูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ให้ส่งรายงานและเอกสารพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 70
• ที่มาของโครงการรับจำนำข้าว จนนำมาสู่มติ "ป.ป.ช." เอกฉันท์ฟัน "ยิ่งลักษณ์" ละเว้นปฏิบัติหน้าที่
ASTVผู้จัดการ รวบรวม ที่มาของ “คดีโครงการรับจำนำข้าว” โดย ป.ป.ช. ใช้เวลาไต่สวนเกือบ 2 ปี จนนำมาสู่มติ เอกฉันท์ฟัน "ยิ่งลักษณ์" ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยสรุปว่า สภาพความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว เป็นเรื่องที่”ร้ายแรงที่สุดของประเทศ”
นับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 คดีข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการะทรวงกลาโหม
ป.ป.ช.ระบุว่า แม้มิใช่ผู้ปฏิบัติการ แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นำไปสู่การยื่นเรื่องถอดถอนในเบื้องต้นว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากทราบข้อท้วงติงต่างๆ แล้วไม่ดำเนินการแก้ไขหรือยับยั้ง รวมไปถึงดำเนินนโยบายผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหาย ในโครงการ “รับจำนำข้าว”
• ใช้เวลาไต่สวนเกือบ 2 ปี จนนำมาสู่มติ เอกฉันท์ฟัน "ยิ่งลักษณ์"
ราวเดือนมิถุนายน 2556 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น อภิปรายเปิดสภา ในคราวประชุมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
จากความผิดปกติในการขายข้าวแบบจีทูจี นำมาสู่ขบวนการว่าใครอยู่เบื้องหลังการทุจริตในโครงการนี้ มีการตั้งข้อสังเกตถึง “หมอโด่ง” หรือ “พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหนึ่งคนสำคัญในขบวนการโครงการรับจำนำข้าว ที่ถูกวางตัวจากพรรคเพื่อไทยให้เป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ตั้งแต่สมัยที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่งคุมกระทรวงนี้อยู่ เรื่อยมาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเป็น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์” แต่ “หมอโด่ง” ก็ยังอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น
แถมยังเป็นคนสำคัญในเครือข่ายของ “เสี่ยเปี๋ยง” หรือ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เจ้าของบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ที่ผูกขาดการซื้อข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อมาศาลแขวงสมุทรปราการมีคำพิพากษาจำคุก นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง เป็นจำเลยฐานยักยอกข้าวกระทรวงพาณิชย์ จำคุก 6 ปี ปรับ 12,000 บาท
เชื่อว่า “หมอโด่ง” คือคนที่ “เสี่ยเปี๋ยง” ส่งมานั่งคุมงานในกระทรวง เพราะที่ผ่านมา “หมอโด่ง” เป็นคณะกรรมการในโครงการรับจำนำข้าวในทุกชุด
• 5 มิถุนายน 56 หมอวรงค์ ยื่น ป.ป.ช.สอบโกงจำนำข้าว
ต่อมานายแพทย์วรงค์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการระบายข้าวดังกล่าวในวันที่ 5 มิถุนายน 2556 โดยเรียกร้องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำนวน 10 คน ประกอบด้วย 1. นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ 2. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รองประธานอนุกรรมการ 3. พ.ต.น.พ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 4. ผู้แทนกระทรวงการคลัง 5. อธิบดีกรมการค้าภายใน ผู้แทนคณะกรรมการองค์การคลังสินค้าที่คณะกรรมการองค์การคลังสินค้ามอบหมาย 6. ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร 7. ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อนุกรรมการ 8. อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ 9. ผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว และ 10. กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ช่วยเลขานุการ รวมไปถึงคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็น รมว.พาณิชย์ในขณะนั้น ซึ่งถือเป็นผู้มีหน้าที่กำกับควบคุมดูแลนโยบายดังกล่าว พร้อมกับขอให้มีการตรวจสอบต่อเนื่องไปถึงการระบายข้าวในยุคปัจจุบันที่มี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็น รมว.พาณิชย์ ซึ่งถือเป็นช่วงคาบเกี่ยวของการระบายข้าว
“การยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ครั้งนี้จะยื่นเรื่องให้ตรวจสอบไปถึงข้าราชการประจำด้วย ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่แล้วที่ยื่นให้ตรวจสอบเฉพาะฝ่ายการเมือง เพราะเห็นใจข้าราชการประจำที่ต้องทำตามคำสั่งของนักการเมือง แต่ในโครงการรับจำนำข้าว ข้าราชการมีพฤติกรรมที่สมรู้ร่วมคิดกับนักการเมือง โดยข้าราชการจะเป็นคนชงเรื่องให้กับนักการเมืองต่อ รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจ หรือ ภาคเอกชนที่รู้เห็นในเรื่องนี้ด้วย” หมอวรงค์ระบุ
