xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คสช.เอาแน่รถไฟทางคู่ แทงกั๊กไฮสปรีดเทรน – จี้โละจัดการน้ำ3.5แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ หัวหน้ากลุ่มงานเศรษฐกิจของ คสช.ผู้กุมชะตากรรมทิศทางและอนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทย
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -บทเรียนราคาแพงจากการรัฐประหาร 2549 ที่จบไม่สวย ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะคราวนี้รุกเร็วและลื่นไหลไปตามกระแสสังคมในช่วงฮันนีมูนอย่างฉับพลันทันท่วงที โดยเฉพาะงานด้านเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีเม็ดเงินมหาศาลหลายแสนหลายล้านล้านบาทที่ไหลรวมเข้ามาอยู่ในมือรอให้ คสช.ตัดสินชี้ขาด ซึ่งแต่ละเรื่องแต่ละโครงการมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมาย และไม่ง่ายเหมือนกับการจ่ายเงินใช้หนี้จำนำข้าวให้ชาวนาที่ว่าตามกันทั้งประเทศ

จังหวะก้าวที่สองของ คสช. จึงเริ่มเห็นอาการชักเข้าชักออกและปรับเปลี่ยนให้รัดกุมยิ่งขึ้น จากท่าทีเดิมที่ดูเหมือนจะผูกเชือกรองเท้าแล้วรีบเดินต่ออย่างรวดเร็ว ทั้งเงินกู้ 2 ล้านล้าน เมกะโปรเจกต์ทั้งปวง กระทั่งเรื่องการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน จนเริ่มมีกระแสจากปวงประชาหน้าแห้ง “ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ” ดังขึ้น หัวหน้า คสช.จึงชะลอฝีเท้าฟังความรอบข้างเพื่อเดินไปข้างหน้าอย่างรอบคอบ ระมัดระวังยิ่งขึ้น

ดูได้จากมาตรการเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจที่คลอดออกมาหลังการประชุมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. ซึ่งประชุมหารือกับรองหัวหน้า คสช.ทั้ง 7 กลุ่มงานเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2557 ที่พยายามไม่ออกนอกกรอบและโยนโครงการที่มีความเห็นแตกต่างกันมาก อย่างเช่น โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างออกไปก่อน ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ภายใต้กรอบเงินกู้ 2 ล้านล้าน มรดกบาปสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ขอใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบด้านเป็นรายโครงการไป

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานเศรษฐกิจ กล่าวถึงแนวทางและรูปแบบการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจหลังการประชุมในวันดังกล่าวว่า มีเรื่องเร่งด่วนระยะสั้นที่จะต้องดำเนินการโดยเร็ว 10 มาตรการ ดังนี้

1. ประกันภัยข้าวนาปี สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2557 เริ่มกลางเดือนมิ.ย.นี้ มีเป้าหมาย 1.5 ล้านไร่ ใช้งบอุดหนุนประมาณ 500 ล้านบาท 2. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ซึ่งจะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปรายละเอียดเป็นรูปธรรมต่อไป 3. พัฒนาเศรษฐกิจชายแดน โดยจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในปลายปีนี้ 4. ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เอสเอ็มอี 5. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่อยู่อาศัย 6. ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ 7. คงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 1 ปี 8. ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร 9. ตรึงก๊าซหุงต้มครัวเรือน 22.63 บาทต่อกิโลกรัม และ10. เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 57

สำหรับโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษก คสช. อธิบายความเพิ่มเติมว่า หัวหน้าคสช. ให้พิจารณาโครงการไหนดีก็ให้เริ่มก่อน โดยเน้นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนให้การยอมรับ ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและทุกหน่วยงานไม่มีข้อขัดแย้ง พร้อมกับทำประชาพิจารณ์โครงการเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย

หากว่ากันเป็นรายโครงการ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง พ.อ.ณัฐวัฒน์ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้ไปดูข้อดีข้อเสีย ทำแล้วคุ้มหรือไม่ การใช้แหล่งเงินทุนมาจากไหน ซึ่งจะต้องไม่กระทบวินัยการคลัง การก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจจะลงทุนร่วมกับเอกชน และคาดว่าไม่น่าจะทันนำเสนอภายใน 2 สัปดาห์ แต่โครงการที่จะสานต่ออย่างแน่นอนก็คือ โครงการรถไฟทางคู่

ส่วนโครงการบริหารจัดการน้ำ คสช.จะไม่นำเอารูปแบบการบริหารการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มาใช้ทั้งหมด แต่จะหยิบมาเป็นบางส่วน เน้นโครงการที่เป็นเบี้ยหัวแตก เช่น การขุดบ่อน้ำหมู่บ้าน ถ้าทำทั่วประเทศถึง 4,000 บ่อ บ่อละ 10 ล้านบาท จะใช้เงินสูงพอสมควร ส่วนบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกรัฐบาลที่แล้วในโครงการบริหารจัดการน้ำนั้น ยังไม่ได้ดูข้อมูลว่าเป็นอย่างไร แต่หัวหน้า คสช. เน้นย้ำการบริหารจัดการน้ำที่เป็นแนวทางพระราชทานมาดำเนินการอย่างโครงการแก้มลิง การขุดลอกคูคลอง ให้กรมชลประทาน ไปดูแล พร้อมให้ทหารเข้าไปทำ เช่น โครงการขุดบ่อตามหมู่บ้านทั่วประเทศ 4 พันแห่ง ที่ผ่านมาทางหน่วยทหารก็ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเข้าไปทำจำนวนมาก ซึ่งทำให้ควบคุมได้ ราคาถูก เสร็จทันตามกรอบ โครงการไหนที่เร่งด่วนจะจัดแบ่งทหารให้เข้าไปทำซึ่งจะลดการคอร์รัปชั่น

สำหรับโครงการประชานิยมอย่างเช่น โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งใช้งบประมาณมหาศาลนั้น พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คสช. ออกตัวว่า ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีการดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอดูว่าจะทำอย่างไรให้ชาวนาได้รับการช่วยเหลือที่ดีที่สุด

ในระหว่างที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่มีอะไรสะเด็ดน้ำเป็นรูปธรรมชัดเจน ระหว่างนี้ คสช. พยายามซื้อใจประชาชนด้วยการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพไปก่อน เป็นการสร้างผลงานเป็นรูปธรรมที่ประชาชนทั่วไปจับต้องได้ในช่วงฮันนีมูน

มาตรการแก้ปัญหาค่าครองชีพนั้น พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.เปิดเผยว่า ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายเศรษฐกิจและฝ่ายสังคมจิตวิทยา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้ตรึงราคาสินค้าที่จำเป็นต่อภาวะค่าครองชีพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประจำวันของประชาชน และยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงต่อสังคมทั้งเรื่องโครงสร้างพลังงาน โครงสร้างภาษี และแนวทางการช่วยเหลือปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ส่วนจะบริหารจัดการหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรต้องรอการหารือและพิจารณาร่วมของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องการแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการดำเนินงานและโครงการต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเม็ดเงินลงทุน เม็ดเงินงบประมาณหลายแสนล้าน ด้วยการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อเป็นช่องทางตรวจสอบความถูกต้อง ความโปร่ง ใสต่อการดำเนินงานและโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

ทั้งนี้ ตามคสช. มีคำสั่งที่ 45/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน และการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นไปด้วยความรอบคอบมีความโปร่งใส และอยู่ในระเบียบวินัยการเงินและการคลัง ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สาม ส่วนคณะกรรมการ จะมาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ เช่น เลขาธิการสภาพัฒน์, อธิบดีกรมบัญชีกลาง, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ฯลฯ

ส่วนตัวแทนฝ่ายทหารที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ ประกอบด้วย เจ้ากรมจเรทหารบก, ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก, ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก , ผู้แทนฝ่ายความมั่นคงตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 22 /2557, ผู้แทนฝ่ายสังคมจิตวิทยาตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 22 /2557, ผู้แทนฝ่ายเศรษฐกิจตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 22 /2557, ผู้แทนฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 22 /2557, ผู้แทนฝ่ายกิจการพิเศษตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 22 /2557 เป็นกรรมการ, ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นเลขานุการ, ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่หนึ่ง, ผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่สอง

ตามอำนาจหน้าที่ คตร. จะติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยเน้นแผนงานหรือโครงการสำคัญซึ่งอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ และรายงานผลดำเนินการ ข้อเสนอแนะต่อหัวหน้า คสช. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป รวมทั้งเสนอแนะให้มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นคุณหรือโทษต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตามระเบียบราชการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังสามารถเข้าไปในสถานที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐหรือสถานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับมีอำนาจเชิญข้าราชการ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความพยายามเดินหน้าเมกะโปรเจกต์ที่มีปัญหาคาราคาซังมานานของ คสช.ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ได้มีข้อเสนอจากนักวิชาการ นักวิชาชีพ และประชาชนที่ติดตามตรวจสอบโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านนั้น นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนักวิชาการด้านน้ำ และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.)เตรียมยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้า คสช.เพื่อให้ คสช.มีคำสั่งยกเลิกโครงการลงทุนตามแผนบริหารจัดการโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และให้ยุบสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.)