สำหรับฐานความผิดนั้น ในส่วนของ กขช. เข้าข่ายความผิดมาตรา 157 หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวนั้น มีความผิดฐานทุจริตตามกฎหมาย ป.ป.ช. ร่วมด้วย
สำหรับข้อมูลและเนื้อหาการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวตอนที่ 2 นั้น อยู่ระหว่างการจัดทำพ็อกเก็ตบุ๊ค และแอนิเมชันความยาว 2 นาที เพื่อสรุปเนื้อหาในการอภิปรายทั้งหมดให้เข้าใจง่าย
“ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหน้า จะเปิดซีรีส์จำนำข้าวภาค 3 โดยมีคนส่งชื่อตอนมาให้ คาดว่าจะตั้งชื่อว่า จุดจบจำนำข้าว หรือ อวสานรัฐบาลยิ่งลักษณ์” นพ.วรงค์กล่าว
ก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านได้ทำเรื่องถึง ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว 2 ประเด็น คือ 1. “กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)” ซึ่ง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว และกำลังขยายผลไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ และ 2. ขอให้ ป.ป.ช. พิจารณาถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกกจากตำแหน่ง ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการทุจริตทุกขั้นตอน ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย โดย ป.ป.ช. ใช้เวลาไต่สวนเกือบ 2 ปี
• คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ประเมินขาดทุน 2.3 แสนล้านบาท
ต่อมา คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้ตรวจสอบพบว่า ปัจจุบัน รัฐบาลมีการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวไปแล้วมากกว่า 6.3 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จำนวน 2.3 แสนล้านบาท และเงินกู้ของกระทรวงการคลังอีก 4 แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้วงเงินหมุนเวียนที่ใช้ในโครงการต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ขณะที่ผลการขาดทุนอย่างต่ำที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ประเมินไว้ในขณะนี้มีประมาณ 2.3 แสนล้านบาท
• 16 มกราคม 2557 ป.ป.ช. มีมติ “ไต่สวน” ยิ่งลักษณ์
คดีโครงการรับจำนำข้าวนี้ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในช่วงคาบเกี่ยวของการระบายข้าว เป็นอันดับแรก จากการสืบพยานหลักฐานต่างๆ ทำให้ ป.ป.ช มีมติไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธาน กขช. ขณะนั้น ซึ่งคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วมีเหตุอันควรสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ตามมาตรา 66 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ พ.ศ.2542
16 มกราคม 2557 คณะอนุกรรมการไต่สวน ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. (ชุดใหญ่) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการไต่สวน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตามที่อนุกรรมการไต่สวนเสนอ ต่อมา 28 มกราคม 2557 จึงมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ไต่สวนคดีนี้ และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีหนังสือเรียกนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มารับทราบข้อกล่าวหากรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 เนื่องจากไม่ยับยั้งโครงการหลังจากได้รับหนังสือเตือนจากหลายฝ่าย ทั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการทุจริต รวมทั้งมี หนังสือจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินส่งให้ทบทวนและยุติโครงการ หนังสือรายงานความเสียหายจากโครงการดังกล่าว อีกทั้งมีการเปิดอภิปรายประเด็นนี้ในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
• "ปู"โพตส์เฟซตัดพ้อ ปปช.สอบแค่ 21 วัน
20 กุมภาพันธ์ 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ได้โพสข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตนตัดพ้อว่า การไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นไปอย่างรวบรัด ไม่เป็นธรรม นับตั้งแต่วันที่ตนรับแจ้งหนังสือว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 จนถึงวันที่มีมติแจ้งข้อกล่าวหา คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 มีระยะเวลาดำเนินการเพียง 21 วันเท่านั้น อีกทั้งตนได้ขอตรวจสอบหลักฐาน และขอเปลี่ยนตัวหนึ่งในคณะกรรมการไต่สวน คือ นายวิชา มหาคุณ แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จาก ป.ป.ช.
พร้อมทั้งชี้แจงว่า การดำเนินการของตนอยู่ในฐานะผู้ดำเนินการระดับนโยบาย ไม่มีอำนาจสั่งการหรือครอบงำเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ และตนได้ใช้ลักการในการบริหารจัดการที่ดี มีการมอบหมายงานโดยเด็ดขาด เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบในแต่ละเรื่องแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เองได้ออกมาชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆอย่างละเอียด
• ส่งตัวแทน “รับทราบข้อกล่าวหา” ขอยืดเวลาเข้าชี้แจง
27 กุมภาพันธ์ 2557 นางสาว ยิ่งลักษณ์ ได้มอบอำนาจให้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ มารับทราบข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แทน ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งหลังจากรับทราบข้อกล่าวหาแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดเข้าให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ครบกำหนดในวันที่ 14 มีนาคม 2557
หลังจากนั้นได้ให้ทนายความผู้รับมอบอำนาจ เข้ายื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวออกไปถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 12 มีนาคม 2557 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. อนุญาตขยายเวลาให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ในการเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวกรณีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวจากเดิม 14 มีนาคม 2557 เป็น 31 มีนาคม 2557 และขอเลื่อนอีกครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 มีนาคม 2557 ในครั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อนุญาตเนื่องจากเคยเลื่อนเวลาให้แล้วครั้งหนึ่ง
28 มีนาคม 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังบันทึกเทป 127 ปี กระทรวงกลาโหม ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ว่า ค่อนข้างหนักใจที่ ป.ป.ช. ไม่ขยายเวลาให้ อีกทั้งตั้งข้อสงสัยว่าตามหลักการต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นไต่สวนก่อน แต่กรณีของตนไม่มี เมื่อ ป.ป.ช. กำหนดกรอบระยะเวลาเพียงเท่านี้ก็ต้องทำตามขั้นตอน
จากนั้น ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กของตนอีกครั้ง ถึงการชี้แจงข้อกล่าวหาโครงการจำนำข้าว ว่าคดีนี้ ป.ป.ช. เป็นคู่กรณีเองมิใช่คนกลาง ตนอาจไม่ได้รับความยุติธรรม อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ ในมือ ป.ป.ช. คดีของตนถือว่าดำเนินการเร็วผิดปกติ การตรวจพยานหลักฐานไม่ได้รับการอำนวยความยุติธรรม เมื่อขอเลื่อนชี้แจงคดีก็ไม่ได้รับความร่วมมือ พร้อมอ้างว่าตนไม่ได้รับสิทธิให้ตรวจสอบพยานหลักฐาน และกล่าวถึงเอกสารมาที่ได้รับเพิ่มมาอีก 280 หน้านั้นว่าเท่ากับว่าตนมีเวลาเพียง 3 วัน ในการชี้แจงต่อ ป.ป.ช.