นายปราโมทย์ กล่าวว่า โครงการลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่มีการตั้งขึ้นมาโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายและไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน เกือบทั้งหมดเป็นโครงการที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) จัดวางกันเอง โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากนักวิชาการ และไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

“ผมกับคุณสมิทธ ธรรมสโรช และอีกหลายคนรวมทั้ง วสท. เห็นว่า ควรจะโละทั้งหมดทิ้งไปก่อนแล้วมาดูกันใหม่ว่าควรมีโครงการใดบ้างที่ต้องลงทุน ที่ผ่านมาบางโครงการขนาดใหญ่ในโมดูล เอ 5 เช่น ฟลัดเวย์ ผลการศึกษายังไม่เรียบร้อย ประชาชนไม่เอาด้วย แต่ กบอ.จะสร้างซะอย่าง จึงควรที่จะมีการคุยกันอย่างเป็นระบบ” นายปราโมทย์ กล่าว

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปรีดเทรนนั้น นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตส.ว.สรรหา ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ถ้าคสช.จะฟื้น 'รถไฟด่วนความเร็วสูง' จากโครงการ 2 ล้านล้านที่ตกไปก็ไม่ว่ากัน เพราะที่ผ่านมาผมไม่เคยคัดค้านตัวโครงการ แม้จะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เนื่องจากต้องการให้การคัดค้านโฟกัสอยู่ที่ประเด็นหลักที่สำคัญที่สุดคือวิธีการใช้เงินกู้นอกงบประมาณโดยการออกกฎหมายพิเศษ ซึ่งก็เป็นจุดยืนเดิมที่คัดค้านมาตั้งแต่โครงการไทยเข้มแข็งแล้ว

“แต่ถ้าจะเป็น 'รถไฟด่วนความเร็วสูง' ขอให้อยู่ใน 3 เงื่อนไขเรียงลำดับจากง่ายไปยาก ดังนี้1. ให้โครงการอยู่ในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปรกติ และให้คำนึงถึงวิธีการอื่นนอกเหนือไปจากลงทุนเองทั้งหมดด้วย 2. ทำเฉพาะสายกรุงเทพ-หนองคาย เพื่อเชื่อมโยงต่อไปยังลาวและจีน อันจะเป็นการประสานกับจีนที่จะลงทุนสร้างในลาว 3. ออกกฎหมายเก็บภาษีลาภลอย หรือ Windfall (Profit) Tax เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมให้สังคม .... ส่วนรถไฟทางคู่นั้นแทบทุกคนเห็นด้วยอยู่แล้ว”

โครงการลงทุนขนาดเล็กขนาดใหญ่และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ คสช.กำลังผลักดันอัดฉีดเต็มแม็กในเวลานี้ เป็นเรื่องของผลประโยชน์มีคนได้คนเสียทั้งนั้น ก็ต้องรอดูว่า คสช.จะกล้าดึงอ้อยออกจากปากช้างและเดินหน้าประสานประโยชน์ทุกฝ่ายได้ลงตัวหรือไม่

แต่ที่สำคัญ โครงการที่จะเดินหน้าอย่างรถไฟทางคู่ หรือโครงการลงทุนอื่นๆ ที่จะตามมาหลังจากนี้ มีคำถามว่า คสช. จะเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสผ่านช่องทางไหน เพราะคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐฯ ที่จัดตั้งขึ้นมาก็มีแต่ข้าราชการและตัวแทนจากฝ่ายทหารเท่านั้น ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 ที่ให้สิทธิแก่ชุมชนในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต ก็ถูกโละทิ้งไปแล้ว

คงต้องขอร้อง คสช. อย่าให้ประชาชนต้องตกอยู่ในชะตากรรม "หนีเสือปะจระเข้"


การปฏิรูปรถไฟและโครงการรับจำนำข้าวที่ขณะนี้ คสช.ยังไม่ได้ตัดสินใจชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร

กำลังโหลดความคิดเห็น