• 31 มีนาคม 2557 “ยิ่งลักษณ์” เข้าชี้แจงข้อกล่าวหา
31 มีนาคม 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เดินทางมาชี้แจงข้อกล่าวหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่สำนักงาน ป.ป.ช. โดยได้เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษร ประกอบคำพูดเพียงเล็กน้อย หลังจากนั้นได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบพยานเพิ่มเติมอีก 11 ปาก โดยอ้างว่าแต่ละคนล้วนเป็นบุคคลที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการ ที่มาของโครงการ รวมไปถึงผลดีระหว่างดำเนินโครงการ ว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งขอขยายเวลาส่งเอกสารเพิ่มเติม
หลังจากการยื่นขอให้ไต่สวนพยานเพิ่มเติม 11 ปาก ก็มีการยื่นขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สืบพยานเพิ่มอีกถึงสองครั้ง รวมพยานที่นางสาวยิ่งลักษณ์มอบหมายให้ทนายความคือ นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง เข้ายื่นขอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีทั้งสิ้น 17 ปาก
ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาความเหมาะสม และมิติด้านข้อมูลที่พยานแต่ละคนจะมาให้ปากคำแล้ว เพื่อลดความซ้ำซ้อนด้านข้อมูลจึงมีมติอนุมัติให้มีการสืบพยานเพิ่มเพียง 4 ปาก คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
• ศอ.รส. เรียกร้อง ป.ป.ช. พิจารณาคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างตรงไปตรงมา
17 เมษายน 2557 ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่องข้อเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองในขณะนี้ โดยเรียกร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างตรงไปตรงมา ทาง ป.ป.ช. ได้ออกมาชี้แจง และโต้กลับ ศอ.รส. ว่าการทำเช่นนี้หมิ่นเหม่ต่อการแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ต้องการให้การพิจารณาคดีเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายบริหาร
23 เมษายน 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีข้าวหาย ว่า ความจริงแล้วข้าวไม่ได้หาย แต่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีไม่ได้นับรวมข้าวในสต็อกขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งไม่ถูกต้อง พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ และจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ได้เชื่อเพียงคำกล่าวอ้างดังที่ปรากฏเป็นข่าว พร้อมกันนั้นตนได้มอบหมายให้นายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้เพิ่มเติม
24 เมษายน 2557 คณะกรรมการป.ป.ช.มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้แต่ไม่ครบองค์ประชุม จึงเลื่อนเป็นวันอังคารที่ 29 เมษายน 2557 และต่อมามีการประชุมขององค์คณะไต่สวนคดีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557
• 8 พฤษภาคม 2557 มติ ป.ป.ช. ชี้มูลถอดถอน "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กรณี "จำนำข้าว”
8 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช.ชุดใหญ่ นำรายงานสรุปสำนวนข้อเท็จจริงคดีจำนำข้าวในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์ กรณีละเลยการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้เกิดการทุจริต ที่ผ่านการประชุมขององค์คณะไต่สวนคดีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 เสนอต่อที่ประชุม เพื่อลงมติในการชี้มูลความผิดเพื่อถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง (รักษาการ) นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงถึงประเด็นที่มาที่ไปของการดำเนินการในการไต่สวนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกวุฒิสภาในการปฏิบัติหน้าที่มิชอบในโครงการรับจำนำข้าวของอดีตนายกยิ่งลักษณ์ รวมไปถึงเรื่องร้องเรียนในคดีอาญามาด้วย
ในเบื้องต้นเห็นว่าคดีนี้เป็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับผู้บริหารสำคัญ จึงดำเนินการไต่สวนคดีโดยใช้องค์คณะในการดำเนินการทั้งชุด และให้มีการสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ โดยผลการประชุมวันนี้ชี้ชัดแล้วว่าทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ในการชี้มูลความผิดฐานละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี
ขณะนี้เห็นว่าข้อมูลเพียงพอที่จะดำเนินการในการถอดถอน ดังนั้นองค์คณะไต่สวนได้รวบรวมผลการดำเนินการ ส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่พิจารณา โดยคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270 ซึ่งมีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการส่งให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนต่อไปได้ โดยมีมติ 7 ต่อ 0 ส่วนเรื่องการร้องเรียนประเด็นอื่นๆ เราก็ดำเนินการต่อไป แยกเป็นคนละเรื่อง
• คดีอาญาให้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ
ตอนนั้น นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เปิดเผยผลการลงมติอย่างเป็นทางการว่า “การที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และอยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ได้กำหนดนโยบายจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งมีส่วนกำหนดและร่วมในการบริหารโครงการ แม้ในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริต หรือสมยอมให้เกิดการทุจริตหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ทั้งไม่พิจารณายับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบความเสียหายอันร้ายแรงจากการดำเนินการโครงการดังกล่าว”
“ส่วนคดีอาญานั้น ที่ประชุมมีมติให้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ ทั้งนี้โดยไม่ตัดพยานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างมาในคําร้องขอนําสืบแก้ข้อกล่าวหาหลังสุด โดยให้นําไปพิจารณาในสํานวนคดีอาญาต่อไป ”
โดยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช. ได้มีมติให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากที่ประชุมวุฒิสภารับรองผลการวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ก็จะมีผลทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องหยุดเล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
• ป.ป.ช. แจง กว่า 2 ปีขาดทุน 5 แสนล้าน ข้าวหาย 2.98 ล้านตัน
27 พฤษภาคม 2557 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนว่า จากการปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ของกระทรวงการคลัง ในครั้งที่ 3 มีผลขาดทุนเป็นจำนวนสูงถึง 3.3 แสนล้านบาท และยังมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณข้าวจำนวน 2.98 ล้านตัน ที่ไม่สามารถนำเข้ามาสู่กระบวนการปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีดังกล่าวได้ เนื่องจากยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำนวนข้าวดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนกรณีผลการประชุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง ปรากฏว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้ตรวจสอบผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปีกว่า (2554/2555, 2555/2556, 2556/2557) พบว่ามีผลขาดทุนสูงขึ้นกว่าเท่าตัว หรือขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาขายต่ำกว่าราคาต้นทุน 1.5 หมื่นบาทต่อตัน โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้คำนวณต้นทุนข้าวเปลือกที่แปรสภาพเป็นข้าวสารไว้เฉลี่ยที่ราคา 2.3 หมื่นบาทต่อตัน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวไปที่ราคา 1.2-1.4 หมื่นบาทต่อตัน และเมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการได้ขายข้าวไปด้วยราคาตันละ 8 พันบาทเท่านั้น ทำให้มีส่วนต่างราคาขายกับราคาต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งทำให้โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่าข้าวสารหายไปจากสต็อกอีกราว 2.8 ล้านตัน โดยปรากฏว่าในสต็อกไม่มีข้าวอยู่จริง เป็นแค่ตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น และยังพบว่ามีข้าวเสื่อมคุณภาพอีกจำนวนมากที่ยังรอให้เซอร์เวเยอร์ตีราคา ซึ่งหากมีการตีราคาแล้ว คาดว่าจะทำให้ผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวจะเพิ่มมากกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติในดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในประเด็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยในชั้นนี้ให้ไต่สวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ราย ได้แก่
1. นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน 2. นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง 3. นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง 4.ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือผู้แทน
นอกจากที่กล่าวแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังเห็นควรให้ขยายผลในเรื่องดังกล่าว โดยจะดำเนินการตรวจสอบรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
• ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน – หนี้สิน “ยิ่งลักษณ์ – 4 รมต.” เอี่ยวรับจำนำข้าว
5 มิถุนายน 2557 นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 5 ราย ดังนี้
1) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
2) นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
3) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
4) นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
5) นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ มอบหมายให้นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ โดยให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินประสานข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ไต่สวนเกือบ 2 ปี จนนำมาสู่มติ เอกฉันท์ 7:0